• หากมองข้ามผลการแข่งขันแพ้-ชนะไป รายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ของฝั่งฮอลลีวูดอย่าง "ออสการ์" หรือ Academy Awards ครั้งที่ 93 ก็อาจสะท้อนถึงปรากฏการณ์บางอย่าง
  • กระแสความนิยมใน ‘เรื่องเล่า’ และ ‘ตัวตน’ ของคนทำหนังจากหรือต่างวัฒนธรรม ค่อยๆ เปล่งประกายอยู่ในตลาดหนังฝั่งตะวันตกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  • วิกฤติโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก เปลี่ยนพฤติกรรมการดูหนังของผู้ชมและการเผยแพร่ผลงานของผู้สร้างไปโดยสิ้นเชิง


หลายคนอาจกำลังตื่นเต้น ยินดี หรือแม้แต่ผิดหวังกับรายชื่อของบรรดาผู้เข้าชิงรางวัลในสาขาต่างๆ บนเวที "ออสการ์" หรือ Academy Awards ครั้งที่ 93 ที่เพิ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา แต่หากลองพิจารณาให้ลึกลงไปอีกสักนิด เราก็จะพบว่า รายชื่อดังกล่าวสามารถบอก "อะไรบางอย่าง" กับ "คนดูหนัง" อย่างเราได้เหมือนกัน โดยเฉพาะทิศทางของแวดวงหนังฮอลลีวูด-หรืออาจรวมถึงหนังโลก-ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ ...และนี่คือสาระสำคัญส่วนหนึ่งที่เรามองเห็น

Minari
Minari

...


เรื่องเล่าและผู้คนต่างพื้นถิ่นที่กำลังกลายเป็นกระแสขายดีของฮอลลีวูด

นับจากการชนะออสการ์มากถึง 4 สาขา รวมทั้งผู้กำกับและภาพยนตร์ยอดเยี่ยม-ของ Parasite (2019) ของหนังครอบครัวตลกร้ายสัญชาติเกาหลีใต้ของ บงจุนโฮ รวมถึงการเข้าไปมีบทบาทบนเวทีรางวัลสำคัญอื่นๆ เมื่อปีกลาย เราคงพอจะสังเกตได้ว่า ตลาดหนังในซีกโลกตะวันตกเริ่มเปิดทางให้แก่ผลงานหนังจากซีกโลกตะวันออกอย่างมีนัยสำคัญ และแม้แต่หนังที่ผลิตขึ้นในสหรัฐอเมริกาหลายเรื่องเองก็ยังหันมาหยิบจับเนื้อหาที่ว่าด้วยแง่มุมชีวิตของชาวเอเชีย หรือคนต่างพื้นถิ่นมากขึ้น ทำให้ในปี 2021 นี้ เราจึงได้เห็นหนังดราม่าที่ตามติดครอบครัวชาวเกาหลีอพยพในอเมริกายุค 80 อย่าง Minari (2020) ของ ลี ไอแซก จอง ชนะรางวัลหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม จากเวทีลูกโลกทองคำ (Golden Globes) และกลายมาเป็นหนึ่งในตัวเต็งบนเวทีออสการ์แบบนอนมา โดยสามารถเข้าชิงได้ถึง 6 สาขา ทั้งดนตรีประกอบ, นักแสดงสมทบหญิง (ยุนยอจอง), นักแสดงนำชาย (สตีเฟน ยอน), บทออริจินอล, ผู้กำกับ และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ความโด่งดังของ Minari จึงเหมือนกับเป็นการรับลูกต่อจากปรากฏการณ์ Parasite ในอเมริกา ที่ช่วยทลาย "กำแพงสูงหนึ่งนิ้วของคำบรรยาย" -ที่ผู้กำกับบงจุนโฮ เคยกล่าวว่า เป็นอุปสรรคสำคัญของการเข้าถึงหนังต่างประเทศในตลาดฮอลลีวูด-ให้ยิ่งหดสั้นลงกว่าเดิม เพราะบรรดาผู้ชมที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักดูจะยอมเปิดรับหนังต่างภาษาที่พวกเขาต้องคอยอ่านซับไตเติล (Subtitle) หรือคำบรรยายขณะรับชมได้มากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแค่เรื่องเล่าต่างพื้นถิ่น หรือต่างวัฒนธรรมอย่างเอเชียเท่านั้น ที่เริ่ม "ขายดี" ในตลาดตะวันตก แต่คนทำหนังหลากเชื้อชาติก็ยังได้รับโอกาสทางอาชีพที่เปิดกว้างอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในโลกฮอลลีวูดไปพร้อมกัน

เห็นได้จากการเข้าชิงออสการ์ในสาขานักแสดงของบุคลากรชาวเอเชีย ทั้งสตีเฟน ยอน (อเมริกัน-เกาหลีใต้) และยุนยอจอง (เกาหลีใต้) ที่สามารถถ่ายทอดบทบาทของลูกเขยและแม่ยาย ที่ต้องออกมาต่อสู้ชีวิตร่วมกันยังต่างแดนใน Minari ได้อย่างหมดจดงดงาม ซึ่งหากเราลองพิจารณาจากจำนวนของนักแสดงเชื้อชาติอื่นที่ไม่ใช่ชาวตะวันตกผิวขาวที่มีมากถึง 9 รายในปีนี้ (จากผู้เข้าชิงสาขาการแสดง 4 สาขาทั้งหมด 20 คน) ก็ถือได้ว่ามีสัดส่วนเกือบครึ่ง และเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนๆ โดยนอกจากยอนและยุนยอจองแล้ว นักแสดงเอเชียอีกคนที่เข้าชิงในสาขานักแสดงนำชายก็คือ ริซ อาห์เหม็ด จากบทมือกลองวงดนตรีแนวเมทัลที่กำลังสูญเสียการได้ยินในหนัง Sound of Metal (2019, กำกับโดย ดาริอุส มาร์เดอร์) ที่แม้จะใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก แต่พ่อแม่ของเขาก็มีพื้นเพมาจากปากีสถาน

Ma Rainey’s Black Bottom
Ma Rainey’s Black Bottom

หรือจะเป็นการเข้าชิงในสาขาผู้กำกับของ ลี ไอแซก จอง จาก Minari และ โคลอี เจา จากหนังดราม่าแรงงานเร่ร่อน Nomadland (2021) ที่ต่างก็เป็นคนเอเชียด้วยกันทั้งคู่ โดยฝ่ายแรกเป็นคนเชื้อสายเกาหลีผู้เกิดและเติบโตในอเมริกา ที่พาทั้งหนัง นักแสดง และตัวเองเข้าชิงรางวัลมาหลายเวที ขณะที่ฝ่ายหลังเป็นชาวจีนผู้เคยอยู่ทั้งอังกฤษและอเมริกา ที่เพิ่งคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม ทั้งจากลูกโลกทองคำ และ Critics’ Choice มาหมาดๆ แถมหนังของเธอยังชนะรางวัลใหญ่อย่าง "สิงโตทองคำ" หรือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังนานาชาติเวนิสมาได้ก่อนหน้านี้ด้วย (ซึ่งอีกประเด็นหนึ่งที่น่าพูดถึงก็คือ มันถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของออสการ์ที่มีผู้หญิงชิงรางวัลผู้กำกับพร้อมกันถึง 2 คน เพราะนอกจากเจา ที่ทำสถิติเป็นผู้หญิงคนแรกที่มีชื่อชิงออสการ์ 4 รางวัลได้ในคราวเดียว ก็ยังมี เอมเมอรัลด์ เฟนเนลล์ จาก Promising Young Woman อีกราย)

...

นอกจากคนทำหนังชาวเอเชียที่ยึดหัวหาดออสการ์ในปีนี้แล้ว ทางฝั่งคนทำหนังผิวดำก็เจิดจรัสไม่แพ้กัน เพราะเฉพาะในสาขาการแสดงก็มีนักแสดงผิวดำมากถึง 6 คนแล้ว เช่น ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ที่ แชดวิก โบสแมน นักแสดงหนุ่มที่ผู้ชมบ้านเรารู้จักกันดีจากบทฝ่าบาท แบล็ค แพนเธอร์ แห่งค่าย Marvel ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งไปเมื่อปลายปีก่อน ได้เข้าชิงจากหนังชีวิตศิลปินเพลงบลูส์ อย่าง Ma Rainey’s Black Bottom (2020, จอร์จ ซี วูล์ฟ) หรือในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ที่ทั้ง แดเนียล คาลูยา และ ลาคีธ สแตนฟิลด์ ได้เข้าชิงจากหนังเรียกร้องสิทธิคนผิวดำอย่าง Judas and the Black Messiah (2021, ชากา คิง) โดยการเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของหนังเรื่องหลังนี้ ยังได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้เข้าชิงหนังยอดเยี่ยมรายแรกที่มีรายชื่อโปรดิวเซอร์ทั้งหมดเป็นคนผิวดำด้วย

Mank
Mank

...


วิถีทางใหม่ใน ‘ยุคโรคระบาด’ ที่กำลังส่งอิทธิพลต่อแวดวงหนังโลกทุกภาคส่วน

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ ความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่ปรากฏชัดในแวดวงภาพยนตร์โลกก็คือ ผลงานหนังจากการผลิตของค่ายสตรีมมิง เซอร์วิส (Streaming Service) ได้ค่อยๆ คืบคลานเข้ามายึดครองพื้นที่บนเวทีรางวัลต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในปี 2021 นี้ ที่เราอาจยกให้ Netflix คือผู้นำของตลาดอย่างแท้จริง เนื่องจากบุคลากรจากผลงานของค่ายนี้มีชื่อเข้าชิงออสการ์รวมกันมากถึง 35 รางวัล โดยมี Mank (2020) หนังขาว-ดำของ เดวิด ฟินเชอร์ ที่เล่าเรื่องราวความบ้าคลั่งของคนเขียนบทหนังฮอลลีวูดยุคคลาสสิก เป็นหนังที่สามารถเข้าชิงรางวัลสูงสุดถึง 10 รางวัล ขณะที่ค่ายสตรีมมิงฯ อย่าง Amazon Prime ก็ไม่น้อยหน้า เพราะมีจำนวนผู้เข้าชิงอยู่ที่ 12 รางวัล ทั้งจาก Sound of Metal, One Night in Miami... (2020, เรจินา คิง) และ Borat Subsequent Moviefilm (2020, เจสัน โวลิเนอร์)

ปัจจัยส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้เกิดจากพฤติกรรมการดูหนังของผู้คนในยุคโควิด-19 ที่เลือกเสพสื่ออยู่ในที่พักอาศัยเป็นหลัก บริการสตรีมมิง เซอร์วิส หรือช่องทางการดูหนัง/ซีรีส์ออนไลน์ อย่าง Netflix, Amazon Prime, HBO Max หรือ Disney Plus จึงมียอดผู้เข้าชมเพิ่มสูงขึ้นอย่างถล่มทลาย ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้กระทบไปถึงระบบการเผยแพร่หนังในรูปแบบเดิมๆ อย่างไม่ต้องสงสัย โรงหนังหลายแห่งทั่วโลกต้องปิดตัวลงทั้งแบบชั่วคราว และถาวร, ค่ายหนังยักษ์ใหญ่ที่ไม่เคยเหลียวแลช่องทางสตรีมมิงฯ ก็หันมาปล่อยหนังฉายตามโรงปกติควบคู่ไปกับช่องทางออนไลน์ รวมถึงเทศกาลฉายหนังนานาชาติระดับโลกที่หลายเจ้าก็หันมาจัดงาน และฉายหนังผ่านอินเทอร์เน็ตโดยพร้อมเพรียงกัน

...

เช่นเดียวกับการจัดงานประกาศผลรางวัลสำคัญๆ ที่ก็ต้องปรับเปลี่ยนลักษณะการจัดงานให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จากรูปแบบเดิมที่มักเปิดพื้นที่ให้ผู้คนทั่วฟ้าฮอลลีวูดเข้าร่วมสังสรรค์กัน มาสู่รูปแบบใหม่ที่ต้องหลีกเลี่ยงการพบปะสัมผัสตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งงานลูกโลกทองคำที่ให้เหล่าผู้เข้าชิงถ่ายทอดสดตัวเองในชุดเดินพรมแดงจากที่บ้านมาลุ้นผลกันแบบออนไลน์ และงานออสการ์ครั้งนี้ที่แม้จะถูกจัดขึ้นในสถานที่จริงอย่าง Dolby Theater โรงละครเจ้าประจำของงาน และ Los Angeles Union Station ซึ่งเป็นสถานีรถไฟประจำเมืองที่เปิดโล่ง แต่ก็น่าจะต้องมีมาตรการต่างๆ เพื่อจำกัดจำนวน และดูแลสุขภาวะของผู้เข้าร่วมงานที่เข้มงวดกวดขันมากกว่าครั้งไหนๆ ซึ่งเราก็คงต้องรอดูจากงานประกาศผลรางวัลในวันที่ 25 เมษายนที่จะถึงนี้ ที่ถูกเลื่อนจากกำหนดการเดิมมานานเกือบสองเดือน เพราะวิกฤติจากโรคระบาด

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่านอกเหนือจากการเตรียมลุ้นผลแพ้-ชนะในงานประกาศรางวัลแล้ว ‘คนดูหนัง’ ธรรมดาๆ อย่างเราก็สามารถสนุกไปกับการ "ถอดรหัส" สิ่งต่างๆ ที่พ่วงมาพร้อมการจัดงานเหล่านี้ได้ด้วย เพราะเวทีรางวัลไม่ได้เป็นเพียงโชว์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ตัวผลงานหรือช่วยส่งมอบกำลังใจให้คนทำงานในสาขาต่างๆ เท่านั้น แต่ยังสามารถสะท้อนถึงวิธีคิดและความเป็นไปของวงการภาพยนตร์ และผู้คนอันหลากหลายในโลกยุคปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่งานออสการ์ครั้งนี้ช่วยบอก "อะไรบางอย่าง" กับเราได้อย่างไม่น่าเชื่อนั่นเอง


ย้อนดูรายชื่อผู้เข้าชิงออสการ์ 2021 ได้ ที่นี่


อ้างอิง: Film Club, Wikipedia, Variety, Distractify