ในโลกที่ “อินเตอร์เน็ต” ได้กลายเป็นเส้นเลือดใหม่ของ “ชีวิต” คนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นงาน การพักผ่อน หรือชีวิตส่วนตัว สามารถเชื่อมโยงกันผ่านโลกออนไลน์

“โลกการเงิน” ก็เช่นกันจาก “เงินตรา” ที่จับต้องได้ ก้าวสู่ “เงินอิเล็กทรอนิกส์” (E-money) ในรูปบัตรเงินสด บัตรเดบิต กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ และในโลกอินเตอร์เน็ต โลกออนไลน์ ยังมีเงินอีกรูปแบบคือ เงินเสมือนจริง (Virtual Currency) หรือเงินดิจิทัล (Digidal Currency) ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยคนบางกลุ่ม และยอมรับใช้กันในกลุ่มสังคมนั้น

แต่ต่อมา เมื่อเป็นที่นิยมใช้มากขึ้นๆ “เงินเสมือนจริง” เหล่านี้จึงเริ่มออกมาโลดแล่นในโลกจริง และพยายามแผ่อิทธิพลเพื่อกลายเป็น “เงินสกุลใหม่” ของโลก และกำลังเป็นอีกสินค้าที่เย้ายวนใจให้ “นักเก็งกำไร” ทั่วโลก กระโจนเข้าไปหาผลตอบแทนสูงๆ และ “เงินดิจิทัล” ที่กำลังโด่งดังมากที่สุดในขณะนี้ รู้จักในชื่อ “Bitcoin”

ว่ากันว่า Bitcoin ถูกสร้างขึ้นโดยบุคคลลึกลับ ที่ใช้นามว่า Satoshi Nakamoto และเริ่มถูกนำมาใช้ในปี 2552 โดยคนกลุ่มหนึ่งเพื่อการชำระ หรือโอนและแลกเปลี่ยนกันเฉพาะเครือข่ายในโลกออนไลน์

การได้ Bitcoin มาครอบครองนั้นทำได้ 2 วิธี ได้มาจากการขุดหรือการดาวน์โหลดโปรแกรมมาเพื่อแก้โจทย์ทางคณิตศาสตร์ที่ถูกออกแบบเอาไว้ หากคอมพิวเตอร์ของผู้เล่น หรือ “Miners” หาคำตอบได้ถูกต้องก่อน โปรแกรมจะให้ค่าตอบแทนเป็น Bitcoin แต่โจทย์ทางคณิตศาสตร์ในการขุด Bitcoin จะซับซ้อนและมีความยากขึ้นเรื่อยๆ แปรผันตามจำนวน Bitcoin ที่ออกไปสู่ระบบ ทำให้ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพสูงมาก ทั้งนี้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะค่อยๆสร้าง Bitcoin ขึ้นใหม่ทุกวัน และจะหยุดผลิตใหม่เมื่อถึงจำนวนที่กำหนดไว้ 21 ล้านหน่วย

...

จากวิธีนี้ทำให้นักลงทุนที่ขุด Bitcoin ได้ในช่วงที่ผ่านมา ร่ำรวยขึ้นในพริบตา เมื่อค่า Bitcoin เพิ่มขึ้น

ขณะที่อีกวิธี หากเห็นว่าการเป็น Miners ยุ่งยากก็อาจรับโอนหรือซื้อ Bitcoin จากผู้ที่ถือครองได้ โดยต้องลงโปรแกรม Bitcoin Wallet บน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งโปรแกรมจะสร้างที่อยู่ ซึ่งเหมือนเลขที่บัญชีในการจัดเก็บ Bitcoin ปัจจุบัน มีเว็บไซต์ที่เปิดซื้อขายหลายรายรับแลกเปลี่ยน Bitcoin กับเงินจริงกว่า 20 สกุลทั่วโลก รวมทั้งเงินบาท

อย่างไรก็ตาม แม้จะใช้คำเรียกว่า “เงิน” แต่เงินดิจิทัลนี้ ไม่ถือว่าเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และไม่มีมูลค่าในตัวเอง เพราะไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง รวมทั้งไม่มีกฎเกณฑ์ควบคุมในการแลกเปลี่ยน

“มูลค่า” จะเกิดจากความต้องการของกลุ่มคนที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเอง ไม่มีระบบอัตราที่แลกเปลี่ยนที่แน่นอน ดังนั้น มูลค่าจึงเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้อย่างรวดเร็ว มูลค่าที่ได้รับอาจจะมากกว่า น้อยกว่าเมื่อเทียบกับราคาสินค้าที่ขายไป และอาจกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าได้เมื่อไม่มีความต้องการเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้น หากเกิดปัญหา หรือมีการใช้ช่องทาง Bitcoin ในการหลอกลวงหรือฉ้อโกง เช่น โอนเงินไปแล้วไม่ได้รับสินค้า การฟ้องร้องกันอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการทำธุรกรรม Bitcoin นอกจากจะไม่รับรองทางกฎหมายเหมือนเงินจริงแล้ว การหาพยานหลักฐานยังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลของคู่ค้าผู้ทำธุรกรรม เช่น ชื่อ ที่อยู่ ประวัติการทำธุรกรรม และไม่จำเป็นต้องแสดงตัวตนในการใช้บริการ

อย่างไรก็ดี ระยะที่ผ่านมาเริ่มการใช้ Bitcoin มาซื้อสินค้าและบริการในโลกจริง โดยเว็บไซต์ Overstock.com ของสหรัฐฯ เป็นร้านค้าออนไลน์ขนาดใหญ่แห่งแรกที่เปิดรับการจ่ายเงินด้วย Bitcoin ขณะที่เริ่มมีร้านค้าออนไลน์อื่นๆรับชำระด้วย Bitcoin เพิ่มขึ้น รวมถึงเริ่มมีร้านอาหาร โรงแรม และร้านขายสินค้าแบรนด์เนมบางแห่งด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการลงทุนใดที่ไม่มีความเสี่ยง ยิ่งผลตอบแทนสูงย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงสูง!

ในช่วงที่ผ่านมา มูลค่าของ Bitcoin มีความผันผวนอย่างมาก จากเริ่มต้นมีมูลค่าเพียงไม่กี่เซ็นต์ จากนั้นจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และตกลงอย่างรวดเร็วในเวลาสั้นๆ โดยในช่วงปี 2557 Bitcoin มีมูลค่าอยู่ที่ 312-665 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ 1 Bitcoin ก่อนที่ปี 59 มูลค่ากลับพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนจะตกลงมาเหลือประมาณ 850 ดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในวันเดียว และปัจจุบันในช่วงระหว่าง ม.ค.-มิ.ย.60 ราคาของ Bitcoin ผันผวนอยู่ในช่วง 800-2,500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ 1 Bitcoin (ประมาณ 26,460-107,100 บาท)

นอกจากนี้ Bitcoin ยังมีความเสี่ยงจากการสูญหายได้ เนื่องจากถูกจัดเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตของผู้ถือครอง ซึ่งมีความเสี่ยงจากการที่เครื่องสูญหาย หรือถูกโจรกรรมข้อมูล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ บริษัท Mt.Gox ตลาดค้า Bitcoin ที่ใหญ่ที่สุดซึ่งตั้งอยู่ในญี่ปุ่นได้ยื่นขอล้มละลายเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากอ้างว่าถูกโจรกรรมข้อมูล และสูญเสีย Bitcoin มูลค่าราว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

...

สำหรับ Bitcoin ในประเทศไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นหน่วยการกำกับ ดูแลระบบเงินตราของประเทศ ออกมาเตือนถึง “นวัตกรรมการชำระเงินรูปแบบใหม่” นี้ว่า ธปท.ยังไม่ยอมรับเงินนี้เป็นเงินที่ถูกกฎหมาย ขณะที่ธุรกรรมที่มีความซับซ้อน ดังนั้น ใครต้องการจะถือครอง Bitcoin หรือ Digital currency อื่นๆ แม้สามารถทำได้ แต่ควรระมัดระวังศึกษาข้อมูล และทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

หากไม่อยากพกพาเงินสด ใช้ “บัตรเดบิต หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์” ก็สะดวกสบายไม่แพ้กัน!!

ประอร นพคุณ