ก.แรงงาน เมินนายจ้างคัดค้านใช้ พ.ร.ก.บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ ปี 2560 กำหนดโทษปรับใช้คนผิดกฎหมายสูงสุดถึง 8 แสนบาทต่อ 1 คน ยืนยันเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายเข้ม แก้ปัญหาต่างด้าวล้นเมือง

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่กระทรวงแรงงาน นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน แถลงชี้แจงถึงการใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งเพิ่มโทษปรับนายจ้างใช้แรงงานผิดกฎหมายไว้เต็มอัตราสูงสุดถึง 8 แสนบาท จนถูกกลุ่มผู้ประกอบการออกมาคัดค้าน ว่า จุดประสงค์ของการออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่มีอัตราโทษสูงขึ้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. ก็เพื่อแก้ปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย โดยได้รวมกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และ พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 ปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวทั้งระบบ ให้สามารถแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว และเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ที่ถูกต่างชาติมองว่าไทยยังหละหลวม

นายอนันต์ชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมากฎหมายมีอัตราโทษน้อยคนจึงฝ่าฝืนมาก กระทรวงแรงงานเปิดให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลายครั้ง ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งก็ยังเมินเฉยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เปิดให้นำเข้าตามเอ็มโอยู แม้จะลดเงื่อนไขต่างๆ ให้รวดเร็วขึ้นก็ยังไม่ค่อยสนใจ ยังมีการฝ่าฝืนกฎหมาย วันนี้กฎหมายจึงแรงขึ้นมาก นายจ้างรับคนต่างด้าวทํางานที่ห้ามคนต่างด้าวทํา / รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน / รับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทํางาน มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000 - 800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน นายจ้างให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 400,000 บาทต่อคนต่างด้าว 1 คน ทำให้ผู้ประกอบการออกมาคัดค้านจะให้ชะลอไปก่อน แต่ทำไม่ได้ จะยังมีการออกตรวจตามปกติ ซึ่งการตรวจสถานประกอบการ 48,000 แห่ง พบว่ายังมีการทำผิดกฎหมาย 3% จึงขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายจะไม่มีความผิด และให้นายจ้างเพิ่มความระมัดระวังในการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานกับตนเองว่าถูกต้องหรือไม่ หากพบว่าไม่ถูกต้องก็ขอให้รีบดำเนินการให้ถูกต้อง หากสงสัยสามารถสอบถามสายด่วน กรมการจัดหางาน 1694

...

"การกำหนดอัตราโทษสูง ไม่ใช่รัฐต้องการค่าปรับหรือไม่ต้องการให้ใช้แรงงานต่างด้าว แต่ต้องการบังคับใช้กฎหมายให้นายจ้างปฏิบัติอย่างถูกต้อง ขอยืนยันว่าจะไม่มีการเปิดจดทะเบียนรอบใหม่ จะให้นำเข้ามาตามระบบเอ็มโอยูเท่านั้น ซึ่งเดิมการขอโควตากับกรมการจัดหางานใช้เวลา 18 วัน ได้ปรับลดลงเหลือ 5 วันเท่านั้น และมีขั้นตอนนำเข้าจากประเทศต้นทางใน 2 เดือน ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมามีนำเข้ามา 1.5 แสนคน อยู่ระหว่างขั้นตอนนำเข้าอีก 1.6 แสนคน หรือหากจะใช้แรงงานไทยก็สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์สมาร์ทจ๊อบ ถ้าทำถูกกฎหมายก็ไม่ต้องกลัวเสียค่าปรับ" นายอนันต์ชัย กล่าว.