• ‘เอหิปัสสิโก’ หนังสารคดีของ ณฐพล บุญประกอบ อันว่าด้วยเหตุวุ่นวายหลังเกิดคดียักยอกทรัพย์ของ พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ส่อแววว่าอาจถูกคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์สั่ง ‘ห้ามฉาย’ ก่อนจะผ่านการพิจารณาด้วยเรต ‘ทั่วไป’ อย่างงุนงง

  • ถึงแม้ พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 จะถูกบังคับใช้มานานกว่า 13 ปี และมีระบบการจัดเรตติ้ง (Rating) สำหรับคัดกรองอายุของผู้ชมในโรงหนัง แต่สิทธิเสรีภาพในการนำเสนอของคนทำหนังไทยก็ยังคงถูกจำกัดด้วยการตัดสินชี้ขาดของคนกลุ่มเดียวจนน่าตั้งคำถาม

  • ด้วย พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ฉบับล่าสุดนี้ จึงทำให้หนังไทยหลายเรื่องต้องถูกเจ้าหน้าที่สั่งเปลี่ยนชื่อ, ตัดทอนบางฉาก, ปรับแก้รายละเอียด หรือแม้แต่ ‘ห้ามฉาย’ ซึ่งส่งผลให้คนทำหนังหลายรายต้องออกมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา


ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้คนในแวดวงหนังไทยต้องกลับมาจับตามองกระบวนการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ของภาครัฐอีกคราว เมื่อ ‘เอหิปัสสิโก’ (Come and See) หนังสารคดีเชิงข่าวของ ณฐพล บุญประกอบ ที่เคยออกฉายวงจำกัดมาตั้งแต่ปี 2562 และเตรียมตัวออกฉายวงกว้างตามโรงภาพยนตร์ทั่วไปในวันที่ 6 เมษายนที่จะถึงนี้ ถูกคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เรียกชี้แจงเมื่อวันพุธที่ 10 มีนาคม หลังการยื่นตรวจพิจารณาเรตติ้ง (Rating) จนมีกระแสข่าวลือออกมาว่า หนังอาจถูกสั่ง ‘แบน’ หรือ ‘ห้ามฉาย’ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับหนังไทยบางเรื่อง ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมานับจากที่คณะกรรมการได้เข้าห้องประชุมหารือกันอีกรอบก็คือ หนังของณฐพลจะได้เข้าฉายตามกำหนดเดิมภายใต้เรต ท. หรือ ‘ทั่วไป’ (ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป) โดยปราศจากการเรียกตัวผู้กำกับเข้าไปชี้แจงตามที่ได้แจ้งไว้ หรือสั่งตัดทอนฉากใดๆ อย่างที่หวั่นเกรงกัน จนเป็นที่โล่งใจสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

...

แต่กระนั้น ก็ยังมีคำถามซ้ำเดิมที่คนทำหนังไทยไม่เคยได้รับคำตอบจากฟากฝั่งของผู้มีอำนาจตัดสินใจ แม้จะผ่านเวลามานานเป็นทศวรรษแล้วว่า ในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ยังควรมีคำว่า ‘ห้ามฉาย’ ปรากฏอยู่อีกหรือไม่?

หรือควรปล่อยให้ผู้ชมภาพยนตร์ได้พิจารณา-ตัดสินหนังเรื่องนั้นๆ ด้วยวิจารณญาณของตัวเองเสียที?

เอหิปัสสิโก
เอหิปัสสิโก


‘เอหิปัสสิโก’ หนังไทยเรื่องล่าสุดที่เกือบถูกสั่ง ‘ห้ามฉาย’

เหตุที่ณฐพลถูกเจ้าหน้าที่จากสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เรียกตัวในครั้งนี้ อาจสืบเนื่องมาจากเนื้อหาของ ‘เอหิปัสสิโก’ ที่เป็นการบันทึกภาพเหตุการณ์ในปี 2560 ระหว่างที่ พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และเจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าปิดล้อมวัดเพื่อจับตัวไปดำเนินคดี จนเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับลูกศิษย์วัดที่ออกมาต่อต้านการจับกุม ซึ่งหนังได้พาผู้ชมเข้าไปสำรวจถึงมุมมองต่างๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จากทั้งสองฟากฝั่ง รวมถึงนักวิชาการที่ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงแก่นความเชื่อและบทบาทของพุทธศาสนาในสังคมไทย

คนทำหนังเจ้าของรางวัลสุพรรณหงส์ สาขา ‘ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม’ จาก ‘2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว’ (2561) อย่างณฐพลเล่าให้เราฟังว่า ตามปกติ ลำดับขั้นตอนการตรวจพิจารณาภาพยนตร์จะมีเพียงการเข้าไปยื่นเอกสาร แล้วจึงนัดหมายวันฉายหนังให้คณะกรรมการดู และรอฟังมติว่าหนังจะได้เรตอะไรในวันเดียวกันนั้น “พอฉายเสร็จ เขาก็โทรมาว่าคณะกรรมการมีความกังวลว่า ถ้าฉายแล้วมันอาจไปรื้อฟื้นคดีที่ยังไม่จบ หรืออาจทำให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างขึ้นในสังคม เขาเลยถามว่าถ้าไม่ฉายจะเสียหายไหม เราก็บอกว่าเสียหายสิครับ ทำหนังมาก็อยากฉาย (หัวเราะ) เราเลยไปปรึกษาสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย มันถึงกลายเป็นข่าวออกมา เพราะทางนั้นเขาก็ไม่อยากให้หนังเราโดนแบน แล้วพอวันชี้แจง มันก็มีทั้งสื่อมวลชนและคนของสมาคมผู้กำกับฯ มารอฟังผล แต่ทางเจ้าหน้าที่เขาก็ไม่ได้ให้เราเข้าไปชี้แจงอะไรเลย แค่ประชุมแล้วออกมาบอกว่าหนังได้เรต ‘ทั่วไป’ ซึ่งเขาคงถกกันเองจนเสร็จแล้ว เราเลยไม่รู้ว่าเขาคุยอะไรกันบ้าง รู้แค่ว่าการฉายรอบนั้นมีคนจากกรมการศาสนามาดูด้วย เขาคงกังวลเรื่องเนื้อหาที่เกี่ยวกับธรรมกายในหนัง”

ณฐพล บุญประกอบ
ณฐพล บุญประกอบ

...


เดิมที ณฐพลตั้งใจสร้างหนังเรื่องนี้เป็นแค่วิทยานิพนธ์จบการศึกษาปริญญาโทด้านสารคดีที่ School of Visual Arts ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพียงเพราะอยากตั้งคำถามกับเหตุการณ์การเผชิญหน้ากันอย่างตึงเครียดระหว่างภาครัฐและศิษย์วัดพระธรรมกายในช่วงปี 60 ว่า “กลไกความคิดของคนที่ศรัทธาจริงๆ มันเป็นอย่างไร?” ซึ่งเขาก็พยายามบอกเล่าออกมาให้ ‘เป็นกลาง’ มากที่สุด “ตอนแรกเราไม่เคยคิดว่าจะเอามาฉายในวงกว้างแบบนี้ คิดแค่ว่าจะส่งฉายตามเทศกาลหนัง หรือฉายในวงปิดแล้วตั้งวงถกเถียงกันเฉยๆ เราไม่อยากเอามาฉายในช่องโทรทัศน์กระแสหลักหรือออนไลน์ เพราะไม่อยากให้คนเอาบางส่วนของหนังไปขยายความเพื่อโจมตีคนที่มีความเชื่อแบบนี้ มันอาจถูกเอาไปตีความแบบผิดๆ ได้ง่ายมาก เราเลยพยายามจำกัดการฉายให้มากที่สุด ซึ่งจริงๆ การเอาออกมาฉายในวงกว้างรอบนี้ มันก็เกิดจากการที่เราอยากเอาเข้าโรงแล้วฉายในวงปิด เราแค่อยากเชิญคนที่เรารู้จักมาดู ก็เลยส่งไปที่โรงหนัง House ให้ พี่จ๋อง (พงศ์นรินทร์ อุลิศ) ดู เขาก็ชอบ เลยเชียร์ให้จัดฉายแบบสาธารณะ มันเลยต้องส่งเซนเซอร์จนกลายเป็นข่าวขึ้นมา”

ขณะที่ นคร โพธิ์ไพโรจน์ อดีตบรรณาธิการฝ่ายหนังไทยนิตยสาร BIOSCOPE และคนทำหนังอิสระผู้คุ้นเคยกับการเข้าเจรจากับคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ มานานกว่าหนึ่งทศวรรษ กล่าวถึงกรณีของณฐพลว่า “ครั้งแรกที่ได้ยินข่าวนี้ เราไม่ได้รู้สึกเซอร์ไพรส์อะไร เพราะที่ผ่านมา หนังที่เราได้กลิ่นว่า ‘จะผ่านเซนเซอร์ไหม?’ มันมักจะโดนแบบนี้อยู่เรื่อยๆ ทั้งโดนเรียกชี้แจง โดนสั่งตัด หลักเกณฑ์การเซนเซอร์ของเขาจะไม่ค่อยตายตัวเท่าไร แล้วเราก็เคยเข้าไปอยู่ในกระบวนการนี้อยู่บ่อยๆ เพราะมันมีหนังไทยหลายเรื่องที่ถูกเรียก เราเลยเสนอตัวเข้ามาช่วย ตั้งแต่ Insects in the Backyard, ‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’, ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2’ จนมาถึงเรื่องนี้ เพราะเราไม่อยากให้ผู้สร้างต้องไปเผชิญชะตากรรมอยู่คนเดียว คือกรรมการทางนั้นก็มีตั้ง 7 คนน่ะ เราเลยไม่แน่ใจว่าการต่อสู้ระหว่างคนทำหนังตัวเล็กๆ กับเจ้าหน้าที่ที่เป็นตัวแทนจากรัฐ บรรยากาศมันจะเป็นอย่างไร แต่ถ้ามีเราเข้าไปด้วย ต่อให้จะช่วยอะไรเขาไม่ได้มาก แต่ก็เหมือนมีเราอยู่เป็นเพื่อนตรงนั้นกับเขาอีกคน”

...

“แล้วมันก็เจ็บปวดทุกครั้งเลยนะ” นครหมายถึงการที่ต้องเห็นคนทำหนังไทยคอยเข้าไปชี้แจงกับเจ้าหน้าที่รัฐครั้งแล้วครั้งเล่า “เพราะส่วนใหญ่หนังที่โดนแบบนี้มันจะเป็นหนังเล็กๆ เป็นหนังอิสระทั้งนั้น ซึ่งตัวผู้สร้างหรือผู้กำกับเองเขาก็ต้องต่อสู้กับอะไรมาเยอะอยู่แล้ว ทั้งการสร้างหนังและการเอาหนังเข้าโรง มันมีเรื่องให้ต้องปะทะหลายด่าน ซึ่งกระบวนการพิจารณาหนังมันไม่ควรจะกลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัยบั่นทอนผู้สร้างอีกหรือเปล่า ฉะนั้น ทุกครั้งที่มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น เราก็จะรู้สึกเจ็บปวดแทนคนทำหนังทุกครั้ง ซึ่งเราคิดว่าขั้นตอนนี้มันไม่ควรจะมีอยู่ด้วยซ้ำ”

แสงศตวรรษ
แสงศตวรรษ


ชะตากรรมซ้ำเล่าของเหล่าหนังไทยที่ถูกเซนเซอร์

“จริงๆ กฎหมายเซนเซอร์ภาพยนตร์ในลักษณะนี้มันมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2473 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และคนในวงการหนังก็พยายามเรียกร้องให้มีการชำระกฎหมายนี้มาตลอด ไม่ใช่แค่การเซนเซอร์ แต่มันยังมีอีกหลายมิติให้ต้องแก้ไข เพราะมันกระทบกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของทั้งคนทำและคนดู” นครเล่าย้อน

...

การเรียกร้องในประเด็นดังกล่าวของคนในแวดวงหนังไทยที่นครมองว่า ‘เป็นรูปธรรม’ ที่สุด คือตอนที่หนังเรื่อง ‘แสงศตวรรษ’ (2550) ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล โดนคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์สั่งให้ตัด ‘บางฉากที่ไม่เหมาะสม’ อย่าง ‘พระเล่นกีตาร์’ และ ‘หมอมีอารมณ์ทางเพศ’ ออกไป จนผู้กำกับต้องออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่ยอมรับผลการพิจารณาครั้งนั้น ซึ่งด้วยความร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากทุกภาคส่วน ทั้งสมาคมผู้กำกับฯ, นิตยสาร BIOSCOPE, มูลนิธิหนังไทย, หอภาพยนตร์แห่งชาติ (ในขณะนั้น), เครือข่ายคนดูหนัง หรือแม้แต่สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ก็ได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงกฎหมาย จนกลายมาเป็น พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่าด้วยการจัดระบบเรตติ้งเพื่อช่วยคัดกรองภาพยนตร์ที่จะเข้าฉายในโรงหนังให้เหมาะสมกับวุฒิภาวะตามช่วงวัยต่างๆ ของผู้ชม โดยแบ่งออกเป็น (1) ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู, (2) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป, (3) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบสามปีขึ้นไป, (4) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป, (5) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไป, (6) ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู และ (7) ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร

ทว่าแม้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ฉบับนี้จะถูกบังคับใช้มานานกว่า 13 ปีแล้ว ทว่าการมอบเรต ห. หรือ ‘ห้ามฉาย’ ให้แก่หนังไทยเรื่องใดเรื่องหนึ่งในฐานะของ ‘ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร’ เนื่องจาก “เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย” ก็ยังคงปรากฏให้เห็นเรื่อยมา จนคนทำหนังต้องผ่านการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ได้เข้าฉายมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ‘อาบัติ’ หนังสยองขวัญว่าด้วยการบวชเรียนอันไร้ศรัทธาของตัวละครหลักที่ถูกเจ้าหน้าที่สั่งให้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘อาปัติ’ (2558) หรือ ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2’ (2561) ที่ถูกสั่งให้ตัดทอนฉาก ‘พระหนุ่มคร่ำครวญระหว่างการเคาะโลงศพของอดีตหญิงคนรัก’ ออกไป เพราะอาจสั่นคลอนความเชื่อที่มีต่อพระภิกษุของพุทธศาสนิกชน รวมถึงการถูกสั่งให้ปรับแก้รายละเอียดต่างๆ ของหนังสารคดี ‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’ (2556) เนื่องจากมีเรื่องราวความขัดแย้งบริเวณเขาพระวิหารที่สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงในชาติ


หรือกระทั่งการถูกสั่ง ‘ห้ามฉาย’ จริงๆ ทั้งหนัง Insects in the Backyard ของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เมื่อปี 2553 ที่ประเดิมเรต ห. ด้วยเหตุผลว่า มีการนำเสนอภาพอวัยวะเพศ การร่วมเพศ และการค้าประเวณี ที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน (ก่อนที่หนังจะได้รับอนุญาตให้กลับมาฉายวงกว้างภายใต้ชื่อไทยว่า ‘แมลงรักในสวนหลังบ้าน’ ในปี 2560) หรือหนัง Shakespeare Must Die (‘เชคสเปียร์ต้องตาย’) ของ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เมื่อปี 2555 ที่ถูกแบนด้วยเหตุผลว่า มีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติได้

“อย่างตอน Insects in the Backyard ที่เราเข้าไปช่วยในฐานะของสื่อมวลชน เราทำเพราะไม่อยากให้เรื่องนี้มันเงียบหาย อย่างน้อยเราควรได้เป็นกระบอกเสียงว่ามันกำลังเกิดกรณีนี้ขึ้น และผู้ชมอาจไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรง” นครเล่าถึงหนังที่ทำให้เขาก้าวเข้าสู่การร่วมต่อสู้เรียกร้องให้คนทำหนังไทยมากว่าหนึ่งทศวรรษ “เราเลยได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เพราะมันเป็น พ.ร.บ.ใหม่ที่ทุกฝ่ายต้องเริ่มเรียนรู้จากศูนย์กันหมด ทั้งสื่อ ทั้งคนทำหนัง ทั้งตัวผู้บังคับใช้กฎหมายเอง มันต้องปรับตัวกันพอสมควร แล้วทางฝั่งเราเองก็ต้องศึกษาแทบจะทุกมาตราในนั้น เลยได้เห็นช่องโหว่ของกฎหมายฉบับนี้เต็มไปหมด ไม่ใช่แค่เรื่องการจัดเรตอย่างเดียว” ซึ่งช่องโหว่หนึ่งที่นครมองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้หนังไทยต้องประสบกับชะตากรรมซ้ำเล่าเช่นนี้ ก็เพราะคำว่า ‘ภาพยนตร์’ ไม่ได้ถูกระบุอยู่ในข้อกฎหมายว่า ‘ได้รับการคุ้มครองเสรีภาพในฐานะสื่อ’ เหมือนกับรายการข่าว หรือสื่อภาพเคลื่อนไหวประเภทอื่น ภาพยนตร์จึงยังคงต้องผ่านกระบวนการตรวจพิจารณาจากภาครัฐก่อนการนำไปเผยแพร่ทุกครั้ง

“ประเด็นคือ ตัวแทนจากรัฐเขาไม่ได้มองภาพยนตร์ในแบบที่เรามอง เพราะเราก็มองแค่ว่ามันเป็นสื่อศิลปะชนิดหนึ่ง แต่เขาคงมองในมุมที่ว่ามันอาจส่งผลกระทบกับสังคมได้แค่ไหน เลยกลายเป็นไปนั่งจับผิดมัน มองมันเป็นสิ่งอันตรายที่ไม่ได้หนีห่างไปจากนิยามยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองสักเท่าไร”

เอหิปัสสิโก
เอหิปัสสิโก


ผู้ปกครองในนาม ‘รัฐ’ และบุตรหลานที่ชื่อ ‘ประชาชน’

ณฐพลตั้งชื่อหนังเรื่องล่าสุดของเขาจากชื่อนิทรรศการภายในวัดพระธรรมกาย โดย ‘เอหิปัสสิโก’ คือท่อนหนึ่งในบทสวดสรรเสริญพระธรรมคุณที่เรียกให้ผู้สวดหันมาพิจารณาถึงสภาวะที่ ‘เป็นจริง’ ซึ่งผู้กำกับหนุ่มมองว่า การทำหนังเรื่องนี้ก็มีแนวคิดที่แทบไม่ต่างจากคำว่า ‘เอหิปัสสิโก’ กล่าวคือ เป็นการเอาตัวเองเข้าไปสัมผัสกับความจริงเหล่านั้น แล้วสะท้อนออกมาผ่านสื่อภาพยนตร์ ...แต่ก็ดูเหมือนว่า ‘การสะท้อนให้เห็นความจริง’ นี้ จะยังคงเป็นเรื่องที่ ‘อ่อนไหว’ สำหรับสถาบันต่างๆ ในสังคมไทยเสมอมา โดยเฉพาะคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ ที่ยังคงทำตัวเป็น ‘ผู้ปกครอง’ ที่ต้องคอยคุ้มครอง ‘บุตรหลาน’ อย่างคนทำหนังและผู้ชม ผ่านกระบวนการเซนเซอร์

“ถ้าหนังโดนแบนจริงๆ ก็ดีเหมือนกันนะ คนในสังคมจะได้มีโอกาสคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ส่วนเราก็อาจจะเซนเซอร์หนังตัวเองเหมือนตอนที่พี่เจ้ยทำกับ ‘แสงศตวรรษ’ คือใส่ภาพดำแทนฉากที่ถูกสั่งให้ตัดออก เพื่อแสดงจุดยืนว่าไม่ยอมรับการถูกเซนเซอร์ แล้วปล่อยให้คนมาดูเพื่อบอกว่าหนังไม่มีปัญหาอะไรเลย จะแบนทำไม” ผู้กำกับหนุ่มกล่าวแบบติดตลก

“แต่มันก็ไม่ควรมีคำว่า ‘แบน’ มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะหนังมันคือการสื่อสารอย่างหนึ่ง เวลาที่เราจะพูดอะไรกับใคร เราก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เราพูดอยู่แล้ว ฉะนั้น มันไม่ควรมีคนกลางที่จะต้องมาคอยนั่งฟังว่าเราพูดสิ่งนี้ได้หรือไม่ได้ มันไม่ใช่ว่าเราใช้นามแฝงแล้วไม่ต้องรับผิดชอบอะไรนี่ คนพูดหรือคนทำหนังมันต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเองอยู่แล้ว” ณฐพลยืนยัน “แล้วการที่เราต้องคอยมายินดีกับการไม่โดนแบนหนัง มันก็แปลกมากเลยนะ เพราะมันไม่ควรจะมีการแบนให้ต้องลุ้นแบบนี้ คนทำหนังควรจะได้รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองคิดและพูด ให้สังคมหรือคนดูเป็นคนตัดสิน โดยไม่ต้องมี ‘คุณพ่อรู้ดี’ มาคอยบอกว่าเราทำอะไรได้บ้าง ไม่งั้นสังคมก็ไม่ได้เรียนรู้หรือเติบโต เพราะเราเชื่อว่าวุฒิภาวะของสังคมมันจะเกิดขึ้นได้จากการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันนี่แหละ”

ส่วนนครก็คิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน หากแต่เขายังเชื่อว่า เราอาจต้องใช้เวลาอีกนานในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงให้เกิดแก่วงการหนังไทย “เพราะเราว่ามันเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกันไปหมดเลยนะ ทั้งคนดู ผู้สร้าง โรงหนัง และเจ้าหน้าที่รัฐ มันไม่ใช่แค่เราเปลี่ยนตัวกฎหมายมาตรานี้ หรือเปลี่ยนคนเซนเซอร์แล้วจบ แต่มันคือกระบวนการเรียนรู้ไปด้วยกันของทั้งสังคม ซึ่งควรเกิดจากการตระหนักรู้ร่วมกันของทุกฝ่ายมากกว่า แล้วถ้าการเมืองดี มันก็จะสามารถเปลี่ยนนิยามของอะไรได้อีกหลายอย่าง สิทธิของประชาชนก็จะมีความสำคัญมากขึ้น ถึงตอนนั้นมันจะเปลี่ยนได้จริงๆ”

นคร โพธิ์ไพโรจน์
นคร โพธิ์ไพโรจน์


“สิ่งที่เราพอจะทำได้ในตอนนี้ ก็คงพยายามอย่าให้กรณีพวกนี้มันเงียบแหละมั้ง เพราะคนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้มันคือประชาชนทุกคนที่เป็นผู้ชม ไม่ใช่แค่คนทำหนัง ฉะนั้น ถ้าอยากเปลี่ยนกฎหมาย หรือวงการหนังจริงๆ มันก็ต้องช่วยสู้กันไปเรื่อยๆ ดูจากกรณีล่าสุดอย่าง ‘เอหิปัสสิโก’ ก็ได้ คือมันจะมีบรรยากาศบางอย่างของการรวมตัวกันของคนทำหนังที่แข็งแรง การตื่นตัวของสื่อและคนดู มันช่วยทำให้ท่าทีของเจ้าหน้าที่ตรวจพิจารณาภาพยนตร์เปลี่ยนไป ซึ่งเห็นได้ชัดมาก เพราะบรรยากาศก่อนหน้าวันชี้แจง มันจะเป็นคนละเรื่องกันเลย ไม่ใช่แบบนี้ แต่พอมันมีการรวมตัวกัน พร้อมใจกันที่จะไม่ยอมปล่อยให้มันเงียบ หรือปล่อยให้ผู้สร้างต้องต่อสู้เพียงลำพัง ท่าทีมันก็เปลี่ยนไปจริงๆ คือถ้าเห็นความไม่ชอบธรรมอะไร เราก็ควรช่วยกันพูดออกมาแบบนี้ มันอาจไม่ได้เปลี่ยนในทันที แต่วันหนึ่งมันก็จะเปลี่ยน ซึ่งเราอาจย้อนไปดูตอน ‘แสงศตวรรษ’ ก็ได้ ที่พอมีการรวมตัวกันอย่างแข็งขันจริงๆ มันก็เปลี่ยนได้ หรือตอน Insects ที่ พี่กอล์ฟ (ธัญญ์วาริน) กัดไม่ปล่อย สู้จนถึงศาลปกครอง สู้จนถึงหยดสุดท้าย แล้วสื่อก็ช่วยกันตีข่าว คือถึงมันจะไม่ได้เปลี่ยนในทันที แต่มันก็ช่วยทำให้การรับรู้ที่ผู้คนมีต่อหนังเรื่องหนึ่งค่อยๆ เปลี่ยนไปได้”

“แต่อย่างน้อย ตอนนี้เราก็รู้สึกดีนะ” ณฐพลกล่าวสรุปถึงประสบการณ์การเกือบถูกแบนหนังของตัวเองในแง่บวก “เพราะกรณีของหนังเราน่าจะสามารถใช้เป็นบรรทัดฐานหรือเป็นหมุดหมายหนึ่งในการอ้างอิงได้ว่า มันยังมีหนังแบบนี้ที่สามารถฉายในเรต ‘ทั่วไป’ ได้ เผื่อว่าในอนาคตมันมีคนที่ทำหนังไปในทิศทางนี้ เขาจะได้เอาหนังเรามาอ้างได้ว่า เรื่องราวแบบนี้ ขอบเขตประมาณนี้ เคยสามารถพูดได้ในยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าต่อไปหนังไทยจะถูกแบนหนักกว่านี้หรือเปล่า แต่หนังของเราก็น่าจะใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้เหมือนกัน”.


อ้างอิง: เพจ ‘สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย’, iLaw, หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), Thainetizen