รอมาตลอด 36 ปีกับภาคต่อของภาพยนตร์ที่สร้างแรงบันดาลใจ และความคลั่งไคล้ให้กับคนรักเครื่องบินรบ TOPGUN : MAVERICK เมื่อยอดนักบินทดสอบมาเป็นครูฝึก กับปมในใจเมื่อเจอลูกชายของเพื่อนรักผู้จากไป

หากพูดถึงภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินรบในยุค 80-90 มาสัก 1 เรื่อง ชื่อของ TOPGUN (ท็อปกัน) ต้องขึ้นมาเป็นชื่อแรกๆ และหากพูดถึงชื่อนักแสดงฮอลลีวูดอย่างทอม ครูซ แน่นอนว่าบทบาทของเขาที่คนทั่วโลกจำได้นอกจากการเป็น สายลับหน่วย IMF จากแฟรนไชส์ภาพยนตร์เรื่อง Mission Impossible อีกชื่อหนึ่งที่สะท้อนตัวของ ทอม ครูซ ได้ดี คือ มาเวอริค ชื่อนามเรียกขานของพระเอกจากเรื่องท็อปกัน ภาพยนตร์ที่สร้างชื่อเสียงให้เขา และยังทำให้ชายชาวอเมริกันในยุคนั้นแห่สมัครมาเป็นทหารเรือ โดยเฉพาะนักบินของกองทัพเรือสหรัฐฯ เพราะอยากเป็นเหมือน มาเวอริค แบบหนังนั่นเอง

คำเตือน เนื้อหาที่จะอธิบายต่อไปนี้ มีการเผยถึงเรื่องราวของภาพยนตร์ ท็อปกัน : ฟ้าเหนือฟ้า ปี 1986

ท็อปกันคืออะไร มีอยู่จริงหรือไม่

...

TOPGUN มีอยู่จริง มันมีต้นกำเนิดมาจากหลักสูตร United States Navy Strike Fighter Tactics Instructor Program ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1969 โดยกองทัพเรือสหรัฐฯ เพื่อสอนทักษะและเทคนิคการรบทางอากาศและใช้อาวุธ ให้กับนักบินขับไล่ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา เนื่องจากผลงานในสงครามเวียดนาม กองทัพเรือสหรัฐฯ สูญเสียนักบินและเครื่องบินไปให้กับกองทัพอากาศเวียดนามเหนือ ในช่วงหลังจากเริ่มปฏิบัติการโรลลิ่ง ธันเดอร์ เนื่องจากหลักนิยมการรบที่เปลี่ยนไปในช่วงต้นทศวรรษที่ 60 ที่เครื่องบินรบสหรัฐฯ ยุคใหม่ไม่ติดปืนกล แต่เน้นการใช้ระบบอาวุธใหม่อย่างอาวุธปล่อยนำวิถี ในการต่อสู้กลางอากาศ ในสงครามเวียดนาม กองทัพเรือสหรัฐฯ ใช้เครื่องบินขับไล่อย่าง เอฟ-8 อี ครูเซเดอร์ ในการรบช่วงแรก ทำผลงานเป็นที่น่าพอใจ แต่เมื่อเปลี่ยนเครื่องบินรบหลักมาเป็นเอฟ-4 บี/เจ แฟนทอมทู แล้ว พบว่าการที่เครื่องบินขับไล่ไม่มีปืนติดเครื่อง ทำให้ต้องรบด้วยมิสไซล์อย่างเดียว กลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อต้องสู้รบในระยะประชิด หรือด็อกไฟต์ โดยเฉพาะเมื่อโดนเครื่องมิกบินประกบตามจี้ท้าย

หลักสูตรท็อปกันจึงถูกตั้งขึ้นมาชื่อว่า United States Navy Fighter Weapons School โดยมีฐานบินอยู่ที่สถานีทหารเรือมิรามาร์ (Naval Air Station Miramar) ทางตอนเหนือของเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยนำเครื่องบินไอพ่นที่มีใช้ในเวลานั้นอย่าง เอ-4 สกายฮอว์ก และ ขอยืมที-38 ทาลอนจากกองทัพอากาศมารับบทเป็นข้าศึกสมมติอย่าง มิก-17 เฟรสโก้ และ มิก-21 ฟิดเบด เครื่องบินขับไล่ความเร็วต่ำกว่าเสียง และเร็วเหนือเสียงที่ กองทัพอากาศเวียดนามเหนือใช้ โดยนักบินที่จะมาเข้าหลักสูตรนี้ คือ นักบินรบที่อยู่ในแนวหน้าในสงคราม โดยผลจากการพัฒนาหลักสูตรนี้ ช่วยให้อัตราการยิงเครื่องบินมิกเวียดนามเหนือของ ทร.สหรัฐฯ จากที่ 2.42:1 มาเป็น 12.5:1 และนักบินรุ่นแรกที่จบออกไป ก็สามารถยิงเครื่องบินมิกเวียดนามเหนือตกได้ในปี 1968

เรื่องควรรู้ : ดุก มิตเชลล์ พ่อของ พีท มิตเชลล์ หรือ มาเวอริค เป็นนักบินเครื่องบินขับไล่ เอฟ-8 ครูเซเดอร์ ฝูงบิน VF-51 ประจำเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส ออริสคานีย์ ในสงครามเวียดนามและเสียชีวิตในการรบ เขาเป็นเพื่อนร่วมรบกับไวเปอร์ หัวหน้าครูฝึกของท็อปกันครูฝึกของมาเวอริค

...

ท็อปกัน ฟ้าเหนือฟ้า ปฐมบทนักบินขับไล่สุดฮอต บ้ามุทะลุ

เรื่องเริ่มต้นที่มหาสมุทรอินเดีย บนเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ ยูเอสเอสเอ็นเทอร์ไพรซ์ (CVN65) เครื่องบินเอฟ-14 ทอมแคท 2 ลำที่มี ร.อ.พีท มิตเชลล์ หรือ มาเวอริค และ ร.ท.นิค แบรนด์ชอว์ หรือ กูส บิน ไปกับเพื่อนอีกลำคือ คูการ์ และเมอร์ลิน (ที่นั่งที่ 1 เป็นนักบิน ส่วนที่นั่งหลักคือ นายทหารเจ้าหน้าที่เรดาร์) เข้าสกัดกั้นมิก 28 มาเวอริค สามารถล็อกเป้ามิก-28 และตีลังกาประกบพร้อมถ่ายรูปนักบินข้าศึกได้ ทำให้ข้าศึกหนีไป แต่เครื่องบินข้าศึกอีกลำบินตามประกบท้ายคูการ์พร้อมล็อกเป้าเตรียมยิง ทำให้มาเวอริคและกูสต้องรีบไปช่วยเพื่อน จนข้าศึกล่าถอยไปได้ แต่คูการ์เกิดแพนิกขึ้นมา เพราะมองรูปลูกเมีย กลัวว่าจะตายไม่ได้กลับไป ทำให้ไม่กล้านำเครื่องลงจอด ในขณะที่น้ำมันใกล้จะหมด มาเวอริคที่ได้สัญญาณให้ลงจอด รู้ว่าคูการ์มีปัญหา จึงตัดสินใจยกเลิกการลงจอด แล้วบินไปประกบคูการ์ที่กำลังแพนิกให้ใจเย็นลงก่อนนำเครื่องลงจอดได้ปลอดภัย

...

อย่างไรก็ตาม มาเวอริคและกูส ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่ไม่นำเครื่องลงจอด ทำให้ผู้บังคับการเรือส่งมาเวอริคและกูสไปมิรามาร์ เพื่อฝึกหลักสูตรท็อปกัน แทนที่ คูการ์ซึ่งเดิมเป็นมือ 1 จะต้องได้ไป มาเวอริคและกูส เดินทางถึงมิรามาร์ ที่นั่นเขาพบกับนักบินจากฝูงบินอื่นๆ และพบกับคู่ปรับตัวจริง ไอซ์แมน หรือ ร.อ.ทอม คาแซนสกี้ ที่ต้องมาแข่งขันกันเพื่อให้เป็นที่ 1 แต่ในระหว่างการฝึกเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เครื่องบินของมาเวอริคและกูส เข้าไปอยู่ในกระแสลมหมุนท้ายเครื่องเครื่องบินของไอซ์แมน ทำให้เครื่องยนต์ขัดข้องดับทั้ง 2 เครื่อง ส่งผลให้เอฟ-14 ทอมแคทของมาเวอริค เกิดอาการ แฟลตสปิน หรือ ร่วงหล่นหมุนควงไร้แรงยก ทั้งคู่ดีดตัวออกมา แต่กูสเสียชีวิตจากการที่เก้าอี้ดีดตัวกระแทกกับประทุนฝาครอบห้องนักบินจนคอหัก

...

เหตุครั้งนั้นมาเวอริครู้สึกผิด จากคนที่เคยบ้ามุทะลุ กลับหมดใจจะฝึกต่อ แต่ก็ถูกเข็นโดยครูฝึกจนผ่านหลักสูตร ต่อมาเมื่อจบหลักสูตร ไอซ์แมน ชนะเป็นที่ 1 และทั้งคู่ถูกเรียกกลับไปบนเรือบรรทุกเครื่องบินเอ็นเทอร์ไพรส์ เพื่อรับมือสถานการณ์ เรือดำน้ำขาดการติดต่อ ในเขตน่านน้ำข้าศึก โดยมาเวอริค กลับมาจับคู่กับเมอร์ลิน นายทหารระบบเรดาร์ของคูการ์เพื่อนเก่า เป็นหน่วยสนับสนุนให้กับไอซ์แมนและฮอลลีวูด แต่ด้วยเครื่องบินข้าศึกที่มีมากกว่า 6 ต่อ 2 ทำให้วูลฟ์แมนถูกยิงตก ไอซ์แมนตกที่นั่งลำบาก มาเวอริคซึ่งถูกเตรียมพร้อมอยู่ที่เครื่องดีดส่งเครื่องบินจึงต้องขึ้นไปช่วย ก่อนจะยิงเครื่องบินข้าศึกตก 3 ลำ กลายเป็นฮีโร่ของทีม ช่วยไอซ์แมนให้รอดตาย กลับมายิงข้าศึกได้ 1 ลำ ก่อนที่ฝูงบินมิก-28 จะล่าถอย และทั้งคู่กลับมาได้อย่างปลอดภัย ในตอนจบมาเวอริคตัดสินใจจะไปเป็นครูฝึกที่โรงเรียนท็อปกัน

อาการแฟลตสปิน เกิดขึ้นได้กับเครื่องบินเอฟ-14 ทอมแคทเนื่องจาก สภาวะร่วงหล่นหมุนควงไร้แรงยก ยามที่เครื่องยนต์ขัดข้อง เนื่องจากการออกแบบที่แยกเครื่องยนต์ 2 ตัวห่างจากกัน และเอฟ-14 มีจุดอ่อนในเรื่องเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน แพรตแอนด์วิทนีย์ TF-30 ที่ใช้กับเอฟ-14 เอ มีความน่าเชื่อถือต่ำ เกิดอุบัติเหตุบ่อย

เอฟ-14 ทอมแคท ของมาเวอริค มีหมายเลข 114 เป็นเครื่องบินรุ่น เอ โดยในตอนเปิดเรื่องมาเวอริคใช้ในการถ่ายทำ ส่วนไอซ์แมน ใช้เครื่องหมาเลข 104 กองถ่ายได้ขอให้บริษัทกรัมแมน ผู้ผลิตเอฟ-14 ทำกระเปาะติดกล้องภาพยนตร์พิเศษเพื่อให้ได้มุมภาพสมจริงจากเครื่องบิน ทั้งบนลำตัว หลังที่นั่งนักบิน ใต้ลำตัว 

ฝูงบินเอฟ-14 ที่ใช้ในการถ่ายทำเรื่องนี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ เลือกฝูงบิน VF-51 Screaming Eagles และ VF-111 Sundowners มีฐานบินที่สถานีทหารเรือมิรามาร์ ใช้บินถ่ายทำภาพยนต์ท็อปกันตลอดทั้งเรื่อง ขณะที่ ในเรื่องมาเวอริค สังกัดฝูงบิน VF-1 ส่วนไอซ์แมน สังกัดฝูง VF-213 ที่ถูกสมมุติขึ้นมา 

36 ปีต่อมา นักบินคนเดียวที่ยิงเครื่องบินข้าศึกตก 3 ลำ ยังคงบินอยู่

ท็อปกัน : มาเวอริค (TOPGUN : MAVERICK) ภาคต่อในเรื่องราว 36 กว่าปีต่อมา นาวาอากาศเอกพีท มิตเชลล์ กลายเป็นสุดยอดนักบินทดสอบ ที่บินเครื่องบินลับสุดยอดอย่าง เอสอาร์-72 ดาร์กสตาร์ ก็ถูกเรียกตัวกลับมายังท็อปกันอีกครั้ง โดยนายพลเรือ 4 ดาวที่คุมกองเรือแปซิฟิก ทอม "ไอซ์แมน" คาแซนสกี้ อดีตนักบินคู่ปรับและเป็นวิงก์แมนของเขาในภาคแรก (รับบทโดยวัล คิมเมอร์ คนเดิม)  เพื่อฝึกนักบินรุ่นใหม่โดยที่ 1 ในนั้นคือ แบรดลีย์ แบรดชอว์ หรือ รูสเตอร์ ลูกชายของกูส นิค แบรดชอว์ เพื่อนรักในอดีตผู้จากไปด้วย

จากตัวอย่างภาพยนตร์ มาเวอริคต้องมาฝึกฝนหลักสูตรพิเศษให้กับนักบินมือพระกาฬที่ถูกเลือกมาจากฝูงบินต่างๆ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ โดยทุกคนเป็นนักบินของเครื่องบินขับไล่โจมตี เอฟ/เอ-18 อี/เอฟ ซุปเปอร์ฮอร์เน็ต โดยเครื่องของมาเวอริค จะเป็นเครื่องบินรุ่นที่นั่งเดียว มีลายคาดดำฟ้าอยู่บนลำตัว พร้อมตัวอักษรท็อปกัน ที่บริเวณแท็งก์เชื้อเพลิงสำรองด้านล่าง

สำหรับบรรดาลูกศิษย์ และแฟนสาวใหญ่ในภาคนี้ ประกอบด้วย 

ร.อ.แบรดลีย์ แบรดชอว์ หรือ รูสเตอร์ นักบินขับไล่เอฟ/เอ-18 อี รับบทโดย ไมล์ส เทลเลอร์
ร.อ.เจค เซเรสซิน หรือ แฮงก์แมน นักบินขับไล่เอฟ/เอ-18 อี รับบทโดยเกลน โพเวลล์
ร.อ.นาตาชา เทรซซ์ หรือ ฟินิกซ์ นักบินเอฟ/เอ-18 เอฟ รับบทโดยโมนิก้า บาร์บาโร่
ร.อ.โรเบิร์ต ฟลอยด์ หรือ "บ็อบ" นายทหารระบบอาวุธนั่งหลังของฟินิกซ์ รับบทโดย ลิวอิส พูลแมน
ร.อ.รูเบน ฟิทช์ หรือ "เพย์แบ็ก" นักบินเอฟ/เอ-18 เอฟ รับบทโดย เจย์ อีลิส
ร.อ.มิกกี้ การ์เซีย หรือ "แฟนบอย" นายทหารระบบอาวุธนั่งหลังของเพย์แบ็ก รับบทโดย แดนนี่ รามิเรส

นอกจากนี้ยังมีรักใหม่ของมาเวอริค เพนเนโลเป้ "เพนนี่" เบนจามิน ลูกสาวนายพลเรือในภาคแรกถูกกล่าวถึงว่าเคยกิ๊กกับมาเวอริค กลับมาคบกันอีกครั้งในฐานะแม่ลูกหนึ่งเจ้าของบาร์ รับบทโดย เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี

เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับการสู้รบครั้งสุดท้ายของมาเวอริค 

เกิดสถานการณ์ตึงเครียดในพื้นที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่เทือกเขาสูงเดาว่าเป็นรัสเซีย หรือประเทศสมมติว่าอยู่ใกล้รัสเซีย มีความจำเป็นที่จะต้องทำลายอาคารและสนามบิน (ตามตัวอย่างที่ออกมา) โดยจะต้องบินทิ้งระเบิดเป้าหมายที่มีการป้องกันทางอากาศด้วยจรวดแซมต่อต้านอากาศยานอย่างหนาแน่น มาเวอริค จะต้องฝึกลูกทีมในการบินต่ำเรียดพื้น ลัดเลาะภูมิประเทศ เพื่อหลบหลีกเครือข่ายเรดาร์ตรวจจับ และเมื่อถึงที่หมาย นักบินจะต้องดึงเครื่องขึ้นสูงพ้นยอดเขาเพื่อปลดระเบิด โดยท่าการบินนี้เป็นท่าที่ดึงแรงจีสูงมาก บินพุ่งขึ้นตรงแล้วตีลังกากลับหัวลงภูเขา

โดยอาวุธหลักของการโจมตีครั้งนี้ ใช้ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ GBU-24 เพฟเวย์ 3 เพื่อความแม่นยำ ขณะที่ เมื่อทิ้งระเบิดเรดาร์ข้าศึกจะจับได้ และจะยิงจรวดแซมออกมาทันที (ตามตัวอย่างเกิดการสูญเสียเครื่องบินลูกฝูงจากจรวดแซม) รวมทั้งยังมีเครื่องบินข้าศึกที่ปฏิบัติการในพื้นที่อย่าง ซู-57 เฟลอน (SU-57 Felon) เครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 ที่มีคุณลักษณะสเตลธ์ของรัสเซีย มีที่นั่งเดียว 2 เครื่องยนต์สามารถปรับทิศทางท่อแรงขับได้ (ตามตัวอย่างมีซู-57 ปรากฏ) โดยคาดว่าน่าจะเป็นคู่ปรับที่สมน้ำสมเนื้อของมาเวอริคเลยทีเดียว

ท็อปกัน : มาเวอริค ต้องไปดูไหม 

สำหรับตัวผู้เขียนนี่คือโอกาสที่เฝ้ารอคอยมาตลอด 36 ปีที่จะได้ดูภาคต่อของภาพยนตร์ที่สร้างแรงบันดาลใจ ความหลงใหล ความคลั่งไคล้เครื่องบินรบ เพราะคุณจะไม่สามารถเห็นเครื่องบิน เอฟ-14 ทอมแคทลำจริงๆ ได้ หากไม่ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา มันเป็นความพิศวงของชีวิตที่จะได้หาทางออกจากความหลงใหลนี้ได้แบบตายตาหลับว่า มาเวอริค จะเป็นอย่างไร

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์พัฒนา คอมพิวเตอร์กราฟิกและโปรดักชันต่างๆ ที่เคยเป็นข้อจำกัดในภาคแรก ภาคนี้จะมีอะไรตื่นตาตื่นใจบ้าง และจากเบื้องหลังการถ่ายทำ นักแสดงทุกคนได้บินกับ เอฟ/เอ-18 ซุปเปอร์ฮอร์เน็ตลำจริงๆ เพื่อถ่ายทำฉากบนเครื่องบิน ทำให้อยากรู้ว่าฉากการรบทางอากาศที่ไม่มีหนังเรื่องใด โค่นเรื่องท็อปกันลงได้ ในภาคนี้จะต่อยอดไปได้แค่ไหน แม้นักบินจริงๆ บอกว่าฉากการบินแบบในหนัง มันไม่ได้บินเหมือนของจริง 100% ก็ตาม 

ชวนพ่อแม่ไปดู ชวนเพื่อนๆ ไปดู ชวนแฟนไปดู คุณจะได้อิ่มเอมกับความสนุกสนานของภาพยนตร์ที่บางคนรอคอยมาทั้งชีวิต หลายๆ คนดูเรื่องนี้จบอาจจะอยากเป็นนักบิน อยากเป็นช่างซ่อมเครื่องบิน อยากมีเครื่องบินส่วนตัว หรืออยากจะมีมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ ใส่เสื้อหนังติดอาร์มนักบิน ใส่แว่นตานักบิน เหมือนอย่างที่ท็อปกันภาคแรกเคยทำมา ถ้าจะให้ดีไปดูในโรงไอแมกซ์ หรือ 4DX จะยิ่งได้อรรถรสเต็มร้อย.

ผู้เขียน จุลดิส รัตนคำแปง

ที่มาข้อมูลรูปภาพ : แฟนเพจ TOPGUN , Paramount Pictures, วิกิพีเดีย Top Gun: Maverick, วิกิพีเดีย United States Navy Strike Fighter Tactics Instructor program, TOPGUN (1986) Paramount Pictures Studios