เป็นที่ทราบกันอย่างดีแล้วว่า ทีมงานซอกแซกแห่งคอลัมน์ “ซูม ซอกแซก” วันอาทิตย์ ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐนั้น มีความชื่นชมและชื่นชอบในการฟังเพลงทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นลูกทุ่ง, ลูกกรุง, สุนทราภรณ์ เพลงสากลธรรมดา, เพลงสากลประเภทป๊อปประเภทร็อก ไปจนถึงเพลงคลาสสิกต่างๆ

เมื่อดนตรีประเภทใด หรือเพลงในลักษณะใดเกิดท็อปฮิต กลายเป็นเรื่องที่พูดถึงกันอย่างฮือฮาในแต่ละช่วงเวลา...ก็จะนำมาเขียนถึงอยู่เสมอ

ไม่นานมานี้ก็เพิ่งจะเขียนถึงเพลง Sweet Caroline เพลงฮิตอมตะกว่า 50 ปี ของ นีล ไดมอนด์ ที่มีการนำมาร้องในสนามกีฬาเพื่อเชียร์กีฬา อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลประเภทมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ และล่าสุดก็กลายมาเป็นเพลงเชียร์ประจำทีม “สิงโตหญิง” หรือทีมนักฟุตบอลหญิงของอังกฤษที่คว้าแชมป์ยุโรปเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว ซึ่งได้มีการนำเพลง Sweet Caroline มาขับร้องทั้งในสนามเวมบลีย์ และในวันแห่ถ้วยชนะเลิศไปรอบๆกรุงลอนดอน

วันนี้ได้เวลาที่จะปรับโหมดเข้าสู่ “เพลงลูกทุ่ง” อีกครั้งละครับ เป็น “ลูกทุ่ง” ระดับโรงเรียนมัธยมที่เคยดังมากเมื่อ 20 กว่าปีก่อน และเลิกราไปพักหนึ่ง แต่เพิ่งจะกลับมาโด่งดังอีกหน เมื่อไม่นานมานี้เอง

รายการ “ชิงช้าสวรรค์ 2022” ของช่อง เวิร์คพอยท์ หรือช่อง 23 นั่นแหละครับ เป็นข่าวฮือฮามากในโซเชียลมีเดีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

จากผลการแข่งขันในรอบ น็อกเอาต์ 10 โรงเรียนที่จะคัดให้เหลือ 5 โรงเรียน ระหว่างโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ กับ โรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์

...

ผลปรากฏว่า กรรมการให้เสมอกัน โดยกรรมการ 2 ท่านแรก ให้แพ้ชนะกันไปคนละโรงเรียน ได้คนละ 1-1 พอกรรมการท่านที่ 3 ครู หนึ่ง จักรวาล หรือ จักรวาร เสาธงยุติธรรม โปรดิวเซอร์ดนตรีมือต้นๆของประเทศไทยยุคนี้ ซึ่งรับหน้าที่ในการตัดสินด้านดนตรีท่านชี้ออกมาว่า “กินกันไม่ลง” ขอให้เสมอ จึงทำให้คะแนนของทั้งคู่เสมอกัน 1 ต่อ 1 เข้ารอบไปด้วยกันทั้งคู่

เท่านั้นเอง กระแสในโซเชียลก็กระหึ่มขึ้นมาในบัดดล เล่นงานกรรมการเสียเละเป็นหมูบะช่อ เพราะส่วนใหญ่มองว่าโรงเรียนยุพราช เชียงใหม่เหนือกว่า ควรเป็นผู้ชนะ

ที่สำคัญกติกา “เสมอ” ไม่ได้บอกล่วงหน้าไว้ จู่ๆมาออกเสมอเช่นนี้เป็นเพราะต้องการจะโหนกระแสของทั้ง 2 ทีม ไว้เรียกเรตติ้งหรือเปล่า

บ้างก็มองว่าไม่ให้ความเป็นธรรมแก่โรงเรียนอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะต้องจบลงด้วยการน็อกเอาต์ หรือชนะเด็ดขาดเท่านั้น ทั้งๆ ที่สูสีกันมากหลายๆคู่ก็เคยมี

หัวหน้าทีมซอกแซกเป็นแฟนรายการชิงช้าสวรรค์มาตั้งแต่รุ่นดึกดำบรรพ์ ที่ ช่อง 9 อสมท ประมาณ พ.ศ.2540 กว่าๆโน่น

ยุคโน้นเป็นแฟนของ โรงเรียนจ่านกร้อง จังหวัดพิษณุโลก ในฐานะที่เป็นคนนครสวรรค์ ใกล้ๆ จังหวัดพิษณุโลก มีความผูกพันด้านเศรษฐกิจสังคมกันอยู่ จึงพลอยเป็นแฟน จ่านกร้อง ไปด้วย

มายุคนี้ที่เรียกว่า “ชิงช้าสวรรค์ 2022” มีการตระเวนไปออดิชันทั่วประเทศแล้วคัดเลือก รอบแรกมา 20 โรงเรียน จับคู่น็อกกัน จนเหลือ 10 โรงเรียนเมื่อจบรอบแรก

พร้อมกับให้ 10 โรงเรียนมาจับคู่ต่อสู้กันต่อ เพื่อให้เหลือ 5 โรงเรียน ในรอบที่ 2 ที่เพิ่งจะเริ่มมาได้ 3 คู่เท่านั้น...ก็เกิดเหตุการณ์ “เสมอกัน” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

โดยส่วนตัวแล้วหัวหน้าทีมชอบรายการนี้ เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่เด็กๆต่างจังหวัด ได้มีทางเลือกในชีวิตของเขามากขึ้น

การเข้าสู่วงการบันเทิงร้องเล่นเต้นระบำ ในยุคหลังไม่มีใครถือว่าเป็นอาชีพเต้นกินรำกินอีกแล้ว ในทางตรงข้าม กับชื่นชมและแสวงหา ไขว่คว้าที่จะเข้าสู่อาชีพนี้กันอย่างล้นหลามเอาเสียอีก

รายการชิงช้าสวรรค์ จึงเท่ากับเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ในการคัดกรองเด็กๆ ให้มีโอกาสไขว่คว้าและเดินไปสู่อาชีพที่ตนรักตนชอบ

แต่สิ่งที่คงต้องฝากไว้ก็คือ กระแสอยากให้ลูก “เป็นเจ้าคนนายคน” อย่างไรเสียก็ยังแรงกว่า “กระแสเต้นกินรำกิน” อยู่ดี เราจึงได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์รายการนี้อยู่ไม่น้อย ว่าเป็นการส่งเสริมเด็กๆที่ผิดทางหรือไม่?

จะเอาเวลาที่ไหน เรียนหนังสือ? จะสอบได้คะแนนดีไหม? จะไปเรียนต่อสูงๆได้ไหม? มัวแต่ซ้อมเพลงซ้อมเต้นกันอยู่นั่นแหละ

จนบางครั้งก็มีข่าวว่าพ่อแม่ผู้ปกครองไปต่อว่าคุณครูถึงโรงเรียน และให้ลูกๆ ถอนตัวออกจากวงด้วยซํ้า

ที่สำคัญการแข่งขันที่นานวันเข้า ก็ยิ่งเว่อร์วัง อลังการมาก หะรูหะรามากขึ้น ต้องใช้เงินใช้ทองมากขึ้น เพราะนิสัยของคนไทยเรานั้น มีอยู่อย่างคือพอแข่งแล้วต้องเอาชนะ

ทำให้การลงทุนมากขึ้นจนกลายเป็นว่า รางวัลที่ได้รับสัปดาห์ละ 2-3 หมื่นนั้น แทบไม่พอซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัว

เท่าที่หัวหน้าทีมนั่งดูการแสดงชุดหลังๆ นี่ก็รู้สึกเว่อร์วังอลังการขึ้นมากจริงๆ และก็ปรากฏว่าโรงเรียนเว่อร์วังก็มักชนะเสียด้วย อาจทำให้เกิดความเชื่อว่าต้องเว่อร์วังจึงจะชนะ จะยิ่งทำให้การลงทุนสูงขึ้นไปอีก

จึงขอฝากให้ทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขัน ได้คำนึงถึงคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ไว้ด้วยเช่นกัน

...

โดยส่วนตัว (อีกครั้ง) ชอบกรรมการชุดนี้ ซึ่งมี ครู สลา คุณวุฒิ ครู หนึ่ง จักรวาล และ ครู เทียม ชุติเดชทองอยู่...โดยเฉพาะครูสลากับครูหนึ่งวิเคราะห์ได้ดีมาก ให้ความรู้และสามารถนำไปแก้ไขปรับปรุง เพื่อไปเป็นนักร้อง นักดนตรีอาชีพได้เลยในอนาคต

พิธีกรเก่า โน้ต เชิญยิ้ม ทำหน้าที่ได้ดีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ส่วนพิธีกรน้องใหม่ เขมนิจ จามิกรณ์ ก็ทำหน้าที่ได้ดีเช่นกัน ทำให้รายการสนุกและน่าติดตามโดยตลอด

ถือเสียว่ารายการ “ทัวร์ลง” ครั้งใหญ่ครั้งนี้ เป็นบทเรียนให้ทุกๆ ฝ่ายได้รู้ว่ารายการนี้ มีคนดูเยอะนะจะบอกให้...ต่อไปต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง จะได้ไม่มี “กองทัพทัวร์” มาลงซํ้าอีกน่ะครับ.

“ซูม”