หลายครั้งที่หนังไทยฟอร์มใหญ่มักจะวนเวียนกับพล็อตแนวเดิมๆ นำไปสู่วิกฤติศรัทธาที่สะท้อนออกมาในรูปแบบของกระแสวิจารณ์บนออนไลน์ และยอดการตีตั๋วเข้าไปดูหนังในโรงที่น้อยนิดอย่างน่าใจหาย จนนึกไม่ออกว่าจะหาจุดคุ้มทุนมาจากไหน (เรื่องกำไรคงไม่ต้องพูดถึง) แม้จะมีหนังไทยนอกกระแสหรือหนังไทยสายรางวัลที่มีพล็อตดีๆ แต่ก็ยากในการเข้าถึง และไม่เพียงพอที่จะทำให้วงการภาพยนตร์ไทยรอดพ้นจากการถูกตราหน้าว่าวนเวียนกับแนวเดิมๆ ไปได้
เมื่อกระแสวิจารณ์หนักหน่วงถึงจุดหนึ่ง ก็มักจะมีหนังไทยฟอร์มใหญ่ที่มีศักยภาพมากพอ เข้ามากอบกู้ให้วงการภาพยนตร์ไทยคึกคัก และทำให้แฟนๆ หนังไทยได้มีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่ง Faces of Anne ที่กำกับโดย คงเดช จาตุรันต์รัศมี และ ราสิเกติ์ สุขกาล ก็คือหนังไทยฟอร์มใหญ่เรื่องล่าสุด ที่มีหน้าหนังและองค์ประกอบพร้อมในการเป็นเดอะแบกให้วงการภาพยนตร์ไทยในปีนี้
...
ใครที่ได้ดูตัวอย่าง อาจมองว่า Faces of Anne หรือ แอน ถูกวางเป็นหนังแนวระทึกขวัญผสมกับจิตวิทยา แต่แท้ที่จริงมันมีอะไรมากกว่านั้น คำแนะนำเพียงหนึ่งเดียวของผู้ที่ตั้งใจจะไปดูหนังเรื่องนี้คือ ยิ่งรู้น้อยมากเท่าไหร่ยิ่งดี เพื่อประสบการณ์การรับชมที่ดีที่สุด เป็นเสน่ห์ที่น้อยครั้งจะมีหนังไทยที่ทำได้แบบนี้
หนังมีความเป็นลูกผสมขององค์ประกอบที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกมากมาย เด่นๆ เลยก็เช่น Squid Game ในส่วนของการเครื่องแต่งกาย (ชุดที่เหมือนชุดคนไข้สีเหลือง) และสถานการณ์ที่แอนทุกคนถูกจับมาอยู่ในที่เดียวกัน ชวนลุ้นไปกับการไล่ล่าและหลบหนีในแบบหนังแนว Slasher ที่เบื้องลึกเบื้องหลังของมันกลับมีเสน่ห์ลึกลับในแบบหนังของ Jordan Peele (ผู้กำกับและเขียนบท Get Out, Us, Nope) ที่จะดูเอาสนุกก็ได้หรือจะนำบางฉากหรือสัญญะต่างๆ ในเรื่องมาถกเถียงหรือตีความ ต่อยอดเป็นอาหารสมองหลังดูจบแล้วก็ดี
แม้หน้าหนังและพล็อตจะดึงดูดแค่ไหน แต่ท่วงท่าลีลาของที่นำเสนอกลับไม่ได้ทำให้รู้สึกแบบนั้น ไม่ใช่หนังที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ชวนตื่นเต้นและลุ้นระทึกที่ตรึงคนดูได้อยู่หมัดตั้งแต่แรก แต่กลับเต็มไปด้วยสถานการณ์ที่มีเครื่องหมายคำถามโยนเข้าใส่คนดูอย่างต่อเนื่อง กว่าจะปล่อยจิ๊กซอว์ที่สำคัญเพื่อให้คนดูจับต้นชนปลายว่ากำลังเจออะไร จุดหมายคือที่ใด ก็ใช้เวลามากพอควร เป็นหนังเครื่องร้อนช้า แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้การติดตามเรื่องราวมีปัญหามากนัก
มองอีกมุมก็อาจเป็นความตั้งใจของผู้กำกับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี และ ราสิเกติ์ สุขกาล ที่ต้องการให้คนดูได้รู้สึกในแบบที่ "แอน" รู้สึก และร่วมคิดหาคำตอบไปกับแอนว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ที่ชอบเป็นพิเศษคือการพาเรื่องราวเข้าสู่ “วังวน” (Loop) กับการสถานการณ์ที่เป็นเหมือนการเริ่มต้นใหม่ ที่ทำให้สายตาที่เรามองแอนในเรื่องต้องเปลี่ยนไป
...
การนำเพลงระดับตำนาน "เป็นไปไม่ได้" ของ The Impossibles มาปรับโทนใหม่ให้น่ากลัวและใช้ในทุกช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน ก็ช่วยเพิ่มความลึกและกดดันให้สถานการณ์ในแบบดิอิมพอสซิเบิลได้ดี น่าเสียดายว่าการดำเนินเรื่องแบบวังวนนั้นถูกใช้เพียงช่วงหนึ่ง ไม่ได้ครบถ้วนเชื่อมต่ออย่างบริบูรณ์ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้สมองคนดูได้ “วนเวียน” กับการตั้งคำถามที่ว่าใครคือแอน แอนคือใคร? ได้สำเร็จ
ด้วยพล็อตและความไม่ง่ายของหนัง ก็ทำให้เข้าใจได้ว่าทำไม Faces of Anne จึงเต็มไปด้วยนักแสดงหญิงวัยรุ่นมากมายที่รับบทเป็นแอน มันตอบเหตุผลและประโยชน์ทางด้านการตลาด ทำให้หนังดูแมสและดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมาย (วัยรุ่น) ตีตั๋วเข้ามาดูหนังเรื่องนี้กันเยอะๆ
แต่เหตุผลต่อตัวหนัง อาจกลายเป็นการสร้างปัญหาให้หนังอย่างไม่ตั้งใจ เพราะการที่มีนักแสดงเป็นแอนจำนวนมากแต่มีเวลาให้แต่ละคนน้อยนิดนั้น มันทำให้เราไม่สามารถมีภาพของ "แอน" ที่แท้จริง เพื่อให้เข้าใจ เห็นใจ เสียใจ หรือเอาใจช่วยแอน หรือกล่าวอย่างง่ายที่สุดก็คือ หนังไม่สามารถทำให้เราอินไปกับเรื่องที่แอนต้องเผชิญ ลงท้าย Faces of Anne จึงให้ได้แค่ความสนุกจากวิธีการนำเสนอและจากการตีความต่อยอดของแต่ของคนดูแต่ละคน
...
อาจกล่าวได้ว่า Faces of Anne เข้าข่าย "หนังแมสที่ดูยาก" ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าไม่ใช่คนดูทุกคนที่จะชอบหนัง เพราะหนังไม่ได้เร่งเร้าความตื่นเต้นอยู่ตลอด ในแบบที่หนังแมสทั่วไปที่ใครๆ ก็บอกว่าสนุกพึงมี แถมยังเรียกร้องความสนใจในการติดตามและตีความอยู่พอสมควร แต่หนังก็ไม่ได้ใจร้ายกับคนดูที่ไม่ชอบอะไรค้างคา เพราะก็ช่วยเคลียร์เส้นเรื่องที่สำคัญให้ตามสมควร ส่วนใครจะไปต่อจุดเชื่อมโยงสถานการณ์เข้ากับตนเอง สังคม การเมือง ฯลฯ ก็คงเป็นส่วนเสริมที่หนังไทยแบบแมสๆ น้อยเรื่องจะมีให้
ชา ตีตั๋วชนโรง
Twitter @Chamanz13