- ถือเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับแฟนหนังของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล -ผู้กำกับที่เคยคว้ารางวัลปาล์มทอง (Palme d’Or) จาก ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) ใน Cannes Film Festival เมื่อปี 2010 มาแล้ว- ที่หนังเรื่องใหม่ล่าสุดของเขาอย่าง Memoria ถูกเลือกให้เข้าฉายในสายประกวดหลักอีกครั้ง
- หนังเล่าเรื่องราวของหญิงนักปลูกกล้วยไม้ที่เดินทางมาที่เมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เพื่อเยี่ยมญาติพี่น้องของเธอ ที่นั่น นอกจากเธอจะได้ทำความรู้จักกับผู้คนมากมายแล้ว เธอยังค้นพบว่าตัวเองได้ยิน ‘เสียงระเบิด’ แปลกประหลาดที่ดังก้องในหัวโดยไม่รู้แหล่งที่มา จนทำให้เธอนอนไม่หลับและออกเดินทางหาต้นเหตุของเสียงนั้น -- ซึ่งความน่าสนใจของ Memoria อยู่ที่มันมีความแตกต่างไปจากผลงานเรื่องเก่าๆ ของผู้กำกับในหลายด้าน
- ที่ผ่านมา หนังของอภิชาติพงศ์เป็นที่รู้จักและมีแฟนๆ ติดตามทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่ถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มคอหนังอาร์ตเฮาส์ ในขณะที่ Memoria เป็นหนังพูดภาษาอังกฤษ, มีนักแสดงนำชื่อดัง และได้ Neon มาเป็นผู้จัดจำหน่าย จึงน่าจะส่งผลให้หนังมีโอกาสเข้าถึงผู้ชมในวงกว้างได้ง่ายขึ้น
...
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา คอหนังทั่วโลกเพิ่งได้เห็นรายชื่อหนังที่จะออกฉายใน 2021 Cannes Film Festival หรือเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุด (ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 6-17 กรกฎาคมนี้) โดยอาจนับได้ว่าเป็นปีที่รายชื่อของหนังและผู้กำกับมีความโดดเด่นและน่าจะแข่งขันกันอย่างดุเดือดมากที่สุดปีหนึ่ง ซึ่งสืบเนื่องจากในปีที่แล้ว เทศกาลหนังเมืองคานส์งดจัด ในปีนี้จึงมีหนังที่ถูกส่งมาให้เทศกาลพิจารณามากกว่าปกติ
และก็ถือเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับแฟนหนังของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล -ผู้กำกับที่เคยคว้ารางวัลปาล์มทอง (Palme d’Or) จาก ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) ในเทศกาลนี้เมื่อปี 2010 มาแล้ว- ที่หนังเรื่องใหม่ล่าสุดของเขาอย่าง Memoria ถูกเลือกให้เข้าฉายในสายประกวดหลัก (Competition) อีกครั้ง ซึ่งถึงแม้จะต้องอยู่ท่ามกลางผู้เข้าแข่งขันสายแข็ง แต่หนังเรื่องนี้ก็ถูกมองว่า มีความโดดเด่น และมีโอกาสคว้ารางวัลใหญ่จากเวทีนี้เป็นครั้งที่สอง
หนังเล่าเรื่องราวของ เจสสิกา (รับบทโดย ทิลดา สวินตัน) หญิงนักปลูกกล้วยไม้จากสกอตแลนด์ ซึ่งเดินทางมาที่เมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เพื่อเยี่ยมญาติพี่น้องของเธอ ที่นั่น นอกจากเธอจะได้ทำความรู้จักกับนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสที่กำลังศึกษาร่างมนุษย์ปริศนาที่ขุดเจอบนภูเขา รวมถึงพบปะผู้คนในท้องถิ่นอีกจำนวนหนึ่งแล้ว เธอก็ยังค้นพบว่าตัวเองได้ยิน ‘เสียงระเบิด’ แปลกประหลาดที่ดังก้องในหัวโดยไม่รู้แหล่งที่มา จนทำให้เธอนอนไม่หลับและออกเดินทางหาต้นเหตุของเสียงนั้น -- ซึ่งความน่าสนใจของ Memoria อยู่ที่มันมีความแตกต่างไปจากผลงานเรื่องเก่าๆ ของผู้กำกับในหลายด้าน
...
การย้ายประเทศ (และจิตวิญญาณแห่งการเล่าเรื่อง) สู่โคลอมเบีย
หากพิจารณาจากบริษัทที่ร่วมสร้างหนังและผู้ออกทุนสร้างซึ่งมาจากหลายประเทศแล้ว สามารถกล่าวได้ว่าที่ผ่านมานั้น หนังของอภิชาติพงศ์มีลักษณะเป็น ‘หนังนานาชาติ’ แต่หากใช้เกณฑ์วัดจากตัวละครและฉากหลังของเรื่องที่ส่วนใหญ่เป็นคนไทยและอยู่ในประเทศไทย เราก็อาจเรียกได้ว่าหนังของเขาคือ ‘หนังไทย’
ดังนั้น Memoria จึงถือเป็นครั้งแรกที่หนังของเขามีฉากหลังอยู่ในต่างประเทศอย่าง โคลอมเบีย ในทวีปอเมริกาใต้ โดยมีการใช้ภาษาหลักในหนังคืออังกฤษและสเปน
อภิชาติพงศ์เคยให้สัมภาษณ์กับ Screen Daily ในปี 2018 ว่า เขาตั้งใจว่าหลังจากหนังเรื่อง ‘รักที่ขอนแก่น’ (Cemetery of Splendour, 2015) เขาจะเลิกทำหนังขนาดยาวในเมืองไทย (ในขณะที่จะยังคงทำหนังสั้นหรือหนังสารคดีในไทยอยู่) ด้วยเหตุผลเรื่องกฎหมายเซนเซอร์ภาพยนตร์ที่เข้มงวดของบ้านเรา “มันถือเป็นเรื่องซับซ้อนเกินไปสำหรับการสร้างหนังเล่าเรื่องในไทย” เขากล่าว “ถือเป็นเรื่องเสี่ยงในการพูดถึงความคิดเห็นส่วนตัวโดยมีชื่อตัวเองอยู่ในหนัง เช่น การพูดถึงเรื่องเผด็จการทหาร”
เขาจึงเลือกถ่ายทำหนังเรื่องใหม่ที่โคลอมเบียซึ่งเขาเคยมาเยือนเมื่อปี 2017 เนื่องจากรู้สึกชื่นชอบประเทศนี้เป็นพิเศษ เพราะโคลอมเบียมีภูมิทัศน์ที่เปี่ยมพลัง มีทั้งภูเขาไฟ, แผ่นดินถล่ม, แผ่นดินไหว, เหมืองถ่านหิน, อุโมงค์ต่างๆ ซึ่งเขาบอกว่าพื้นที่ทางธรรมชาติจะมีบทบาทสำคัญต่อเนื้อเรื่องเป็นอย่างมาก
ในเว็บไซต์ IndieWire ปีเดียวกัน เขายังให้สัมภาษณ์ว่า ตัวเองใช้เวลา 3 เดือนในการเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ในโคลอมเบีย (ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกให้ฉากหลังเกิดที่เมืองโบโกตาและควินดิโอ) โดยได้เข้าเยี่ยมชมเรือนจำ โรงพยาบาลจิตเวช พูดคุยกับนักจิตวิทยา รับฟังเรื่องราวของผู้คนท้องถิ่น ซึ่งเขาได้รวบรวมเรื่องราวและความทรงจำของผู้คนนำมาใส่ไว้ในบทหนัง โดยเรื่องราวดังกล่าวจะถูกบันทึกไว้ในหนังสือ Memoria ของสำนักพิมพ์ Fireflies Press ซึ่งจะวางแผงช่วงกันยายนนี้ด้วย
...
“ตอนแรกป่าแอมะซอนคือสิ่งที่ดึงดูดใจผม แต่หลังจากนั้น ผมก็เริ่มสนใจเกี่ยวกับเมืองนี้และความทรงจำของผู้คนมากขึ้น หนังเรื่องนี้ถูกพัฒนาขึ้นในตอนที่ผมใช้เวลาไปเยี่ยมเยียนเมืองต่างๆ ซึ่งในที่สุด มันก็กลายเป็นหนังที่มีความเรียบง่ายมากๆ มันเป็นเรื่องของความทรงจำของคน รวมถึงภูมิทัศน์ในโคลอมเบีย”
เขาให้สัมภาษณ์อีกครั้งในนิตยสาร La Tempestad ในช่วงระหว่างถ่ายทำเมื่อปี 2019 ว่า “เหมือนผมกำลังรับบทบาทเป็นผีที่ล่องลอย ซึ่งดูดซับการเคลื่อนไหว แสง และเสียงเอาไว้ แน่นอนว่าผมตระหนักถึงความทรงจำเชิงการเมืองในดินแดนแห่งนี้ แต่ผมก็มีความสุขที่ได้เห็นสิ่งอื่นๆ ที่เหลือด้วย หนังเรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอในฐานะของถ้อยแถลงจุดยืนทางการเมือง มันไม่ได้มีแรงกดดันให้เราต้องนำเสนอความจริงเกี่ยวกับที่แห่งนี้เพราะผมไม่ได้เข้าใจมันขนาดนั้น ดังนั้น แกนหลักของหนังเรื่องนี้ก็คือ ความไร้ราก”
และแม้จะปรับเปลี่ยนฉากหลัง แต่ประเด็นในหนังเรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องของความฝัน, ความทรงจำ และผลของธรรมชาติที่มีต่อมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยๆ ในหนังของเขา เช่น ‘รักที่ขอนแก่น’ หรือ ‘แสงศตวรรษ’ (Syndromes and a Century, 2006) ที่ประกอบสร้างขึ้นจากความทรงจำที่เขามีต่อพื้นที่นั้นๆ ในอดีต ซึ่งก็รวมถึงงานศิลปะของเขาอย่าง Fever Room (เมืองแสงหมด) หรือ SleepCinemaHotel อีกด้วย
“ภาพยนตร์เป็นเหมือนกับการที่คุณพยายามรำลึกถึงความฝันแล้วมันก็จางหายไป ในการสร้างหนัง คุณกำลังพยายามสร้างความเป็นจริงขึ้นมาใหม่ แต่มันคือการสร้างจากความทรงจำที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งตอนที่คุณถ่ายทำหนังมันจะกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ แต่มันจะเปลี่ยนเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้อีกครั้งเมื่อคุณจัดการกับการตัดต่อและเวลา มันเปลี่ยนกลับไปกลับมาแบบนี้ตลอด” เขากล่าวไว้ในงาน Masterclass ปี 2018 ที่ Qumra
...
การร่วมงานกับ ทิลดา สวินตัน (อีกครั้ง) และนักแสดงหลากสัญชาติ
ที่ผ่านมานั้น นักแสดงนำในหนังของอภิชาติพงศ์ (ไม่ว่าจะเป็นหนังสั้นหรือหนังยาว) มักเป็นนักแสดงหน้าเดิมที่รับบทบาทใกล้เคียงกัน เช่น ศักดิ์ดา แก้วบัวดี, เจนจิรา พงพัศ หรือไม่ก็เป็นนักแสดงมือสมัครเล่น (ยกเว้นแต่ ‘หัวใจทรนง’ หรือ The Adventures of Iron Pussy เมื่อปี 2003 ที่มีการใช้นักแสดงอาชีพ)
แต่สำหรับนักแสดงใน Memoria ถือเป็นมืออาชีพในระดับนานาชาติ นำโดย ทิลดา สวินตัน นักแสดงหญิงชาวอังกฤษที่แม้แฟนหนังกระแสหลักจะคุ้นเคยกับบทบาท The Ancient One ของเธอจากหนังมาร์เวล Doctor Strange (2016) แต่ในอีกด้านหนึ่ง เธอยังเป็นนักแสดงที่มักรับบทในหนังที่มีความท้าทาย เช่น Orlando (1992), I Am Love (2009), Only Lovers Left Alive (2013) และ Suspiria (2018) โดยเธอเป็นแฟนหนังของอภิชาติพงศ์มาก่อน จนได้ร่วมงานกันในฐานะผู้ร่วมจัดเทศกาลหนัง Film on the Rocks Yao Noi บนเกาะยาวน้อย จ.พังงา เมื่อปี 2012 ซึ่งต่อมาทั้งคู่ยังพยายามที่จะมีโปรเจกต์หนังร่วมกันอยู่หลายครั้ง แต่ก็เพิ่งมาสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างได้ใน Memoria นี่เอง
โดยอภิชาติพงศ์บอกว่า “ในหนังจะเต็มไปด้วยภาพที่เธอเดินไปเดินมาราวกับภูตผี ผมเขียนบทหนังเรื่องนี้โดยมีภาพของเธออยู่ในหัวและระลึกว่าเธอเป็นนักแสดงที่ไม่จำเป็นต้องไปมีคำอธิบายใดๆ ให้ -- อันที่จริง เธอเป็นฝ่ายที่ถ่ายทอดคาแรกเตอร์นี้ให้ผมเห็นด้วยซ้ำ”
นอกจากนี้ ยังมีนักแสดงฝรั่งเศสอย่าง จีนน์ บาลิบาร์ (เธอเคยเป็นกรรมการตัดสินหนังสายประกวดที่คานส์ร่วมกับอภิชาติพงศ์ในปี 2008) และนักแสดงโคลอมเบียอย่าง เอลกิน ดิแอซ, ฮวน ปาโบล อูร์เรโก รวมถึง ดาเนียล จิเมเนซ แคโค ร่วมแสดงด้วย
“การได้ทำงานร่วมกับกลุ่มนักแสดงนานาชาติถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับผมในหลายๆ ด้าน ผมต้องการท้าทายวิธีการทำหนังของผม แต่สุดท้ายก็ยังนับเป็นประสบการณ์ที่ดี เนื่องด้วยการเอาใจใส่จากพวกเขาทั้งหมด การทำงานกับพวกเขาอาจถือเป็นใจความสำคัญของหนังก็ว่าได้”
อนึ่ง นอกจากทีมนักแสดงแล้ว ทีมงานส่วนใหญ่ของหนังยังถือเป็นหน้าใหม่สำหรับอภิชาติพงศ์ ยกเว้นแค่ผู้กำกับภาพ - สยมภู มุกดีพร้อม (ซึ่งกลับมาร่วมงานกับเขาอีกครั้งหลังจาก ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’) และผู้ช่วยผู้กำกับ - สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์
แถมอภิชาติพงศ์ยังได้ Neon บริษัทจัดจำหน่ายหนังในสหรัฐอเมริกามาจัดจำหน่ายหนังเรื่องนี้ให้ด้วย ซึ่งแม้ว่าจะมีอายุการทำงานเพียง 4 ปี แต่ Neon ก็สร้างชื่อจากการจัดจำหน่ายหนังของ บงจุนโฮ อย่าง Parasite (2019) ในอเมริกามาแล้ว และจากการผลักดันด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ก็มีส่วนช่วยให้หนังเรื่องดังกล่าวกลายเป็นหนังเอเชียเรื่องแรกที่คว้ารางวัลออสการ์สาขา ‘ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม’ มาครองได้ อีกทั้งยังทำรายได้เกินคาด ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจสำหรับหนังภาษาต่างประเทศในดินแดนที่ผู้ชมไม่นิยมอ่านซับไตเติลหรือคำบรรยาย
ที่ผ่านมา หนังของอภิชาติพงศ์เป็นที่รู้จักและมีแฟนๆ ติดตามทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่ถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มคอหนังอาร์ตเฮาส์ ในขณะที่ Memoria เป็นหนังพูดภาษาอังกฤษ, มีนักแสดงนำชื่อดัง และได้ Neon มาเป็นผู้จัดจำหน่าย จึงน่าจะส่งผลให้หนังมีโอกาสเข้าถึงผู้ชมในวงกว้างได้ง่ายขึ้น
ผู้กำกับไทยจะสามารถสร้างประวัติศาสตร์ได้อีกครั้งไหม?
การที่ Memoria ได้เข้าฉายในสายประกวดหลักของเทศกาลหนังเมืองคานส์ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปีที่หนังของผู้กำกับไทยถูกเลือกเข้าแข่งขัน นับตั้งแต่ ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ของอภิชาติพงศ์เองในปี 2010
หนังของผู้กำกับไทยรายนี้เคยได้รับเลือกเข้าฉายในคานส์มาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นใน (1) สายประกวดหลัก 3 เรื่อง คือ ‘สัตว์ประหลาด!’ (Tropical Malady, 2004 - ชนะรางวัล Jury Prize), ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ (ชนะปาล์มทอง) และล่าสุดกับ Memoria ; (2) สาย Un Certain Regard 2 เรื่อง คือ ‘สุดเสน่หา’ (Blissfully Yours, 2002 - ชนะรางวัล Un Certain Regard) และ ‘รักที่ขอนแก่น’ หรือ (3) สาย Special Screening 2 เรื่อง คือ Mekong Hotel (2012) และ Ten Years Thailand (2018, อภิชาติพงศ์ร่วมกำกับ)
อย่างไรก็ดี เราจะไม่อาจนิยาม Memoria ได้ว่าเป็นหนังไทย (เนื่องจากฉากหลังและทีมงานส่วนใหญ่เป็นโคลอมเบีย อีกทั้งยังได้ทุนสร้างมาจาก 10 ประเทศ) แต่การที่มีผู้กำกับชาวไทยได้เข้าชิงรางวัลใหญ่ที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของโลกภาพยนตร์อย่างปาล์มทอง ก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี อีกทั้งยังส่งผลให้สปอตไลต์กลับมาส่องที่ผู้กำกับและคนทำหนังชาวไทยอีกครั้ง หลังจากที่เคยถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงยุค 2000-2010 แล้วก็เงียบหายไปอย่างน่าเสียดาย
มาร่วมลุ้นกันว่า ผู้กำกับไทยอย่างเขาจะสามารถสร้างประวัติศาสตร์ได้อีกครั้งไหม?
หมายเหตุ : ในคานส์ปีนี้ นอกเหนือจาก Memoria แล้ว อภิชาติพงศ์ยังมีผลงานอย่าง The Year of the Everlasting Storm ซึ่งเป็นการรวมหนังสั้นของผู้กำกับ 7 คนจากทั่วโลก ที่มีเนื้อหาสะท้อนถึงโลกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกด้วย
อ้างอิง: IndieWire (1, 2), Screen Daily, The Film Stage, La Tempestad