- หากมองแค่ผิวเผิน เราอาจคิดว่า หนังเลสเบี้ยนในรอบสองสามปีที่ผ่านมานี้ มักว่าด้วยธีมย้อนยุค ที่จับตัวละครไปอยู่ในบริบทที่ ‘การรักเพศเดียวกัน’ นั้นกลายเป็นเรื่องต้องห้าม จนดูไม่ ‘ก้าวหน้า’ ทันยุคทันสมัย แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า หนังหญิงรักหญิงในปัจจุบันจะมีแต่เรื่องราวของตัวละครจากยุคสมัยที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในกรอบกรงต้องห้ามของสังคมเสมอไป
- พ้นไปจากหนังเหล่านี้ โลกเรายังมีหนังเลสเบี้ยน และ LGBTQ+ จำนวนไม่น้อยที่เล่าถึงมิติอื่นๆ ของความสัมพันธ์ กระทั่งกระโดดหนีให้ห่างจากการเป็นหนังดราม่าโศกเศร้าโรแมนติก แล้วสรรหาวิธีการเล่าเรื่องอันหวือหวาและหลากหลายมาแทนที่ ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงเลสเบี้ยนผิวดำในปี 1970 สมัยที่การเป็นคนดำยังถูกเลือกปฏิบัติ, การให้ตัวละครตั้งท้องมนุษย์หมาป่าเพื่อแสดงสัญญะบางอย่าง หรือกระทั่งการสำรวจเรื่องเพศอย่างเร่าร้อนบ้าพลัง
...
หากวัดในระยะสองสามปีให้หลังมานี้ ก็น่าสนใจว่าปรากฏการณ์หนังโลกที่ว่าด้วย ‘ผู้มีความหลากหลายทางเพศ’ ซึ่งก็รวมถึง ‘หญิงรักหญิง’ หรือ ‘เลสเบี้ยน’ ด้วยนั้น ทยอยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ กวาดทั้งรางวัล ทั้งรายได้ไปมหาศาล
นับตั้งแต่หนังสัญชาติฝรั่งเศสของผู้กำกับ เซลีน เซียมมา อย่าง Portrait of a Lady on Fire (2019) ที่จับจ้องไปยังความรักของหญิงสาวสองคนในศตวรรษที่ 18 ซึ่งเกิดขึ้นเงียบเชียบและดำรงอยู่หลังจากนั้นตลอดกาล แม้ไม่เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาผู้อื่น และตามมาติดๆ ด้วย Ammonite (2020) ที่พูดถึงความสัมพันธ์ของหญิงสองคน-ที่คนหนึ่งแต่งงานแล้ว-ในศตวรรษที่ 19 และต้องเก็บงำทั้งความรู้สึกและสถานะไว้ให้พ้นจากสายตาของสังคมภายนอก ตลอดจนเรื่องล่าสุด The World to Come (2020) สาวชาวไร่ในศตวรรษที่ 19 กับชีวิตรักขื่นขมหลังแต่งงานกับสามี จนการปรับความเข้าใจกันระหว่างคนสองคนค่อยๆ พัฒนาขึ้นเป็นความสัมพันธ์รูปแบบอื่นที่ล้ำลึกยิ่งกว่าเพื่อน
จากรายนามทั้งหมดนี้ หากมองแค่ผิวเผิน เราก็อาจคิดว่า หนังเลสเบี้ยนในยุคหลัง -หรืออย่างน้อยก็ในรอบสองสามปีที่ผ่านมานี้-มักว่าด้วยธีมย้อนยุค ที่จับตัวละครไปอยู่ในบริบทที่ ‘การรักเพศเดียวกัน’ นั้นกลายเป็นเรื่องต้องห้าม ซึ่งด้านหนึ่งก็ถูกหยิบมาเพื่อใช้เล่าถึงแรงขับในการจะก้าวข้ามกฎเกณฑ์ต้องห้ามที่สังคมขีดขึ้นมา หรือกระทั่งอาจใช้มันเพื่อเป็นฉากหลังของความโหยหาและความปรารถนาอันเจ็บช้ำของตัวละคร ...จนดูไม่ ‘ก้าวหน้า’ ทันยุคทันสมัย
แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า หนังหญิงรักหญิงในช่วงไม่กี่ปีให้หลังจะมีแต่เรื่องราวของตัวละครจากยุคสมัยที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในกรอบกรงต้องห้ามของสังคมเสมอไป ตรงกันข้าม หากกวาดตามองให้กว้างขวางกว่านั้น เราอาจจะพบความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากมายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลก โดยเฉพาะในกลุ่มหนังหญิงรักหญิง เพราะมันทั้งเข้าไปมีบทบาทอยู่ในหนังบล็อกบัสเตอร์ฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวูด, ไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่ในฐานะหนังโรแมนติกดราม่า แต่เปลี่ยนไปอยู่ในแนวหนังประเภทอื่นเพื่อเล่าเรื่องราวใหม่ๆ -เช่น ตัวละครที่แสนจะขโมยซีนใน Deadpool (2016)- หรือการตั้งใจแคสต์นักแสดงแถวหน้ามารับบทเลสเบี้ยน ซึ่งหากมองเป้าหมายอย่างหลวมๆ เราคงพบว่า มันมีความพยายามในการจะขยับขยายฐานคนดูให้กว้างขึ้นจากแต่ก่อนพอสมควร
Princess Cyd (2017) หนังข้ามพ้นวัยแสนจะก๋ากั่นและสดใสของ สตีเฟน โคน คนทำหนังฝีมือเลิศล้ำที่เคยแจ้งเกิดจาก Henry Gamble's Birthday Party (2015 - ที่สำรวจเพศวิถีของเด็กหนุ่มวัยกำลังค้นหาตัวเอง) โดยหนังเล่าเรื่องของ ซิด (รับบทโดย เจสซี พินนิค ที่แจ้งเกิดอย่างงดงาม) เด็กสาววัยสิบหกที่ใช้เวลาช่วงซัมเมอร์กับ มิแรนดา (รีเบ็กกา สเปนซ์) คุณป้าที่ก็ไม่ค่อยสนิทกันนักในชิคาโก เธอใช้เวลาในเมืองแปลกหน้าสำรวจตรอกซอกซอย ร้านอาหารและร้านกาแฟจนได้เจอกับ เคธี (มาลิก ไวต์ - ชีวิตจริงเป็นนักเขียนบทและนักต่อสู้สิทธิทางเพศ) บาริสต้าที่ชวนเธอออกไปเดินสำรวจเมืองด้วยกัน
มองเผินๆ มันอาจดูไม่แตกต่างจากหนังข้ามพ้นวัยเรื่องอื่นๆ แต่สิ่งที่ Princess Cyd ขยับไปไกลกว่านั้น คือมันพูดเรื่องความสัมพันธ์ของหญิงรักหญิงที่เกิดขึ้นในสองช่วงเวลา เมื่อซิดเริ่มแน่ใจแล้วว่าเธอชอบเคธี เธอจึงเปิดใจคุยกับป้า -ซึ่งแทบไม่ได้เปิดอกพูดคุยกันมาก่อน- ถึงความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง จนพบว่าตัวมิแรนดาเองเคยมีความสัมพันธ์เช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และปล่อยให้มันจมหายเงียบงันไปกับกาลเวลา หนังเล่าโดยปราศจากท่าทีตัดสิน ทั้งยังขยับขอบเขตของเพศสภาพอันหลากหลายเมื่อในงานเลี้ยงใหญ่ของค่ำคืนหนึ่ง ซิดตัดสินใจทลายกรอบตัวเองแล้วสวมทักซิโด -ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายที่ถูกนิยามว่ามีไว้สำหรับเพศชาย- แล้วเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ค้นหา สำรวจความต้องการอื่นๆ ที่อาจยังซุกซ่อนอยู่อย่างเงียบเชียบ
...
ในขวบปีไล่เลี่ยกัน เราก็ยังมี Rafiki (2018) หนังร่วมทุนสร้างแปดสัญชาติ (เคนยา-แอฟริกาใต้-เยอรมนี-เนเธอร์แลนด์-ฝรั่งเศส-นอร์เวย์-เลบานอน-สหราชอาณาจักร) สีสันฉูดฉาดที่ส่งผู้กำกับ วานูรี ไคนู ชิงสองรางวัลใหญ่จากเทศกาลหนังเมืองคานส์อย่าง Queer Palm และ Un Certain Regard ทั้งยังเป็นหนังเคนย่าเรื่องแรกที่ได้ฉายในเทศกาลนี้ด้วย โดยมันเล่าถึง คีนา (ซาแมนธา มูกัตเซีย) เด็กสาวธรรมดาที่อาศัยอยู่ในเมืองไนโรบี ช่วยพ่อดูแลร้านขายของ ขณะที่พ่อเตรียมลงเล่นการเมืองหวังชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า คีนาแอบชอบ ซีกี (เชียลา มุนยีวา) สาวข้างบ้านที่มาพร้อมผมหลากสีแถมทาลิปสติกสีเจ็บๆ แบบเห็นมาแต่ระเบียงบ้าน และอุปสรรคของทั้งคู่ก็ไม่ได้อยู่แค่กรอบกรงที่สังคมขีดไว้เท่านั้น แต่ตัวซีกีเองยังเป็นลูกสาวนักการเมืองจากพรรคคู่แข่งของพ่อคีนาด้วย
แม้หนังจะใช้การเมืองเป็นพื้นที่ในการเล่าเรื่องและการปะทะทางความเชื่อ-ความคิดของคนสองรุ่น ผ่านฉากการโต้เถียงอย่างดุเดือดและบอบช้ำระหว่างคีนากับซีกีและพ่อแม่ของพวกเธอ ตลอดจนการถูกมองว่า ‘เป็นอื่น’ ผ่านสายตาของสังคม หรือถูกเพศตรงข้ามมองอย่างแทะโลม และวาดฝันเรื่องแฟนตาซีระหว่างเด็กสาวทั้งสอง หากแต่มันก็ยังเป็นหนังที่มอบความหวังและแสงสว่างให้คนดูได้อย่างน่าประทับใจกับตอนจบที่แสนตราตรึงระหว่างคนทั้งสอง
...
พร้อมกันกับที่ตัวหนังเองก็เป็น ‘การเมือง’ ในตัวเองด้วย เมื่อเคนย่าตอบรับการเข้าฉายของหนังอย่างขมขื่นด้วยการแบนไม่ให้ฉาย อันเนื่องมาจาก "เป็นหนังที่ว่าด้วยการรักเพศเดียวกัน ทั้งยังชัดเจนว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการเป็นเลสเบี้ยนในเคนยา ซึ่งขัดต่อกฎหมาย" เพราะในเคนยา การเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือการมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย อาจมีโทษจำคุกนานถึง 14 ปีเลยทีเดียว -- แต่ทั้งนี้ ทางการพยายามประนีประนอมด้วยการขอให้ไคนู ผู้กำกับหนังตัดทอนบางฉากและเปลี่ยนตอนจบด้วยเหตุผลว่า “มันเปี่ยมความหวังมากเกินไป” แน่นอนว่าไคนูปฏิเสธ ทำให้ Rafiki ถูกแบนยาว และไม่มีโอกาสได้ฉายในเคนยาบ้านเกิด
หากแต่ไคนูไม่ยอมแพ้ เธอสู้กลับจนกลายเป็นหนึ่งในฉากสำคัญของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เคนยายุคใหม่ เมื่อเธอตัดสินใจฟ้องรัฐบาลข้อหาแบนหนังที่เธอกำกับ จนในที่สุด กันยายนปีเดียวกันนั้น ศาลสูงเคนยาก็อนุญาตให้ Rafiki ออกฉายในโรงภาพยนตร์ในประเทศได้ ด้วยระยะเวลาจำกัดเพียงเจ็ดวันเท่านั้น ซึ่งเป็นเจ็ดวันที่สร้างปรากฏการณ์ทำยอดขายตั๋วถล่มทลายในกรุงไนโรบี และแม้ไคนูจะหวังให้หนังเป็นตัวแทนไปชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์พูดภาษาต่างประเทศของปีนั้น แต่มันก็พ่ายให้ Supa Modo (2018) ที่ถูกส่งไปชิงแทน-แต่ไม่ได้รับเลือก-ในที่สุด
...
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา สตีฟ แม็กควีน คนทำหนังสัญชาติอังกฤษที่เรารักยังปล่อย Small Axe ซีรีส์หนังห้าเรื่องที่หนึ่งในนั้นคือ Lovers Rock (2020) หนังที่กล่าวกันว่าสร้างฉากงานปาร์ตี้ให้คนที่เป็นอินโทรเวิร์ต (Introvert) อยากไปเข้าร่วมด้วย (กรี๊ด!) โดยมันพูดถึงสังคมคนแอฟริกันอพยพในอังกฤษช่วงกลางยุค 1970 ที่การเป็นคนดำก็ถูกกีดกันไม่ให้ได้รับความเท่าเทียมอื่นๆ ในสังคมอยู่แล้ว การเป็นหญิงรักหญิงยิ่งขยับมาอยู่วงนอกห่างไกลจากการได้รับการยอมรับ ทั้งจากคนกลุ่มอื่นและในกลุ่มคนดำด้วยกันเอง
ความที่พวกเขาไม่อาจเข้างานปาร์ตี้ของคนขาวได้ ทำให้คนกลุ่มนี้จัดงานปาร์ตี้ขึ้นในบ้านหลังเล็กๆ ที่เชื้อเชิญแต่คนดำด้วยกันมาร่วมงาน และพวกเขาไม่ได้ทำอะไรนอกจากเปิดเพลง ร่ายรำ ดื่มกิน และพูดคุยกันอยู่ภายในจักรวาลที่มีเพียงกันและกัน ซึ่งแม้ว่าฉากจำของหนังคือฉากที่ตัวละครพากันครวญเพลง Silly Games ของ เจเน็ต เคย์ กันอย่างยาวนานภายใต้แสงไฟสีเหลืองนวลอาบไล้เรือนร่าง แต่ก็มีฉากเล็กๆ ที่ตัวละครหญิงสองคนช่วยกันแต่งเนื้อแต่งตัวเตรียมมางานปาร์ตี้ตั้งแต่บ่าย ใช้เวลาอยู่ด้วยกันเพียงลำพังภายในห้องนอน และสำรวจความรู้สึกของตัวเองที่มีต่ออีกฝ่ายท่ามกลางความเงียบงันซึ่งหลุดพ้นออกมาจากปาร์ตี้ด้านนอก ในพื้นที่เล็กๆ ที่ก่อร่างขึ้นมาเพราะถูกคนขาวกีดกัน มันจึงมีพื้นที่เล็กกว่านั้นที่แยกตัวออกมาเองอีกชั้นจากหญิงสาวทั้งสองในห้องนอนของค่ำคืนนั้นโดยปราศจากคำพูดใด และมีเพียงพวกเธอเท่านั้นที่เข้าใจกันและกันอย่างถ่องแท้
ในยุคหลังๆ เราอาจจะพบว่า ‘หนังเลสเบี้ยน’ ข้ามพรมแดนจากการเป็นหนังดราม่าที่พูดถึงความไม่สมหวัง การเก็บงำความรู้สึกไปสู่รูปแบบอื่นๆ อาทิ Good Manners (2017) หนังสยองขวัญเซอร์แตกของคนทำหนังชาวบราซิล ฆูเลียนา โรฆาส และ มาร์โก ดูตรา ที่เล่าเรื่องของ คลารา (อิซาเบล ซูอา) หญิงผิวดำที่สมัครเป็นพี่เลี้ยงเด็กกับแม่บ้านให้ อานา (มาร์เจอรี เอสเตียโน) หญิงสาวท้องแก่ที่ชีวิตพินาศสุดขีดหลังโกหกพ่อเด็กว่า เด็กในท้องเป็นลูกชู้ เพื่อจะได้ออกมาใช้ชีวิตตัวคนเดียวจนถูกครอบครัวสาปส่ง ซึ่งภายใต้ความสัมพันธ์ของเจ้านายและลูกน้อง ทั้งสองเริ่มใกล้ชิดกันมากขึ้น จนกระทั่งล้ำเส้นแบ่งที่เคยขีดไว้ให้กัน อันเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้คลาราเห็นพฤติกรรมแปลกประหลาดของอานา ทั้งการเดินละเมอ และการสังหารสัตว์เล็กแล้วกินดิบๆ ในวันดวงจันทร์เต็มดวง ซึ่งทำให้คลาราเริ่มเข้าใจในภายหลังว่า คนรักของเธอ -หากจะเรียกเช่นนั้น- อาจตั้งครรภ์ ‘มนุษย์หมาป่า’ อยู่ก็เป็นได้!?
เราอาจจะมองการ ‘กลายร่าง’ ของอานาในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของหนังดาร์กแฟนตาซีปนสยองขวัญเท่านั้นก็ได้ หรือจะมองมันในเชิง ‘ภาพแทน’ ภาวะการต้องปิดบังซ่อนเร้นตัวเองจากสังคม ทั้งการชิงชังพ่อเด็ก การถูกครอบครัวขับไล่ไสส่งเมื่อเธอไม่เป็นไปตามครรลองที่สังคมกำหนดไว้ ตลอดจนตัวเด็กซึ่งกลายเป็นต้นกำเนิดโศกนาฏกรรมที่ตามมาหลังจากนั้น ที่หากมองจากภาพรวม ก็กลายเป็นเหยื่อของสังคมที่ชิงชังสิ่งที่เขาเป็น ไม่ต่างจากที่แม่เขาต้องเผชิญ
สุดท้าย เราคงจะหลงลืม The Daughters of Fire (2018) หนังเซ็กซี่วาบหวามของ อัลเบอร์ตินา คาร์รี ไปไม่ได้ เพราะมันเป็นหนังเลสเบี้ยนสัญชาติอาร์เจนตินาสุดแสบสันที่จับจ้องไปยังเรือนร่างเปลือยเปล่าของผู้หญิงอย่างให้เกียรติ แต่ขณะเดียวกันก็แสนจะเป็นกันเอง (ส่วนหนึ่งต้องมอบเครดิตให้นักแสดงที่เล่นกันราวกับลืมไปแล้วว่ามีกล้องกำลังถ่ายทำพวกเธออยู่) หนังผูกเรื่องไว้หลวมๆ ที่การเดินทางของเลสเบี้ยนคู่หนึ่ง ทั้งคู่ออกเดินทางไปยังย่านชนบทซึ่งเป็นบ้านเกิดของทั้งคู่ เพื่อจะกลับไปเยี่ยมครอบครัวและเพื่อจะไปหาวัตถุดิบมาทำหนังโป๊ โดยในระหว่างการเดินทาง พวกเธอรับสมาชิกใหม่ขึ้นรถมาด้วยกัน จนรถตู้คันจิ๋วมีผู้หญิงต่างเชื้อชาติ ต่างสีผิว ต่างรูปร่าง และต่างความเชื่อ เบียดอัดกันแน่นอยู่ข้างใน ก่อนที่พวกเธอจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต ความรัก และเซ็กซ์ให้กันฟังอย่างเปิดเผย จนเกิดการผจญภัยทางเพศอันแสนเซ็กซี่ขึ้น เมื่อใครคนหนึ่งเสนอว่า พวกเธอน่าจะลอง ‘ร่วมรัก’ กันดู โดยไม่จำเป็นต้องมีข้อผูกมัดใดๆ ซึ่งนำไปสู่การสำรวจตัวตนที่ลึกซึ้งและบ้าระห่ำของพวกเธอในที่สุด
จากการปรากฏตัวของหนังเลสเบี้ยนและหนังที่พูดถึงกลุ่ม LGBTQ+ อย่างหลากหลายในชั่วระยะเวลาสองสามปีที่ผ่านมานี้ เราอาจสังเกตว่าหนังฟอร์มใหญ่หรือหนังที่มีทุนหนาขึ้นมาหน่อยมักจะสร้างเรื่องราวให้เกิดขึ้นในอดีต สมัยที่ความรักระหว่างเพศเดียวกันยังเป็นเรื่องต้องห้าม ซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นไปได้ว่าเพื่อจะใช้บริบทและบรรยากาศเหล่านั้นขับเน้นความรักและความโหยหาของตัวละครที่จำต้องแตกดับไปเพราะกำแพงที่สังคมสร้างขึ้น หรือแม้แต่ความรุ่มรวยอลังการของฉากและเสื้อผ้าหน้าผมของตัวละครที่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สามารถใช้เป็นจุดขายหลักๆ ของหนังได้ ดังที่เราเห็นกันจาก Portrait of a Lady on Fire ที่ตัวละครปรากฏกายในชุดเต็มยศเสมอเพื่อเป็นแบบในการวาดรูป หรือ The Favourite (2018) ที่ก็ว่าด้วยความสัมพันธ์ต้องห้ามในรั้วราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งเหล่าตัวละครต้องสวมใส่เสื้อผ้าแบบที่ไม่มีทางได้พบเห็นง่ายๆ ในยุคปัจจุบัน และเดินเฉิดฉายอยู่ในโลกแสนจะเวียร์ดของผู้กำกับ ยอร์กอส ลันธิมอส ที่จับเอาความเคร่งเครียดและอึดอัดใจของตัวละครที่ต้องเก็บงำความรู้สึกตัวเองอยู่ภายใต้เกมการเมืองทั้งนอกและในวังอยู่ตลอดเวลา
หากแต่พ้นไปจากหนังเหล่านี้ โลกเราก็ยังมีหนังเลสเบี้ยนและ LGBTQ+ จำนวนไม่น้อยที่เล่าถึงมิติอื่นๆ ของความสัมพันธ์ กระทั่งกระโดดหนีให้ห่างจากการเป็นหนังดราม่าโศกเศร้าโรแมนติก แล้วสรรหาวิธีการเล่าเรื่องอันหวือหวาและหลากหลายมาแทนที่ ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงเลสเบี้ยนผิวดำในปี 1970 สมัยที่การเป็นคนดำยังถูกเลือกปฏิบัติ, การให้ตัวละครตั้งท้องมนุษย์หมาป่าเพื่อแสดงสัญญะบางอย่าง หรือกระทั่งการสำรวจเรื่องเพศอย่างเร่าร้อนบ้าพลัง
โลกยังมีหนังเลสเบี้ยนที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในซอกหลืบ ทั้งในรูปแบบของหนังนอกกระแส หนังทุนต่ำ หรือหนังที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมฮอลลีวูด -- ไม่ใช่แค่หนังที่เราพบเห็นกันแค่ในโรงหนังบ้านเราหรือตามสื่อกระแสหลักของโลก ที่ทำให้เรามักคิดเหมาเอาเองว่ามันจะสามารถใช้เป็นภาพแทนของเทรนด์ หรือการมีอยู่ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งในวงการหนังทั้งหมด
และพวกมันก็กำลังรอคอยให้เราเข้าไปค้นพบความหลากหลายเหล่านั้นอยู่ ณ พื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งเสมอ หากเรารู้จักเพ่งมองให้รอบด้านมากพอ