สืบเนื่องมาจากช่วงที่ รัฐบาลพม่าสร้างเมือง หลวงใหม่...ได้พัฒนาสวนสัตว์โดยใช้ชื่อว่า สวนสัตว์ เนปิดอว์ ทาง พลเอกตันฉ่วย ซึ่งเป็นผู้ที่รักสัตว์อย่างมาก และอยากให้ประชาชนชาวพม่าได้ชื่นชม นกเพนกวิน ...รัฐบาลไทย โดย องค์การสวนสัตว์ จึงได้จัดส่งไปเป็นของขวัญในวันเปิดสวนสัตว์เมื่อวันที่ 26 มี.ค.51 ยังความปลาบปลื้มดีใจแก่ผู้นำตันฉ่วย และประชาชนชาวพม่าเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อวันเสาร์ที่ 24 ก.ค.53 ที่ผ่านมา พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช นายกสมาคมมิตรภาพไทย-พม่า และ ดร.โสภณ ดำนุ้ย ผอ.องค์การสวนสัตว์ฯ ได้รับมอบ ละมั่งพันธุ์พม่า จำนวน 2 คู่ และ เต่าดาวพม่า อีกจำนวน 5 คู่ จาก รัฐบาลพม่า ส่งมาให้คนไทยได้ชื่นชมเช่นเดียวกัน ซึ่งถือว่า...เป็นทูตแห่งมิตรภาพระหว่างไทย-พม่า

...ละอง, ละมั่งพันธุ์พม่า เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม Burmese Brow-Antlered Deer (Eld's Deer) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Cervus eldi thamin ภาษาพม่า เรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า "ทมิน" มีสีขนตามตัวเข้มกว่าละมั่งสายพันธุ์ไทย ปลายลำเขาค่อนข้างมีแขนงเขาน้อยกว่า และ ส่วนใหญ่จะไม่มีแขนงเขายื่นขึ้นมาบริเวณตัวลำเขา

คำว่า...ละอง ใช้เรียก ตัวผู้ ส่วน...ละมั่ง คือ ตัวเมีย ถิ่นอาศัยการกระจายในแถบ ตะวันออกเฉียงเหนือของ อินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และ เกาะไหหลำ ของประเทศจีน ไม่พบ ในประเทศไทย ตลอดจนแหลมมลายู นิสัยการกินอาหารของละมั่งคล้ายกับพวกวัว ควาย ปกติชอบกินหญ้าและลูกไม้ต่างๆตามพื้นทุ่งโล่งหรือป่าโปร่ง แต่ไม่ค่อยชอบกินใบไม้

พฤติกรรมชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ในอดีตละมั่งชุกชุมทั่วไป มีรายงานพบฝูงละมั่งขนาดใหญ่ จำนวนถึง 50 ตัว แต่ปัจจุบันพบละมั่งอยู่ ตัวเดียวหรือฝูงเล็กๆ ตามป่าเต็งรัง ป่าโปร่ง หรือ  ป่าทุ่งใกล้ๆหนองน้ำ ในตอนกลางวันที่อากาศร้อนจะหลบร้อนไปอยู่ตามใต้ร่มไม้ ชายป่า ตัวผู้ขี้ร้อนมักจะลงนอนแช่ปลักโคลนตามหนองน้ำ อย่างพวกควาย

...

เนื่องจากเขาบนหัวละมั่ง...มีกิ่งปลายแหลมยื่นมาข้างหน้า อีกทั้งปลายลำเขาที่โค้งงอมาด้านหน้า และแตกปลายออกเป็นแขนงกิ่งเล็กๆ ทำให้เวลาเข้าป่ารกทึบจะไปขัด เกี่ยวกิ่งไม้และเถาวัลย์ต่างๆ คาดว่าด้วยสาเหตุนี้ จึงไม่พบละมั่งตามป่า ทางภาคใต้ของไทยและมาเลเซีย ซึ่งสภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดิบทึบไม่ เหมาะสมเป็นที่อยู่อาศัย

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน ส่วนละมั่งที่เพาะเลี้ยงอยู่ตามสวนสัตว์ต่างๆ มักจะไม่มีฤดูผสมพันธุ์แน่นอน ระยะตั้งท้องนาน 240-244 วัน ตกลูกท้องละ 1 ตัว ลูกแรกเกิดจะมีลายจุดสีขาวๆ ตามตัว โตขึ้นจะค่อยๆ จางหายไป แต่ตัวเมียบางตัวจะยังคงมีจุดจางๆ นี้ให้เห็นจนโต วัยเจริญพันธุ์ตัวผู้อายุประมาณ 1 ปี ส่วน ตัวเมียประมาณ 2 ปีขึ้นไป

สถานภาพปัจจุบัน ไอยูซีเอ็น จัดสถานภาพประชากรของละองและละมั่ง ไว้ในระดับเสี่ยงสูญพันธุ์ และ ไซเตส Cites จัดให้อยู่ใน บัญชีหมายเลข 1

ทาง องค์การสวนสัตว์ เมื่อได้รับมอบไว้แล้วก็จะนำมาไว้ที่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี ให้การดูแลเป็นอย่างดี เพื่อไว้ขยายพันธุ์โดยการผสมเทียมให้ลูกหลานได้ชื่นชม...!!

ไชยรัตน์ ส้มฉุน