อุบัติเหตุทางท้องถนนเกิดขึ้นได้ทุกวินาที บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองเมื่อมีลูกน้อยจึงต้องมีวิธีป้องกันอันตรายของลูก และคาร์ซีทถือเป็นอุปกรณ์เซฟชีวิตสำหรับเด็กเมื่อต้องเดินทางด้วยรถยนต์แทนคาดเบลท์สำหรับผู้ใหญ่ แต่ยังมีความเชื่อที่ว่า เพียงนั่งกอดแก้วตาดวงใจไว้ก็น่าจะรอดพ้นจากภัยอันตรายได้
ขณะที่ ยังมีคนอีกกลุ่มมองว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายหากลูกไม่ยอมนั่งคาร์ซีทและร้องไห้งอแงจนหัวอกคนเป็นพ่อแม่ทนเห็นลูกร้องไม่ได้จึงต้องยอมอุ้มหรือนั่งกอดแทน ส่วนคนอีกกลุ่มมองว่า คาร์ซีท นั้น มีราคาสูงเกินไป และต้องเปลี่ยนบ่อยตามวัยของเด็กด้วย
ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ขอนำเสนอมุมมองของนักวิชาการผู้คลุกคลีกับการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน จะมาอธิบายเรื่องราวให้กระจ่างว่า แท้จริงแล้ว...คาร์ซีท จำเป็นหรือไม่?
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวประโยคแรกว่า เก้าอี้คาร์ซีท มีความจำเป็นอย่างมาก! ซึ่งคาร์ซีทไม่ใช่แค่ช่วยป้องกันแต่จะช่วยลดความสูญเสียเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยที่ติดมากับรถได้ เพราะว่าสรีระของเด็กที่อายุน้อยกว่า 9 ขวบ หรือสูงน้อยกว่า 140 ซม. ลงมา โดยเฉพาะเด็กเล็กยิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ เพราะเวลาเกิดเหตุจะไม่มีอุปกรณ์ที่จะช่วยเซฟชีวิตของพวกเขาได้เลยนอกจากคาร์ซีท
...
แต่ก็ยังมีความความเข้าใจผิดเสมอมา คือ อุ้มเด็กอยู่จะสามารถป้องกันแรงกระแทกได้ในระดับหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนหรือรถเบรกกะทันหัน น้ำหนักตัวของเด็กที่อยู่บนตักพ่อแม่จะพุ่งไปข้างหน้าทันที ไม่ว่าจะกอดแน่นแค่ไหนอย่างไรก็ไม่สามารถดึงตัวเด็กไว้ได้
นอกจากนี้ การอุ้มเด็กนั่งโดยเฉพาะเบาะหน้า เมื่อมีการชนหรือมีแรงกระแทกรุนแรงที่ทำให้แอร์แบ็กทำงาน จะเกิดแรงปะทะมาที่ตัวเด็ก ซึ่งทำให้เด็กกระเด็นหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น ข้อห้ามสำคัญ เพื่อความปลอดภัยของเด็กนั้น จะห้ามไม่ให้เด็กนั่งข้างหน้า ส่วนเบาะหลังจะมีความเสี่ยงที่เด็กจะพุ่งไปข้างหน้าได้เช่นกัน ซึ่งมักจะพบเคสที่เด็กนั่งข้างหลังตรงกลาง เมื่อเกิดอุบัติเหตุร่างเด็กจะพุ่งทะลุกระจกหน้ารถออกมาทันที
“มีข้อมูลของต่างประเทศได้ศึกษาไว้ว่า คาร์ซีท จะช่วยเซฟชีวิตได้อย่างไร ซึ่งตัวเลขของแต่ละประเทศใกล้เคียงกัน โดยเมื่อเกิดอุบัติเหตุและเด็กนั่งคาร์ซีทจะช่วยเซฟชีวิตได้ 60-70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้นั่ง ดังนั้น คาร์ซีทจำเป็นและมีประโยชน์มากครับ”
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อว่า หลักของการใช้คาร์ซีทต้องคำนึงถึงอายุของเด็กด้วย ที่สำคัญคือ ถ้าเด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ กล้ามเนื้อคอยังไม่แข็งแรง เมื่อเกิดอุบัติเหตุแรงเหวี่ยงจะทำให้คอพับและหักได้ ดังนั้น ลักษณะการนั่งของคาร์ซีทของเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ขวบ เด็กจะต้องนั่งหันหน้าไปทางด้านหลังรถ เมื่อเกิดเบรกกะทันหันหรือเกิดการชน เด็กจะไม่มีอาการคอพับมาข้างหน้าตามแรงกระแทก
“และการวางคาร์ซีทห้ามเอาคาร์ซีทมาอยู่ที่เบาะหน้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากรถรุ่นใหม่จะมีแอร์แบ็ก ซึ่งแอร์แบ็กจะส่งแรงปะทะมาที่ตัวเด็กและจะเกิดอันตรายทำให้เด็กเสียชีวิตได้ไม่ต่างกับการที่นั่งอุ้มเด็กไว้ที่เบาะหน้าเช่นเดียวกัน”
อย่างไรก็ตาม ผอ.ศวปถ. ยังกล่าวถึงอุปสรรคของการนั่งคาร์ซีทด้วยว่า บางครอบครัวลูกร้องไม่ยอมนั่งคาร์ซีท เนื่องจากผู้ปกครองไม่ได้ฝึกให้เด็กนั่งคาร์ซีทตั้งแต่ตอนเล็กๆ ขณะที่ เด็กที่ยอมนั่งคาร์ซีทส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่นั่งตั้งแต่อายุไม่กี่เดือน และมีความคุ้นชินกับการนั่งคาร์ซีทมาตั้งแต่อายุน้อยๆ จึงไม่เกิดปัญหาดังกล่าว ดังนั้น หากพ่อแม่ให้เด็กคุ้นเคยตั้งแต่อายุยังน้อยจะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้
...
และอุปสรรคที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ เรื่องของราคา โดยมองว่าภาครัฐอาจจะเข้ามาช่วยในลดภาษีการนำเข้าลง หรือทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนคาร์ซีทมือสองให้สะดวก และแพร่หลายมากขึ้น เพราะคาร์ซีทมือสองยังเป็นเรื่องซื้อขายกันเฉพาะกลุ่มเท่านั้น.