เป็นประสบการณ์การดูหนังดราม่าครอบครัวที่แปลกใหม่ ทั้งหดหู่และกินใจไปในเวลาเดียวกัน


ใครว่าการแต่งงานเป็นจุดจบของทุกอย่าง...

ถ้ามีคนบอกว่าการ “รัก” ใครสักคนทำให้เรา “สติ” หลุดได้มากขนาดไหน ขอให้ลองมาดู “Marriage Story” จะได้รู้ว่าการ “เลิก” รักใครสักคนก็ทำให้ “สติ” แตกไม่แพ้กัน

ทำใจไว้แล้วตั้งแต่ก่อนดูว่าคงจะ “เครียด” แต่ก็ไม่คิดว่าหนังจะทำให้เรา “สติแตก” ขนาดนี้ บอกเลยว่าหนังมีหลากอารมณ์มาก ตั้งแต่ รักหวานชื่นไปจนโกรธเกลียดจนมองหน้ากันไม่ติด

เอาจริงๆ...จัดเป็นประสบการณ์ใหม่ของการดู “หนังรัก” ที่เรียกว่าเป็นหนังรักเพราะจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมดก็มาจาก “ความรัก” และมันก็พังเพราะ “ความรัก” อีกเช่นกัน

“ชาร์ลี” (Adam Driver) และ “นิโคล” (Scarlett Johansson) คู่สามีภรรยา ตัวละครหลักของเรื่อง
“ชาร์ลี” (Adam Driver) และ “นิโคล” (Scarlett Johansson) คู่สามีภรรยา ตัวละครหลักของเรื่อง

...

เรื่องของเรื่องมันมีอยู่ว่า...”Marriage Story” ไม่ได้เป็นหนังรักของคู่รักหวานแหวว หรือแม้แต่คู่แต่งงานที่พยายามหาทางกลับมาหวานชื่น แต่มันเป็นเรื่องราวของ “คู่แต่งงาน” ที่กำลังเดินทางมาถึงทางตัน

“ชาร์ลี” (Adam Driver) และ “นิโคล” (Scarlett Johansson) คู่สามีภรรยา ตัวละครหลักของเรื่อง
“ชาร์ลี” (Adam Driver) และ “นิโคล” (Scarlett Johansson) คู่สามีภรรยา ตัวละครหลักของเรื่อง

“ชาร์ลี” (Adam Driver) และ “นิโคล” (Scarlett Johansson) คู่แต่งงานที่อยู่กินกันมาหลายปี มีลูกชายด้วยกันหนึ่งคน ทั้งสามอยู่ด้วยกันที่นิวยอร์ก ทุกอย่างน่าจะเป็นไปด้วยดี แต่ใครจะรู้ว่าภายใต้บรรยากาศที่ทุกคนมองว่ามัน “โอเค” กลับมี “ระเบิดเวลา” ซ่อนอยู่

หนังเริ่มต้นที่การทำความรู้จักตัวละครหลักทั้งสองคือ “ชาร์ลี” และ “นิโคล” ทั้งสองเป็นศิลปินคร่ำหวอดในวงการละครเวทีและทีวีมานาน กระทั่ง “ชาร์ลี” ประสบความสำเร็จในฐานะผู้กำกับละครเวที ส่วน “นิโคล” ก็ตัดสินใจรับงานแสดงทีวีที่แอลเอ (Los Angeles)

ส่วนตัวคิดว่าคาแรกเตอร์ของตัวละครหลักทั้งสองมีความน่าสนใจมาก มันมีความกลมและ “เรียล” อย่างบอกไม่ถูก คือเป็นคาแรกเตอร์ที่พบเห็นได้ทั่วไปและไม่น่าจะมีปัญหา แต่ก็เพราะเรื่อง “เรียบๆ” นี่แหละที่หลายคนมองข้าม และนี่น่าจะเป็นความเจ๋งของหนังที่ทำให้เราเห็นความยากลำบากของการใช้ชีวิตคู่ โดยเฉพาะเรื่องการปรับตัว ในแบบที่หนังเรื่องอื่นไม่มี

...

นับว่า “เคมี” ของทั้ง “Adam” และ “Scarlett” เข้ากันได้ดีทีเดียว เอาจริงๆ...เราแอบรู้สึกขัดกับส่วนสูงที่แตกต่างของทั้งคู่ ซึ่งเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่องมากๆ แต่การแสดงของทั้งคู่ก็ทำให้เรื่องสมูทได้ไม่ยาก แม้จะ “หดหู่” กับการห้ำหั่นระหว่างสองสามีภรรยาแต่เราก็อด “ลุ้น” ไม่ได้ว่าเรื่องราวของทั้งคู่จะไปจบลงที่ตรงไหน

“ชาร์ลี” (Adam Driver) และ “นิโคล” (Scarlett Johansson) คู่สามีภรรยา ตัวละครหลักของเรื่อง
“ชาร์ลี” (Adam Driver) และ “นิโคล” (Scarlett Johansson) คู่สามีภรรยา ตัวละครหลักของเรื่อง

นอกจากความสัมพันธ์ (ลุ่มๆ ดอนๆ) อันสมจริงของคู่สามีภรรยาแล้ว หนังยังนำเสนอ “มิติ” อื่นๆ ของการแต่งงาน ทั้งบทบาทความเป็นพ่อแม่ สามีภรรยาและที่เป็นโฟกัสของเรื่องนี้เลยคือ “การหย่าร้าง” ที่นำมาซึ่งความเสียสติของคนทั้งคู่

...

“การหย่าร้าง” ที่ในปัจจุบันแทบจะกลายเป็นเรื่องสามัญธรรมดา แต่ใครจะรู้ว่ากระบวนการของมัน โดยเฉพาะที่ผ่านการฟ้องร้องจะ “เลือดเย็น” และ “น่าอับอาย” ขนาดไหน...

บรรยากาศการไกล่เกลี่ยการหย่า
บรรยากาศการไกล่เกลี่ยการหย่า

แน่นอนว่าหนังเค้นให้มีเรื่องดราม่าเกิดขึ้นมากมายระหว่างกระบวนการหย่าร้างของ “ชาร์ลี” กับ “นิโคล” แต่มันก็สะท้อนความจริงในยุคปัจจุบันได้ดีว่า “การหย่าร้าง” อาจไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคนเมื่อต้องผ่านการฟ้องร้อง แต่มันจะกลายเป็นเรื่องลูกตุ้มหนักๆ ถ่วงคอทั้งสามีและภรรยาคู่กรณีและคนรอบตัวไปจนกว่าเรื่องจะจบ

ที่สำคัญ...หนังยังสะท้อนและจงใจเสียดสีกระบวนการหย่าร้างผ่านฟ้องร้องว่ามันอาจไม่ใช่แค่เรื่องการเรียกร้องความยุติธรรมให้แค่คู่สามีภรรยาและบุตรธิดา แต่มันเป็นเรื่องของ “ธุรกิจ” ที่ทนายความจะกอบโกยผลประโยชน์จากความขัดแย้งนี้

...

แต่ที่มันเหนือไปกว่านั้นคือนอกจากตีแผ่ด้านมืดของ “ชีวิตแต่งงาน” และ “การหย่าร้าง” หนังยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของ “การสื่อสาร” ของคนยุคนี้ที่นับวันจะพูดกันตรงๆ น้อยลงทุกที ทำให้ต้องมี “คนกลาง” ที่ในบางกรณีอาจทำให้เรื่องเลวร้ายลงกว่าเดิม

คำว่า “สาวไส้ให้กากิน” น่าจะเป็นหนึ่งในหลายๆ คำที่นึกถึงตอนดูหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะฉากที่ห้ำหั่นกันระหว่างทนายสองฝั่งที่ต่างก็ขุดเรื่องเลวร้ายของแต่ละฝ่ายมาประจานต่อหน้าศาลและคณะลูกขุน น่าแปลกที่ซีนแบบนี้น่าจะพบเห็นได้บ่อยๆ ในศาลครอบครัว น่าจะเป็นเรื่อง “ธรรมดา” แต่ไม่รู้สิ...สำหรับเรามัน “หดหู่” และ “สะเทือนใจ” มากที่คน “เคยรัก” (เอ๊ะ...หรือก็ยังรัก) ต้องมารบรากันด้วยวิธีการ “ป่าเถื่อน” และหยาบคายเช่นนี้

สุดท้ายที่นึกถึงหลังดูจบคือประโยคที่ว่า “การแต่งงานเป็นเรื่องของคนสองคน” แน่นอนว่าครอบครัวอาจมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง แต่สุดท้ายเมื่อมีปัญหา อะไรก็ไม่สำคัญเท่าคนสองคนที่ใช้ชีวิตคู่กันต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อพูดคุยและเปิดอกถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หาไม่แล้ว...เรื่องไม่เป็นเรื่องก็อาจกลาย “เป็นเรื่อง” ได้เหมือนในเรื่องนี้

เราเขียนถึงช้าไปหน่อยแต่คิดว่าหนังดีทีเดียว ส่วนตัวคิดว่าเป็นประสบการณ์แปลกใหม่สำหรับหนังรักดราม่าครอบครัวที่ไม่เคยเจอในหนังเรื่องไหน ที่สำคัญหนังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนี้ด้วย ถ้าอยากรู้ว่าหนังน่าลุ้นให้ได้รางวัลหรือไม่ก็ลองไปดูกันได้ทาง #Netflix นะคะ

มาดามอองทัวร์
@MadamAutuer

XXXXXX