“อัยการคดีพิเศษ” มีความเห็นไม่ฟ้อง “บอสแซม-บอสมิน” คดีดิ ไอคอน กรุ๊ป แจงเหตุมีความเห็นสวนดีเอสไอที่สั่งฟ้อง เพราะเห็นว่าผู้ต้องหาทั้ง 2 คนมีพยาน หลักฐานไม่พอรับฟังได้ว่าร่วมกระทำความผิดกับผู้ต้องหาอื่น ส่วนผู้ต้องหาอีก 16 คน รวมทั้ง “บอสพอล-บอสกันต์” และ 1 นิติบุคคล สั่งฟ้องกราวรูด หลังอัยการมีความเห็นเรือนจำรอหมายปล่อยจากศาล ได้เมื่อไหร่สามารถปล่อยตัวจากเรือนจำได้ทันที ด้าน “ดีเอสไอ” รีบแถลง ขอพิจารณาเหตุผลของอัยการอย่างละเอียดก่อน แล้วจะพิจารณามีความเห็นแย้งหรือไม่ภายใน 30 วันถ้าดีเอสไอแย้งต้องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาด ส่วน สคบ.แถลงสั่งเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงของบริษัทดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด เพราะฝ่าฝืนมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง 2545

กรณีการสืบสวนคลี่คลายคดีบริษัทดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด ดำเนินธุรกิจขายตรงเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ กล่าวหาหลอกให้ลงทุนและหาลูกข่ายมาเป็นสมาชิก สร้างความน่าเชื่อถือด้วยการนำดารานักแสดงชื่อดังมาร่วม หลังกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เดินเครื่องสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหา 18 คน ตั้งแต่นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล เจ้าของ นายยุรนันท์ หรือบอสแซม ภมรมนตรี น.ส.พีชญา หรือบอสมิน วัฒนามนตรี และนายกันต์ หรือบอสกันต์ กันตถาวร รวมถึงแม่ข่ายและผู้เกี่ยวข้อง คุมตัวฝากขังเข้าเรือนจำไปแล้ว ต่อมาโอนสำนวนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พิจารณาแจ้งข้อหากู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ และ พ.ร.บ.ขายตรงฯเพิ่มเติมในเรือนจำ ส่งสำนวนให้คณะทำงานพนักงานอัยการพิจารณาสั่งคดีตามที่เสนอข่าวไปแล้ว

ความคืบหน้าจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 8 ม.ค. นายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการ ฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า ตามที่สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.67 คดีระหว่างนายณัฏฐ์ ธนาพิพัฒน์ดลภัค กับพวก ผู้กล่าวหาบริษัทดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกรวม 19 คน ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรง ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต

...

เหตุเกิดระหว่างวันที่ 12 ส.ค.63 ถึงวันที่ 31 ส.ค.67 ท้องที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ และหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต่อเนื่องกัน คิดเป็นค่าเสียหายรวมประมาณ 649,912,290 บาท เนื่องจากคดีนี้มีผู้เสียหายจำนวนมาก เป็นคดีที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ ถือเป็นคดีสำคัญตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด มีคำสั่งตั้งคณะทำงานร่วมกันพิจารณา บัดนี้สำนักงานคดีพิเศษพิจารณาสำนวนดังกล่าวแล้วมีความเห็นและคำสั่งดังนี้

นายศักดิ์เกษมกล่าวว่า อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องบริษัทดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด โดยนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล กรรมการผู้มีอำนาจ ผู้ต้องหาที่ 1 นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล ผู้ต้องหาที่ 2 นายจิระวัฒน์ แสงภักดี หรือบอสแล็ป ผู้ต้องหาที่ 3 นายกลด เศรษฐนันท์ หรือบอสปีเตอร์ ผู้ต้องหาที่ 4 น.ส.ปัญจรัศม์ กนกรักษ์ธนพร หรือบอสปัน ผู้ต้องหาที่ 5 นายฐานานนท์ หิรัญไชยวรรณ หรือบอสหมอเอก ผู้ต้องหาที่ 6 น.ส.นัฐปสรณ์ ฉัตรธนสรณ์ หรือบอสสวย ผู้ต้องหาที่ 7 น.ส.ญาสิกัญจณ์ เอกชิสนุพงศ์ หรือบอสโซดา ผู้ต้องหาที่ 8 นายนันทธรัฐ เชาวนปรีชา หรือบอสโอม ผู้ต้องหาที่ 9 นายธวิณทรภัส ภูพัฒนรินทร์ หรือบอสวิน ผู้ต้องหาที่ 10 น.ส.กนกธร ปูรณะสุคนธ์ หรือบอสแม่หญิง ผู้ต้องหาที่ 11 น.ส.เสาวภา วงษ์สาขา หรือบอสอูมมี ผู้ต้องหาที่ 12 นายเชษฐ์ณภัฏ อภิพัฒนกานต์ หรือบอสทอมมี่ ผู้ต้องหาที่ 13 นายหัสยานนท์ เอกชิสนุพงศ์ หรือบอสป๊อบ ผู้ต้องหาที่ 14 นางวิไลลักษณ์ ยาวิชัย หรือบอสจอย ผู้ต้องหาที่ 15 นายธนะโรจน์ ธิติจริยาวัชร์ หรือบอสออฟ ผู้ต้องหาที่ 16 และนายกันต์ กันตถาวร หรือบอสกันต์ ผู้ต้องหาที่ 19

“ตามข้อหาฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง 2545 มาตรา 3 19 20 38 46 47 และ 54 พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2534 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ.2560 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ตามความเห็นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 17 ต่อศาลอาญาวันนี้ ศาลอาญารับไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อทย.14/2568 ศาลอาญานัดสอบคำให้การจำเลยที่ถูกฟ้องวันที่ 9 ม.ค. เวลา 09.00 น.” นายศักดิ์เกษมกล่าว

นายศักดิ์เกษมกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือบอสแซม ผู้ต้องหาที่ 17 และ น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี หรือบอสมิน ผู้ต้องหาที่ 18 แย้งความเห็นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษจะดำเนินการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวผู้ต้องหาต่อศาลอาญา และจะดำเนินการส่งสำนวนพร้อมความเห็นคำสั่งไม่ฟ้องไปยังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาว่าจะมีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าสาเหตุที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง นายยุรนันท์ และ น.ส.พีชญา สาเหตุจากอะไร นายศักดิ์เกษมตอบว่า เหตุผลที่อัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะยังมีส่วนของผู้ต้องหาที่ถูกสั่งฟ้องและคำสั่งไม่ฟ้องยังไม่เด็ดขาด ต้องเสนอต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือเห็นแย้ง จึงไม่สามารถกล่าวถึงรายละเอียดทั้งหมดได้ กล่าวได้เพียงว่า ผู้ต้องหาทั้งสองมีพยานหลักฐานไม่พอรับฟังได้ว่าทั้งคู่ร่วมกระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวกับผู้ต้องหาอื่น การพิจารณาคดีนี้คณะทำงานทุกคนไม่มีใครได้หยุดช่วงปีใหม่เลย สำนวนคดีนี้มีเอกสารมากกว่า 3 แสนหน้า สอบพยานหลักฐานหลายพันคน ทำให้คณะทำงานต้องทำงานอย่างละเอียด และยังมีผู้ร้องขอความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่ายที่คณะทำงานต้องพิจารณาอีก ผู้ต้องหาทุกคนจะครบฝากขังในวันนี้ ทำให้คณะทำงานต้องเร่งทำให้เสร็จ ก่อนครบกำหนดฝากขัง

ต่อข้อถามว่าเมื่อมีคำสั่งไม่ฟ้องนายยุรนันท์และ น.ส.พีชญาในวันนี้ ต้องปล่อยตัวเลยหรือไม่ เพราะครบกำหนดฝากขังครั้งสุดท้ายวันนี้ นายศักดิ์เกษมกล่าวว่า ในทางปฏิบัติเมื่ออัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ต้องยื่นคำร้องต่อศาลให้ปล่อยผู้ต้องหาที่สั่งไม่ฟ้อง หลังจากนั้นต้องปล่อยตัวไม่ว่าจะครบกำหนดฝากขังหรือไม่ ส่วนประเด็นการสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดหรือไม่ ต้องรอเสนออธิบดีดีเอสไออีกครั้ง

...

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวถึงกรณีอัยการคดีพิเศษมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือบอสแซม และ น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี หรือบอสมิน ทุกข้อกล่าวหาว่า โดยกระบวนการทางกฎหมายพนักงานอัยการจะส่งคำสั่งไม่ฟ้องพร้อมความเห็นและเหตุผลกลับมาที่ดีเอสไอ จากนั้นดีเอสไอจะพิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่ตามที่อัยการแจ้งมา ถ้ากรณีเห็นด้วยต้องแจ้งกลับไปยังอัยการคดีพิเศษ ถือว่าจบซึ่งคำสั่งไม่ฟ้อง แต่ถ้าเห็นว่ายังมีเหตุผลควรฟ้องอยู่ จะมีความเห็นแย้งไปตามขั้นตอน ต้องส่งไปที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาด โดยระเบียบภายในดีเอสไอจะพิจารณาความเห็นแย้งหรือไม่แย้งภายใน 30 วัน หากเห็นว่ายังมีเหตุผลที่ควรให้ศาลพิจารณา เป็นหน้าที่ของกองบริหารคดีพิเศษไปรวบรวมเรื่อง ข้อมูล ตรวจความเห็นแย้ง เพื่อนำเสนอต่ออธิบดีดีเอสไอ และสามารถขยายเวลาออกไปได้อีก 30 วัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำนวนที่ดีเอสไอส่งฟ้องไป บอสแซมกับบอสมินต่างกับบอสอื่นอย่างไร พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า บอสสองคนนี้เป็นลักษณะพรีเซนเตอร์ รับรายได้จากการโฆษณาจากบริษัท แต่ปรากฏข้อมูลว่าเป็นบอสที่แสดงตัวเป็นผู้บริหารและมีรายได้จากส่วนแบ่งการประกอบธุรกิจของบริษัท รูปแบบสัญญาจะต่างจากผู้รับโฆษณารายอื่น ส่วนแตกต่างอย่างไร ขอดูรายละเอียดจากอัยการก่อนว่าอัยการให้เหตุผลอย่างไร ส่วนดีเอสไอพิจารณาเห็นว่ามีหลักฐานตามสมควรที่จะฟ้อง กรณีอัยการเห็นต่างต้องมาดูเหตุผลกัน ถามว่าในการสอบสวนของดีเอสไอมีพนักงานอัยการ สำนักงานการสอบสวนร่วมในคณะ เหตุใดเมื่อสำนวนไปถึงอัยการคดีพิเศษจึงสั่งไม่ฟ้องบางคน โฆษกดีเอสไอกล่าวว่า อัยการเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในคดีเฉพาะส่วนที่ดีเอสไอขอคำปรึกษา แต่การพิจารณาลงความเห็นฟ้องนั้น พนักงานสอบสวนเป็นผู้มีความเห็น เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาคดีโดยปกติ

...

ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร นายมานพ ชมชื่น ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรือนจำพร้อมดำเนินการปล่อยตัวนายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือบอสแซม ทันทีที่หมายปล่อยจากศาลมาถึง ส่วนทางด้านทัณฑสถานหญิงกลาง ยืนยันว่า พร้อมดำเนินการปล่อยตัว น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี หรือบอสมิน เช่นกัน เพียงแต่ขณะนี้ยังต้องรอหมายปล่อยตัวจากศาลก่อน

ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) น.ส.ทรงศิริ จุมพล รองเลขาธิการ สคบ. รักษาราชการแทนเลขาธิการ สคบ.เผยว่า เมื่อวันที่ 7 ม.ค. สคบ.เพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงของบริษัทดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 อาศัยอำนาจตาม ม.3 ม.5 ม.44 และ ม.53 วรรคสอง (3) (5) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ในการคำสั่งเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงของบริษัทดิ ไอคอน กรุ๊ป

“ตามที่เลขาธิการ สคบ.ฐานะนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ขายตรงและตลาดแบบตรง 2545 รับจดทะเบียนประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงให้แก่ บริษัทดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด ทะเบียนนิติบุคคลเลขที่ 0105561093893 เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2562 เพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารและเครื่องสำอางผ่านเว็บไซต์ www.theicon.co.th วิธีการทำตลาดสินค้าหรือบริการลักษณะสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง” น.ส.ทรงศิริกล่าว

รรท.เลขาฯ สคบ.กล่าวต่อว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2565 บริษัทฯยื่นคำขอแก้ไขช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านเว็บไซต์เป็น www.theicongroup.co.th แต่หลังจากที่ได้รับการจดทะเบียนให้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง 2545 ว่า เมื่อเข้าไปดูสินค้าเลือกรายการลงตะกร้าชำระเงินตามขั้นตอน ปรากฏว่าไม่สามารถชำระเงินได้ เว็บไซต์ดังกล่าวขึ้นข้อความว่า “Something is not right! กรุณาเข้าเว็บไซต์ของตัวแทนเพื่อสั่งซื้อสินค้า” อีกทั้งยังมีข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนผู้เสียหายให้ถ้อยคำว่า “ผู้บริโภคไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทฯได้โดยตรง จะสั่งซื้อได้ผ่านลิงก์ของตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น”

...

“ประกอบกับมีผู้เสียหายให้การว่า หากชักชวนให้ร่วมลงทุนเป็นตัวแทนจำหน่ายตำแหน่งดีลเลอร์เป็นเงิน 250,000 บาท ผู้ชักชวนจะได้รับค่าตอบแทนจากผู้สมัครใหม่ 10,000-15.000 บาทต่อ 1 ดีลเลอร์ พฤติกรรมดังกล่าว รวมทั้งวิธีการดำเนินธุรกิจลักษณะไม่ได้มุ่งเน้นการขายสินค้า กลับมุ่งเน้นให้สมาชิกเก่าหาสมาชิกใหม่เพื่อได้รับผลตอบแทน รายได้หลักเกิดจากมีผู้สมัครรายใหม่ตำแหน่งดีลเลอร์ต่อๆกัน เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเครือข่ายในธุรกิจตลาดแบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่าย คำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นอันเป็นการกระทำฝ่าฝืนมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง 2545 สคบ.จึงเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงของบริษัทดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด” น.ส.ทรงศิริกล่าว

ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เวลา 17.00 น. มีรถยนต์โตโยต้า เวลไฟร์สีขาว ทะเบียน ฐธ 78 กรุงเทพมหานคร มีนายเคลวิน ตีรวัฒนานนท์ แฟนหนุ่มของมินนั่งมาในรถขับเข้าไปจอดลานด้านหน้าทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อรอรับ น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี หรือบอสมิน หลังอัยการคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้องพร้อมกับนายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือบอสแซม ต่อมาเวลา 18.30 น. มิน-พีชญา นั่งรถคันดังกล่าวออกมา พร้อมเปิดกระจกรถตอบคำถามผู้สื่อข่าวสั้นๆพร้อมยกมือไหว้ว่า “วันนี้มันก็พิสูจน์แล้ว ขอบคุณกระบวนการยุติธรรมและทัณฑสถานที่ดูแลมินเป็นอย่างดี พร้อมขอบคุณแฟนคลับทุกคนด้วยที่เป็นกำลังใจให้ ทวงคืนความยุติธรรมให้กับมิน ส่วนเรื่องสุขภาพร่างกายตอนนี้ขอกลับไปพักฟื้นดูแลตัวเองก่อน น้ำหนักลงเยอะ แต่ไม่ถึงกับต้องพักกายพักใจ

“สำหรับเรื่องงานสามารถติดต่อมาได้ จะให้ผู้จัดการช่วยดูอีกครั้ง อย่างที่แถลงข่าวไปตั้งแต่แรกว่า ยินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม วันนี้มินขอแค่นี้ก่อนนะคะ ขอบคุณทุกกำลังใจ มินได้กำลังใจดีจากครอบครัว จากนี้ขอไปใช้ชีวิตกับครอบครัวก่อน และขอใช้เวลาในการปรับตัว” มินกล่าว เมื่อถูกถามว่าจากนี้ต้องไปขึ้นศาลอีกหรือไม่ มินส่ายหน้า พร้อมยกมือไหว้บอกว่า “วันนี้ขอเท่านี้ก่อน ขอไปอยู่กับครอบครัวถ้ามีโอกาสจะแถลงข่าวอีกที”

ส่วนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หมายปล่อยตัวจากศาลส่งไปถึงเรือนจำแล้วเช่นกัน หลังจากนั้นเรือนจำปล่อยตัว แซม-ยุรนันท์ ออกมาเช่นเดียวกัน ท่ามกลางความดีใจของครอบครัวที่เดินทางมารอรับ

ล่าสุดเวลา 18.50 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร นางมาริษา ภมรมนตรี ภรรยา นายยุรการ ภมรมนตรี ลูกชาย และ น.ส.ยุรริษา ภมรมนตรี ลูกสาว ของนายแซม-ยุรนันท์ และทนายความเดินทางมารับตัวแซม-ยุรนันท์ ด้วยรถตู้ฮุนไดสีขาว ภรรยานำเสื้อผ้าพร้อมรองเท้าลงจากรถเข้าไปด้านในเรือนจำเพื่อให้แซมเปลี่ยน โดยนำพระพุทธรูปใส่พานมาให้สักการะด้วย ระหว่างเดินเข้าไปรับแซม-ยุรนันท์ นายยุรการ ลูกชาย เผยว่า ขอบคุณที่เดินทางมารับพ่อด้วยกัน หลังอัยการสั่งไม่ฟ้องรู้สึกดีใจ ผู้สื่อข่าวถามว่า สาเหตุที่อัยการไม่สั่งฟ้อง นายยุรการส่ายหน้าไม่ตอบ

ต่อมาเวลา 20.08 น. แซม-ยุรนันท์ เดินออกมาบริเวณประตูสวมเสื้อโปโลแขนยาวลายทางสีเทาดำ สวมกางเกงสแล็กสีดำ ปิดบังใบหน้าด้วยการสวมหมวกสีดำและใส่แมสก์สีขาว เดินไปไหว้ศาลจิตรคุปต์ และมาสวมกอดครอบครัวด้วยสีหน้ามีความสุข แซม-ยุรนันท์ เดินออกมาจากเรือนจำโดยถือพระพุทธรูปออกมาพร้อมกล่าวว่า ขอบคุณที่มาต้อนรับวันนี้ ขอบคุณกระบวนการยุติธรรม ส่วนหลังจากนี้จะแถลงเปิดใจหรือไม่ ขอกลับบ้านก่อน ถามถึงในส่วนของคดีจะดำเนินการอย่างไรต่อ หลังอัยการสั่งไม่ฟ้อง แซม-ยุรนันท์ไม่ตอบ แต่พูดย้ำอีกครั้งว่าขอกลับบ้านก่อน ก่อนที่ตัวแซม-ยุรนันท์ จะเดินขึ้นรถไปพร้อมกับหันมายกมือไหว้ขอบคุณสื่อและโบกมือลา

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่