จากวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการติดต่อสื่อสารภายใต้แนวคิดสังคม ออนไลน์ ปัจจุบัน สารพัดโซเชียลเน็ตเวิร์กกำลังหมุนเข้าสู่ยุคการสร้างตนเอง...
หากไม่นับรวมทวิตเตอร์ (www.twitter.com) ซึ่งมีข้อจำกัดด้านจำนวนตัวอักษร เฟซบุ๊ก (www.facebook.com) อาจถือเป็นสังคมออนไลน์ขนานแท้ เพราะนอกจากผู้ใช้มากกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก จะสื่อสารและทำความรู้จักเพื่อนใหม่ผ่านโลกไร้พรมแดนแห่งนี้ ก็ยังเกิดกระแสใหม่ในการรวบรวมกลุ่มคนที่หลงใหลสิ่งเดียวกัน เพื่อแสดงจุดยืนหรือแสดงพลังทั้งทางบวกและทางลบ
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง เหตุการณ์ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคม หรือกระทั่งความสุขความเศร้าของคน รับรองว่าสมาชิกเฟซบุ๊กจะเห็นการเกิดของสารพัดกลุ่ม และเห็นได้อยู่บ่อยครั้ง เชื่อว่าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแวดวงใดก็ต้องมีแฟนเพจมีกลุ่มกันทั้งนั้น แน่นอนว่าการตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊กที่สามารถดึงดูดความนิยมจากสาวกเฟซบุ๊กชาวไทยในช่วงแรก คงหนีไม่พ้นกลุ่มทางการเมือง ซึ่งขนาดแบ่งฝ่ายแล้วก็ยังแตกออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยย่อยกันไปจนนับไม่ไหว กลุ่มที่แสดงความรัก-ความเกลียดอย่างชัดเจนก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ด้วยคำขึ้นต้นประโยคที่เห็นบ่อยครั้ง อาทิ มั่นใจว่าคนไทยเกินแสนจะรัก... หรือ มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านจะเกลียด...

...
นอกจากกลุ่มทางการเมือง คนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ต่างๆ ในเฟซบุ๊กยังมีกลุ่มของแวดวงบันเทิง ซึ่งไม่นับรวมถึงการแสดงความเห็นในช่วงที่มีภาพยนตร์หรือละครฮอตฮิตกำลังออก อากาศ เพราะเมื่อมีข่าวปลด 2 ซิทคอมเบาสมองที่ออกอากาศทางช่อง 5 และช่อง 3 แฟนประจำของทั้ง 2 เรื่องก็แห่แหนกันออกมาตั้งกลุ่มรวมตัว (ในเฟซบุ๊ก) บ้างก็แสดงความรักความผูกพันกับซิทคอมเรื่องยาวที่ออกอากาศมานานแรมปี บ้างก็ต่อว่าต่อขานผู้มีอำนาจที่สั่งปลดรายการโปรดแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย
นอกจากนี้ ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ยังถูกใช้เป็นช่องทางการทำตลาดรูปแบบใหม่ ด้วยจุดเด่นในการเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมากในเวลาที่รวดเร็ว ทั้งยังมีพฤติกรรมการแชร์ สามารถแบ่งปันเรื่องราวให้เพื่อนหรือบุคคลที่อยู่ในเครือข่ายของตนต่อไปได้ แบบไม่มีที่สิ้นสุด โดยปัจจุบันสามารถพบการทำตลาดรูปแบบดังกล่าวในเฟซบุ๊กได้มากกว่าทวิตเตอร์
อาจเพราะโลกออนไลน์เป็นโลกเสมือนที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน ผู้ใช้หลายรายจึงอาศัยประโยชน์ด้านดังกล่าวแสดงความเห็นรุนแรง หยาบคาย และหมิ่นเหม่กันอย่างอิสระ อยู่หลังหน้าจอ!!!
แน่นอนว่าอะไรที่ไปได้ ไกลและกระจายไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งเป็นอันตราย เปรียบเหมือนดาบสองคม หากผู้ใช้ขาดสามัญสำนึกและความระมัดระวัง ก็ยิ่งผลักดันให้ “สังคมออนไลน์” กลายเป็น “สังคมอันตราย” ได้ในพริบตา โดยเฉพาะในประเทศของเราที่ยังไม่มีการควบคุมเสรีภาพบนโลกออนไลน์อย่างจริงจัง และมีเพียงความกระตือรือล้นในช่วงที่เกิดปัญหาถึงจะไล่ปิดไล่บล็อกกัน ก็สงสัยว่าจะต้องพบเจอปัญหาเดิมๆ วนเวียนแบบนี้ไปอีกนาน!!! ...
ทีมข่าวไอทีออนไลน์