ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์ ยืนยันพบเสือโคร่งในผืนป่าแม่วงก์ และป่าคลองลานเพิ่มอย่างน้อย 12 ตัว...

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 ต.ค. นายศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสือโคร่ง ซึ่งศึกษาเรื่องเสือโคร่งในประเทศไทยทำงานด้านวิชาการ ศึกษาเรื่องเสือในผืนป่าตะวันตก ป่าห้วยขาแข้ง ป่าแม่วงก์ ป่าคลองลาน และป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ประเทศไทย เปิดเผยว่า ล่าสุด จากกล้อง คาเมราแทร็ปที่ WWF ติดตั้งไว้ในป่าแม่วงก์ และป่าคลองลาน พบว่ามีเสือโคร่งขยายอาณาเขตจากป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี มายังป่าแม่วงก์และป่าคลองลานเพิ่มขึ้นเป็น 12 ตัว โดยจับภาพได้ในเขตป่าแม่วงก์ 11 ตัวและป่าคลองลาน 1 ตัว


ดร.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวต่อว่า จากที่มีผู้กล่าวอ้างว่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ไม่มีเสืออย่างที่นักวิชาการนำข้อมูลออกมาเผยแพร่นั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากเสือจากป่าห้วยขาแข้งเริ่มมีความหนาแน่น เพราะเสือแต่ละตัวต้องการพื้นที่กว้างเพื่อสร้างเป็นอาณาเขตของตนเอง โดยเสือโคร่งเพศผู้แต่ละตัวมีอาณาเขตในการลาดตระเวนเพื่อหากิน ประมาณ 300 ตารางกิโลเมตร หากพื้นที่ใดมีความสมบูรณ์ มีสัตว์ใหญ่ให้ล่า ความต้องการพื้นที่ก็อาจจะแคบลง แต่ละพื้นที่ที่เพศผู้ประกาศอาณาเขตอาจมีเพศเมียอยู่ในอาณาเขตของมัน 2-3 ตัว

ดังนั้นเสือจากป่าห้วยขาแข้งที่เริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ที่แยกออกจากแม่ จะหาอาณาเขตของตนเอง ซึ่งป่าแม่วงก์และป่าคลองลานก็มีสภาพพื้นที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นผืนป่าเดียวกันกับป่าตะวันตก และมีสัตว์ป่าหรือเหยื่อมากพอให้ล่าเพื่อดำรงชีวิต แม้จะมีคนเดินเข้าออกเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ แต่เสือก็อยู่ได้เพราะคนไม่ได้ไปล่าหรือทำร้ายเสือ ซึ่งหลักฐานก็พบจากกล้องคาเมราแทร็ป และร่องรอยเท้าเสือเข้ามาใกล้กับชุมชนหมู่บ้านที่อยู่ติดแนวเขตป่าแม่วงก์ แต่ก็ยังไม่พบรายงานว่าคนเคยถูกเสือทำร้ายในเขตป่าแม่วงก์ เนื่องจากสัญชาตญาณแห่งความเป็นสัตว์ป่า เสือในป่านั้นกลัวคน หากได้กลิ่นคนก็จะหนี โอกาสที่จะพบเสือในป่าจริงๆ นั้นเป็นเรื่องยากมาก

...


สำหรับเหตุการณ์ที่เสือโคร่งในป่าทำร้ายคนที่มีการบันทึกไว้ มีเพียง 2 ครั้ง ในปี 2541 และในปี 2519 หากมีการดำเนินกิจการใดมาทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งในพื้นที่ป่าแม่วงก์เวลานี้ เชื่อว่าจะเกิดปัญหาการลดลงของเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตก หากไม่สามารถหลีกพ้นจากวิกฤติภัยคุกคาม ที่อยู่ของเสือโคร่ง คาดอีกไม่เกิน 50 ปีข้างหน้า เสือโคร่งป่าอาจเป็นสัตว์สูญพันธุ์เช่นเดียวกับหลายประเทศที่ประสบอยู่เวลานี้.