การแข่งดริฟต์รถ หรือการขับขี่รถยนต์ในทางโค้งที่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงเกมแข่งรถแกรนทัวริสโม (Gran Turismo) จัดเป็นหนึ่งในความนิยมของคนทั่วโลกที่ชอบในเรื่องความเร็ว ล่าสุด เท็น ชิโมยามะ ผู้กำกับชาวญี่ปุ่น ได้นำเรื่องของการแข่งประลองความเร็วมาเสิร์ฟบนจอภาพยนตร์ กับผลงานใหม่ “อะไลฟ์ ดริฟต์” (Alive Drift) หรือ “ดริฟต์ติ้ง ซิ่งทะลุไมล์” ที่จะมอบประสบ การณ์ใกล้เคียงสมจริงให้กับผู้ชมที่เข้าไปชมในโรงภาพยนตร์ในโอกาสที่หนังเข้าฉายในไทย วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ประเทศไทย ไม่พลาดชวน “ไทยรัฐ” ไปสนทนากับผู้กำกับ เท็น ชิโมยามะ ที่บินข้ามฟ้าจากญี่ปุ่นมานั่งคุยถึงการทำหนังเรื่องนี้ ซึ่งผู้กำกับวัยอาวุโสเล่าอย่างอารมณ์ดีถึงเหตุผลที่เลือกเรื่องของความเร็วรถแข่ง และเกมในโลกสมมติมาผสานรวมให้เป็นหนังเรื่องนี้ว่า
“จริงๆโดยส่วนตัว ผมเป็นคนที่ชอบเรื่องของเกม เรื่องของรถตั้งแต่เด็กๆแล้ว แต่ระยะหลังมานี้เทคโนโลยีก็พัฒนามากขึ้น มันก็มีเรื่องของอีสปอร์ตเข้ามา แล้วก็มีตัวของการแข่งขันดริฟต์เข้ามาด้วย คือเมื่อก่อนมันก็จะแยกกันอยู่ระหว่างสิ่งที่เป็นเวอร์ชวลที่เป็นเกมกับการแข่งดริฟต์จริงๆ แต่ตอนหลัง 2 อย่างนี้ก็เข้ามาผสานรวมกันมากขึ้น ผมอยากจะเอามาถ่ายทอด มาสร้างเป็นความบันเทิงรูปแบบใหม่ แล้วคิดว่าผู้ชมที่เป็นคนเอเชียก็น่าจะชอบด้วย”
...
เท็น ชิโมยามะ เผยว่า “อะไลฟ์ ดริฟต์” มีการเขียนบทที่ต่างจากหนังทั่วๆไป ทีมที่เขียนบทด้วยกันจริงๆจะมีทั้งหมด 5 คน บางคนก็ไม่ได้ปรากฏในเครดิต และเจ้าตัวเองก็ร่วมเขียนบทด้วย เขาเล่าว่า
“พอเขียนออกมาร่างแรกก็จะเอาไปให้นักกีฬาอีสปอร์ตจริงๆ คนที่เป็นเกมเมอร์อีสปอร์ตจริงๆ คนที่เป็นนักแข่งดริฟต์จริงๆ ช่วยอ่านและคอมเมนต์ แล้วก็เอามาปรับอีก ระหว่างนั้นก็นำไปเทสต์เรื่องของมุมกล้อง การใช้กล้องต่างๆ พอดูว่ามีข้อจำกัดตรงไหนก็มาปรับตรงนั้นอีก มันก็เลยมีฉากที่ออกมานอกเหนือจากในตัวบท คือหนังเรื่องนี้มันอาจมีความเป็นฟิกชัน (เรื่องที่แต่งขึ้น) แต่ผมทำให้มันใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด บางทีมันอาจหนักไปทางแนวสารคดีด้วยซ้ำไป”
มีฉากไหนที่ข้ามผ่านได้ยากบ้าง? เขานิ่งคิดนิดหนึ่งก่อนตอบว่า
“ฉากที่ยากที่สุดและประทับใจที่สุดก็คือฉากไคลแม็กซ์ของหนังนะ คือฉากแข่งในตอนกลางคืน ในความเป็นจริงนักแข่งปกติเขาก็ไม่มีการแข่งกลางคืนขนาดนั้น ก็เลยมีเงื่อนไขเรื่องของสถานที่ด้วย ต้องสร้างสถานที่ขึ้นมาเป็นพิเศษ แล้วตัวนักแข่งก็ต้องระวังด้วยเพราะมันเป็นกลางคืน ก็จะมีจุดอับที่มองไม่เห็น การจัดแสงต่างๆก็ต้องปรับกันเยอะมาก ตอนที่ถ่ายทำจริงๆก็มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นนิดหน่อย แต่เงื่อนไขคือมันก็ต้องถ่ายทำในคืนนั้นให้เสร็จ ผมก็พยายามถ่ายและซ่อมอะไรต่างๆ คนในทีมก็ช่วยกันเยอะมาก ก็เลยเป็นฉากที่ยากมากและประทับใจมากด้วย”
แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เท็น ชิโมยามะ ตัดสินใจไม่ใช้คอมพิวเตอร์ กราฟิกหรือซีจี ทั้งๆที่ญี่ปุ่นก็นับเป็นเจ้าเทคโนโลยีของโลก เขาอธิบายให้ฟังว่า
“ผมกำกับหนังมา 14 เรื่อง และนี่คือเรื่องที่ 14 แล้ว ซึ่งจากจำนวนหนังที่ผมทำมา ครึ่งหนึ่งเนี่ยมีการใช้ซีจีนะ พอทำมาถึงสักพักหนึ่งผมเห็นว่าสภาพแวดล้อมของคนดูหนังในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน ดูจากไอโฟนบ้าง สตรีมมิงบ้าง คอมพิวเตอร์บ้าง คือไม่ได้ไปดู ในโรงหนังแล้ว ผมเลยรู้สึกอยากจะทำหนังให้คนกลับเข้าไปดูในโรงหนังจริงๆ ก็เลยไม่อยากจะใช้ซีจี เพื่ออยากให้ทุกคนก็เข้าไปสัมผัสความตื่นเต้น สัมผัสเสียงในโรงหนัง สัมผัสความเรียล แล้วเรื่องนี้ใช้ของจริงทั้งหมดเลยทั้งตัวนักแข่ง รถยนต์ เครื่องยนต์ต่างๆ และเรื่องความเร็วก็เป็นความเร็วจริงๆนะครับ”
เล่าถึงตรงนี้ เราเลยถามกลับไปอีกว่า มีประโยคหนึ่งที่บอกว่าหนังเรื่องนี้คือ “การก้าวข้ามขีดจำกัดที่มี” คล้ายเป็นแก่นที่หนังอยากสื่อถึงแก่ผู้ชม ซึ่งในฐานะที่เป็นคนทำหนังรุ่นเก่าและอยู่ในโลกยุคใหม่ เด็กรุ่นใหม่ การทำงานอาจต้องเชื่อมทุกอย่างเพื่อที่จะสื่อสารและส่งถึงคนรุ่นใหม่ เขามีมุมมองอย่างไร เจ้าตัวตอบกลับมาว่า
“ผมเองก็ทำหนังมานานนะ รวมๆแล้วก็ประมาณ 30 ปี ส่วนที่กำกับหนังจริงๆก็น่าจะประมาณ 20 ปี ผมว่าทุกคนที่ทำหนังจะต้องเจอจุดที่มีลิมิตมีขีดจำกัดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ ตารางทำงาน แล้วก็มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ซีจีมันมาช่วยตอบโจทย์ มาช่วยแก้ไขเรื่องเหล่านี้ได้ แต่พอทำไปสักพัก ผมก็มองเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ดูหนังจากสมาร์ทโฟน เหมือนอยู่กับสิ่งที่เป็นเวอร์ชวลมากขึ้น ก็ทำให้ผมรู้สึกเป็นกังวลว่ามันใช่เหรอ ทุกอย่างมันคือเวอร์ชวล ได้เหรอเพราะว่าในความเป็นจริงแล้ว มันยังมีสิ่งที่มนุษย์ทำได้เองจริงๆ โดยที่ไม่ต้องเวอร์ชวลมากขนาดนั้นก็ได้ ผมก็เลยอยากจะดึงสิ่งที่มันเป็นความอนาล็อก ความเรียล กลับมาแล้วก็ส่งต่อให้กับผู้ที่จะมาชมภาพยนตร์ แล้วก็ส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อๆไป นี่คือข้อความที่ผมต้องการจะสื่อเลยนะ”
...
และนี่เป็นผลงานที่ เท็น ชิโมยามะ ภูมิใจเสนอมุมมองน่าคิดผ่านความเร็วในทั้งโลกสมมติและโลกแห่งความจริง.