- ‘กระบี่, ๒๕๖๒’ คือหนังไทยของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ และ เบน ริเวอร์ส ที่เล่าเรื่องราวอย่างอิสระผ่านการแสดงของ เป้ - อารักษ์ อมรศุภศิริ กับ นุ่น - ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ในบท ‘ดารา’ และ ‘คนที่คล้ายจะเป็นดารา’ ผู้เต็มไปด้วยความทรงจำและบาดแผล ที่ต่างเดินทางมายัง จ.กระบี่
- หนังเรื่องนี้ยังคงห่างไกลจากการเป็นหนังนำเที่ยว หรือกระตุ้นให้คนอยากไปเห็นของจริงทันทีที่ดูจบ แม้ในเรื่องจะมีรายละเอียดของ Unseen Thailand (ทั้งใน จ.กระบี่ และ จ.ใกล้เคียง) อย่างมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลที่เชื่อว่ายังคงหลงเหลืออยู่ หรือตำนานปรัมปราเกี่ยวกับกำเนิดหินตาหินยายก็ตาม
- โดยธรรมเนียมของการเล่าเรื่องในหนังทั่วไป คนทำมักเชื่อว่าสิ่งที่คนดูต้องการมากที่สุดคือพล็อตเรื่อง ขณะที่อโนชาและริเวอร์สกลับเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญกว่า น่าจะเป็นอะไรที่มาก่อนการผูกเป็นเรื่องเป็นราวจนสามารถนำมาเล่าขยายความต่อได้ ซึ่งถือเป็นความลึกลับของตำนานและเรื่องเล่าเสมอมา
...
ถ้า ‘วอน (เธอ)’ มีสไตล์การเล่าเรื่องแบบลูกเต๋า (สลับไปทีละด้านๆ จนกว่าจะครบสี่), ‘คืนยุติ-ธรรม’ ใช้รูปแบบการเล่าเรื่องเหมือนถักเปีย (สร้าง storyline มาสี่เส้น แล้ววางทับกันไปมา) ...ถ้าเช่นนั้น ‘กระบี่, ๒๕๖๒’ ก็คงไม่ต่างอะไรกับการเดินตามตารางหมากรุก
ผู้กำกับ อโนชา สุวิชากรพงศ์ และ เบน ริเวอร์ส ชวนเชิญคนดูมิใช่แค่เดินเรื่องสลับไปสลับมา ขาวที-ดำทีไปเรื่อยๆ หากแต่ยังมีการยั่วยุกึ่งเรียกร้องความสนใจว่าใครจะล้ำเข้าไปยังแดนฝั่งตรงข้ามได้ก่อนกัน แต่กว่าจะทันเกม คนดูอาจถูกผลักเข้าไปเดินวนในถ้ำหลวงและเขาวงกตไปสักพักก่อน ไม่นาน คนดูกับนักมายากล (คนสร้างที่เป็นคนคิดเกมไปด้วย) เริ่มทันกัน ความสนุกก็จะตามมา
แน่นอน จุดใหญ่ใจความสำคัญของหนัง ‘กระบี่, ๒๕๖๒’ อาจดูเหมือนอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ทว่าเป็นการฟุ้งกระจายที่มีมวลบางอย่างรับ-ส่งซึ่งกันและกัน โดยขั้นแรก เริ่มจากมวลสาร (สาระสำคัญ) อย่างเดียวกันจะเชื่อมเข้าหากันเองก่อน ต่อจากนั้น อยู่ๆ ไปคงอาจพบว่า เดิมที่เคยดูแบบแปลกแยกแตกกลุ่ม พอเอาเข้าจริงๆ ก็อาจนับญาติร่วมวงศ์วานเป็นพวกเดียวกันได้แทบจะในทุกๆ เซกเมนต์ จนกระทั่งได้พบว่า แทบไม่มีส่วนใดเลยที่ปลีกแยกตัวเองออกตามลำพัง
แรกสุด ‘กระบี่, ๒๕๖๒’ ยังคงห่างไกลจากการเป็นหนังนำเที่ยว หรือกระตุ้นให้คนอยากไปเห็นของจริงทันทีที่ดูจบ แม้ในเรื่องจะมีรายละเอียดของ Unseen Thailand อย่างมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลที่เชื่อว่ายังคงหลงเหลืออยู่, ตำนานปรัมปราเกี่ยวกับกำเนิดหินตาหินยาย (เกาะแก่งน้อยใหญ่ที่มีรูปทรงคล้ายอวัยวะมนุษย์ โดยมีถ้ำซึ่งอยู่บนฝั่งเป็นรูปทรงของ ‘ฝ่ายยาย’) นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่เล่าต่อๆ กันของชาวบ้านคนพื้นที่ (ประวัติส่วนตัวที่มีส่วนเชื่อมโยงกับความเป็นมาอันยาวไกลที่เกี่ยวกับบ้าน), คำบอกเล่าจากไกด์มัคคุเทศก์ เรื่อยไปจนสุดที่ปากคำให้การ เมื่อมีการเชิญตัวไปสอบสวน
การท่องเที่ยวประจำจังหวัดคงรู้สึกทั้งภูมิใจที่อยู่ดีๆ ก็มีคนทำหนังมาโปรโมตจังหวัดให้ (แม้ทางการจะยังมิทันได้ร้องขอหรือตั้งงบ) แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ยังอุตส่าห์มีบางส่วนที่ทางการก็ไม่อยากให้ถูกนำออกเผยแพร่หรือนำเสนอต่อสังคม โดยเฉพาะการแบนผลงานศิลปะและหนังสั้นคอนเซปต์ ‘กำเนิดหอยทากทอง’ (จุฬญาณนนท์ ศิริผล) ซึ่งมีการนำบางช่วงบางตอนให้เห็นกันเหมือนคลิปหลุด ซึ่งแม้จะเป็นเศษเสี้ยว แต่สำหรับคนที่ดูหนัง ‘กระบี่ฯ’ ก็เกือบได้ดูกันจนจบเรื่อง เหมือนมาดู ‘กระบี่ฯ’ เรื่องเดียว แต่ได้เห็นหนังถึงสอง เพราะ ‘กำเนิดหอยทากทอง’ เป็นหนังสั้น
...
แม้จะเป็นหนังคนละเรื่อง, มีเครดิตกำกับร่วมกับเบน ริเวอร์ส แต่โดยภาพรวมแล้ว ‘กระบี่ฯ’ แทบจะออกมาต่างไปจาก ‘ดาวคะนอง’ (By the Time It Gets Dark, 2561) ถ้าวิธีนำเสนอใน ‘ดาวคะนอง’ มีรูปแบบเป็นชั้นๆ คล้ายปิ่นโต (หรือตุ๊กตากลของจีนที่พอถอดส่วนหัวออกมา จะมีตัวเล็กอีกตัวลดหลั่นลงเรื่อยๆ) แต่สำหรับ ‘กระบี่ฯ’ ไม่ใช่อย่างนั้น อโนชา (และริเวอร์ส) ปล่อยให้เรื่องราวกระจายตัวอย่างมีอิสระ เหมือนไม่ขึ้นต่อกัน แต่คนดูก็ยังมีบางอย่างที่พอจะยึดโยงเข้าหาได้รางๆ ผ่านนักแสดงซึ่งเป็นที่รู้จักสองคนคือ เป้ - อารักษ์ อมรศุภศิริ กับ นุ่น - ศิรพันธ์ วัฒนจินดา คือนอกจากทั้งเรื่องจะไม่ได้ปรากฏตัวร่วมซีนเดียวกันเลย บทบาทที่สองคนได้รับก็ต่างกัน อย่างเป้ อารักษ์ (ซึ่งออกก่อน) แทบจะตรงตามตัวตนจริงๆ นอกจอ คือไปกระบี่เพื่อถ่ายโฆษณา ความเป็นเซเลบ, บุคคลสาธารณะ และเป็นที่รู้จักของสังคม มีครบ ยิ่งกว่านั้นยังมีการตอกย้ำถึง persona ส่วนนี้ของเป้ ด้วยการให้ขึ้นร้องเพลงที่เป็นเพลงของเป้เอง (ทั้งเขียนเนื้อ ทั้งร้องเอง) จนความเป็นจริงกับสิ่งมายาทาบทับเข้าไว้ด้วยกัน แล้วเขาก็มีการให้เป้เดินหลงๆ ไปพบกับมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลจริงๆ ในซอกถ้ำ ขณะที่ตัวเขาเองต้องแต่งคอสเพลย์เป็นมนุษย์โบราณในงานโฆษณาที่กำลังถ่ายและใช้หาดที่ จ.กระบี่เป็นโลเกชั่น
ตรงกันข้ามกับนุ่น ศิรพันธ์ที่ตัวนักแสดงเป็นที่รู้จักของสังคม ทว่าการมีส่วนร่วมในเรื่องราวของนุ่น กลับสร้างความคลุมเครือบอกไม่ถูก จนไม่แน่ใจว่าที่เห็นกันจะใช่นักแสดงตัวจริงมาเอง หรือคาแร็กเตอร์ตามท้องเรื่อง (รู้แต่ว่าพอเธอไปที่ไหน คนพื้นที่จะคุ้นหน้า) ขณะที่ชื่อตัวละครของนุ่น ในเรื่องไม่ได้บอกไว้ ประกอบกับใน end credit ยังให้ชื่อตัวละครไว้กว้างๆ แค่ nameless woman ซึ่งตัวละครคนนี้มีตัวตนและความหมายต่อเรื่องเกินกว่าการเป็น ‘หญิงไร้ชื่อ’ ธรรมดา ฉะนั้นเมื่อมีการกล่าวถึงตัวละครผู้นี้ จะเรียกด้วยชื่อจริง ภายในวงเล็บ, ‘(ศิรพันธ์)’
...
สมมติการเข้ามาปรากฏตัวอยู่ในหนังของเป้ อารักษ์ (ที่ในเครดิตใช้ชื่อตัวละครว่า actor เสมอกัน) คือการบันทึกความทรงจำท้องถิ่นว่าครั้งหนึ่งเป้ อารักษ์ก็เคยมาแล้ว ขณะที่เส้นเรื่องพยายามปิดบังตัวตนของเธอ (ศิรพันธ์) จะตอบทุกคนที่เข้ามาถามเรื่องส่วนตัวโดยไม่ซำ้แบบ เป็นต้นว่าพอมีคนเริ่มระแคะระคายว่า เธอใช่นุ่น-ไม่ใช่นุ่น (“พี่นี่สวยจัง น่าจะเป็นดารา”) เธอก็บ่ายเบี่ยง, พอถูกถามว่าเธอมาทำอะไรที่ จ.กระบี่ (ศิรพันธ์) ก็ให้คำตอบแบบไปคนละเรื่อง สมมติไกด์สาว, คนพื้นที่ถาม (ศิรพันธ์) ตอบ : มาดูโลเกชั่นถ่ายหนัง แต่พอกลับโรงแรม เจอฟรอนต์ถามเหมือนกัน กลับได้คำตอบว่ามาเซอร์เวย์การตลาด ในทางกลับกัน (ศิรพันธ์) ซะอีกที่เป็นฝ่ายตักตวง, เก็บเกี่ยวหรือแม้กระทั่งแสวงหาประโยชน์เอาจาก ‘เรื่องราว’ ของคนในพื้นที่แต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะด้วยเรื่องเล็กมากๆ (อย่างถามแหล่งของกินอร่อยๆ ในพื้นที่กับแก๊งเด็กนักเรียนบนรถสองแถว) ไปจนถึงการถือวิสาสะคนพื้นที่ด้วยการเข้าไปหาถึงบ้านร่วมๆ สามครั้ง
พาร์ตของ (ศิรพันธ์) ทำให้รู้เพิ่มเติมอีกอย่างว่า ในทุกๆ พื้นที่ย่อมมีเรื่องราวให้เล่าขาน เมื่ออยู่ไปนานๆ เรื่องเหล่านั้นก็พร้อมจะขยายตัวเป็นตำนานที่มีขนาดใหญ่ขึ้นๆ ตามวันเวลา (คุณลุงนักมวยที่ขึ้นชกจนตาเสียไปข้างในบ้านที่มีอายุเจ็ดสิบแปดสิบปี ไปจนถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับหินตาหินยายซึ่งเชื่อกันว่ามีสาเหตุเกิดจากการละเมิดสัญญาระหว่างชาวบ้านกับผู้มีอำนาจวิเศษจากต่างถิ่น), เรื่องผีที่ผ่านปากคำของรีเซปชัน ฟรอนต์ของโรงแรม ตลอดจนเรื่องเล่าจากคุณลุง (เลี้ยง ลีลาทิวานนท์) ซึ่งเลี้ยงชีพด้วยการเปิดธุรกิจโรงหนังอันเป็นแหล่งรวมเรื่องเล่าสารพัดจากหลากหลายแหล่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความใหญ่โตเกินชีวิต (bigger than life) ทว่าสุดท้าย หนังก็พาคนดูไปรู้จักคนซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องเล่าอย่างคุณป้าฟรอนต์โรงแรมกับลุงเจ้าของโรงหนังถึงได้พบว่า คนผู้ซึ่งมีประสบการณ์เป็นเจ้าของเรื่องเล่ากลับมีชีวิตที่เรียบง่าย เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นปกติประจำวัน (คุณป้าฟรอนต์โรงแรมจ่ายตลาดหลังเลิกงาน, ลุงอดีตเจ้าของโรงหนังยังคงเทียวรับเทียวส่งหลานกลับจากโรงเรียน หรือถ้าย้อนกลับไปที่ซีนเปิดเรื่องที่เป็นกิจวัตรเข้าแถว, ประกอบพิธีกรรมก่อนเข้าชั้นเรียน ก็น่าที่จะมีหลานสาวคุณลุงปะปนอยู่)
จนกระทั่งพบว่าเครื่องมือที่มักถูกใช้ในการผูกมัดคนเข้าไว้ด้วยกัน มักหนีไม่พ้นเรื่องเล่าเชิง narrative และคนที่นำมันมาใช้จนเกิดประโยชน์งอกเงยได้สำเร็จก็คือ ไกด์สาวชาวบ้าน (พริมริน พัวรัตน์) ที่เปิดตัวคู่มากับ (ศิรพันธ์) อาวุธแรกที่เธอนำมาใช้มัดใจ (ศิรพันธ์) ก็คือเรื่องเล่าพื้นถิ่นหินตาหินยาย แล้วเธอก็นำมันมาใช้อีกครั้งกับนักท่องเที่ยวชายหญิง คราวนี้เป็นภาษาอังกฤษ แล้ววันหนึ่งเธอก็นำเอาความถนัดทางอาชีพมาใช้ โดยเฉพาะในเรื่องของการบรรยายความอย่างเป็นขี้นเป็นตอน เมื่อเธอต้องไปนั่งให้ปากคำต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะพยาน เมื่อตัวละครสำคัญมากๆ หายไปอย่างไร้ร่องรอย
...
โดยธรรมเนียมของการเล่าเรื่องในหนังทั่วไป คนทำมักเชื่อว่าสิ่งที่คนดูต้องการมากที่สุดคือพล็อตเรื่อง ขณะที่อโนชาและริเวอร์สกลับเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญกว่า น่าจะเป็นอะไรที่มาก่อนการผูกเป็นเรื่องเป็นราวจนสามารถนำมาเล่าขยายความต่อได้ (ถึงมีตัวละครอย่างสาวชาวบ้านที่เอาดีได้กับการเล่าตำนานพื้นถิ่นปรำปราได้อย่างเป็นลำดับขั้นตอน) ครั้นพอหนังพาไปดูสถานที่จริง ก็แทบไม่มีเค้าความลี้ลับ นอกจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติซึ่ง (เธอเชื่อว่า) อาจทำงานได้กับคนบางคน, สมมติ (ศิรพันธ์) แต่สำหรับคนที่มาจากต่างถิ่นต่างวัฒนธรรมออกไปอย่างคู่เดตชาวตะวันตก จุดมุ่งหมายอย่างอื่นน่าจะสำคัญกว่า ขณะที่สัดส่วนอื่นนอกเหนือไปจากนี้ ภาพที่ผ่านการนำเสนอกลับดู real จนแทบจะไม่เกิดเรื่องราวอะไรที่ใหญ่โตขึ้นมาได้ อย่างการทำงานของกองถ่ายโฆษณาที่แทบไม่เน้นการเล่าเรื่อง แม้ในยามที่ตัวเซ็นเตอร์หลักของพาร์ตอย่างเป้ อารักษ์พลัดหลงเข้าไปพบกับสิ่งที่เป็น big story อย่างมนุษย์ถ้ำ (แบบเดียวกับนักสำรวจเมาต์เอเวอเรสต์ แล้วไปเจอเจ้าเยติ บิ๊กฟุต) ทว่าสุดท้ายแล้ว ‘เรื่อง’ ซึ่งอยู่กันคนละฝั่งอย่างเป้กับมนุษย์โบราณก็จูนเข้าหากันไม่ติด ปล่อยให้เรื่องบางเรื่องผ่านการสังเคราะห์ด้วยตัวของมันเอง จนกระทั่งกลายเป็นความทรงจำเมื่อผ่านการปรุงแต่ง (ไม่ว่าจะด้วยการเลือกสรร คือเลือกที่จำ, ขยายความให้ใหญ่โตเกินจริง เราก็จะได้เรื่องเล่ามุกห้าบาทอย่างเรื่องผีของคุณป้ารีเซปชั่น ไปจนกระทั่งเรื่องที่เชื่อว่าผ่านวันเวลาไปนานมากจนไม่เหลือเค้าลางของความเป็นไปได้ นอกจากเกาะแก่งและถ้ำ = หินตาหินยาย)
เหลือสิ่งเดียวที่เป็นแหล่งรวมของความลึกลับ ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาที่เรามีส่วนร่วมอย่างเรื่องของ (ศิรพันธ์) ซึ่งหนังไม่ให้คำเฉลยอะไรกับเรา แม้กระทั่งชื่อ แต่ผู้คนก็ยังเฝ้าสงสัยว่าเธอมานี่มาเพื่อทำอะไร ...สำรวจโลเกชั่น, สำรวจตลาด จนกระทั่งเธอสลับข้างมาเป็นฝ่ายอยากรู้อยากเห็นเอง โดยเฉพาะการมาเพื่อดูจุดเริ่มต้นของชีวิต เมื่อครั้งยังเป็นอณูเล็กๆ เธอจึงเดินเข้าไปหาที่ๆ ซึ่งเชื่อกันว่าพ่อกับแม่ของเธอพบกันครั้งแรกในโรงหนัง (โดยไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันว่าใช่โรงที่เข้าไปเยี่ยมชมหรือเปล่า) เมื่อเธอเริ่มจะย้ายข้างมาเป็นฝ่ายอยากรู้อยากเห็น จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง (ศิรพันธ์) ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของความลึกลับไปเสียเอง
เผื่อวันหนึ่งข้างหน้า จังหวัดกระบี่คาดว่าน่าจะมีเรื่องลึกลับเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งที่เชื่อกันว่าเคยมีหญิงสาวคนหนึ่ง (ซึ่งถ้าผ่านการเติมแต่งอีกนิด ก็น่าจะเป็นได้ถึง ‘ดารา’) พลัดหลงเข้ามาแล้วหายสาบสูญอย่างไร้ร่องรอย แต่หนังก็ยังให้ความหวังกับคนดู ด้วยภาพทิ้งท้ายซึ่งลึกลับชวนให้พิศวงว่าจะใช่คนคนเดียวกันหรือไม่ (แบบเดียวกับที่เธอมักใช้กับคนรอบข้าง)
และภาพที่ว่าคงต้องปล่อยให้ ‘ลึกลับ’ ต่อไป สำหรับเราท่านที่ยังไม่ได้ดู
(กระบี่, 2562 | ภาพยนตร์ | สหราชอาณาจักร-ไทย | พ.ศ.2562 | กำกับ: อโนชา สุวิชากรพงศ์ และ เบน ริเวอร์ส)
หมายเหตุ: สามารถรับชม ‘กระบี่, 2562’ ผ่านช่องทางออนไลน์ของ Documentary Club ได้เร็วๆ นี้