บทความ “23 พ.ร.บ.จราจรใหม่ ปรับหนักมาก” ที่มีเนื้อหาทำนองให้ความรู้ พ.ร.บ.จราจรฉบับใหม่ โดยระบุว่า มีการกระทำหลายอย่างที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย และมีผู้นำไปแชร์ต่อในสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะประเด็นแปลกๆ ที่ห้ามผู้ขับขี่แต่งหน้าในรถ มีบทลงโทษจำและปรับไม่เกิน 2,000 บาท นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า การรับประทานอาหารบนรถขณะขับขี่ บ่นเสียงดัง หรือ ทะเลาะกันบนรถถือว่าทำผิดกฎหมาย ล่าสุด นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ออกมายืนยันว่า ข้อความที่แชร์กันในโลกออนไลน์นั้น ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใดทั้งสิ้น 

ผู้ที่ไม่หวังดี หรือพวกที่ชอบทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายในสังคม ไม่ประสงค์จะทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข หรือมุ่งจะโจมตีหรือทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่รัฐมักจะขุดเอาเรื่องเก่าๆ ที่เคยทำให้ผู้คนแตกตื่นเมื่อหลายปีก่อน โดยเฉพาะการนำเอาข่าวเก่าสนิมเกาะมากระหน่ำแชร์สร้างกระแสความตื่นตกใจในโซเชียลนับครั้งไม่ถ้วน การกระทำแบบนั้นได้สร้างความสับสนให้กับผู้คนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวเป็นจำนวนมาก 

...

การแชร์ข้อมูลเรื่อง 23 พ.ร.บ.จราจรใหม่ ปรับหนักมาก อย่างแพร่หลายนับครั้งไม่ถ้วนโดยไม่ได้ตรวจสอบแหล่งที่มาให้ถูกต้อง ล่าสุดมีการแชร์แบบปัญญาอ่อนอีกครั้ง โดยระบุความผิดทั้งเรื่องการแต่งหน้าและรับประทานอาหารในรถซึ่งไม่เป็นความจริงและข้อมูลส่วนใหญ่ก็คลาดเคลื่อนเลื่อนลอย รวมถึงยังเป็นข่าวโบราณบานบุรีตั้งแต่ปี 2558 แต่ถูกเอามาแชร์ใหม่อีกครั้งแบบโง่ๆ เจ็บแล้วไม่รู้จักจำ กระหน่ำแชร์เรื่องที่ไม่จริงทำให้คนที่แชร์แลดูโง่นะครับ 

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ปรากฏส่วนใหญ่เป็นประเด็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ซึ่งที่ถูกต้อง ได้แก่ ความผิดกรณีแก้ไขดัดแปลงรถโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก ประกอบด้วย ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ที่มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ได้แก่ รถที่มีการโหลดเตี้ยหรือยกสูงที่วัดความสูงของโคมไฟจากพื้นราบน้อยกว่า 40 เซนติเมตร หรือสูงเกิน 1.35 เมตร

...

การเปลี่ยนท่อไอเสียที่มีระดับเสียงดังเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด การติดไฟสปอตไลท์ ติดไฟนีออนใต้ท้องรถหรือติดไว้กับแผ่นป้ายทะเบียน รวมถึงการปรับเปลี่ยนโคมไฟรถผิดไปจากที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งกำหนดให้โคมไฟแสงพุ่งไกล โคมไฟแสงพุ่งต่ำ (ไฟหน้า) ต้องมีแสงขาวหรือเหลืองอ่อน ไฟเลี้ยวต้องเป็นแสงสัญญาณกะพริบสีอำพัน ไฟหยุดต้องเป็นแสงแดง และไฟส่องป้ายทะเบียนต้องเป็นแสงขาวเท่านั้น

...

ส่วนกรณีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ที่มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ประกอบด้วย ความผิดเกี่ยวกับแผ่นป้ายทะเบียน ทั้งการไม่ติดแผ่นป้ายโดยวางไว้ที่กระจก ตัดต่ออัดกรอบใหม่ ติดป้ายเอียงหรือมีวัสดุปิดทับ เปลี่ยนแปลง สีรถ การถอดเบาะหลังออกเพื่อติดตั้งโรลบาร์

ความผิดเกี่ยวกับการแก้ไขดัดแปลงซุ้มล้อหรือยางกว้างกว่าตัวถัง อาทิ การใส่ล้อยางเกินออกมานอกบังโคลน ใส่ล้อใหญ่จนแบะเพื่อหลบซุ้ม หรือตีโป่งขยายซุ้มล้อ เป็นต้น

...

ส่วนการใช้แผ่นป้ายทะเบียนปลอม เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และสำหรับการติดตั้งไฟตัดหมอกแม้ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแต่ต้องใช้ให้ถูกต้องและปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด

เจ้าของรถที่มีการแก้ไขดัดแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ ต้องนำรถเข้ารับการตรวจสภาพก่อนนำไปใช้ โดยเฉพาะกรณีที่การดัดแปลงนั้นส่งผลต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวรถและความปลอดภัยในการใช้งาน หรือติดตั้งเพื่อใช้บรรทุกสิ่งของให้ได้ปริมาณที่มากขึ้น เช่น การเสริมแหนบ ต้องได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกก่อนนำรถไปใช้งาน เนื่องจากการแก้ไขดัดแปลงดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายและเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุได้

ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่ารถนั้นปลอดภัยเวลาใช้งาน นายทะเบียนจะบันทึกรายการในคู่มือจดทะเบียนรถไว้เป็นหลักฐานประกอบการตรวจสอบต่อไป โดยเจ้าของรถสามารถแสดงคู่มือจดทะเบียนรถหรือสำเนาเก็บไว้ประจำรถเพื่อแสดงเป็นหลักฐาน ซึ่งหากดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก เจ้าของรถจะมีความผิดตามกฎหมายตามข้อหาความผิดดังกล่าว

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก ขอให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ยุติการสร้างความสับสนแก่ประชาชน และขอให้ประชาชนอย่าเชื่อข้อมูลที่มาจากการแชร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในทันที ขอให้ตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงให้รอบด้านก่อนการแชร์ข้อมูลต่างๆ เพื่อลดปัญหาการส่งต่อข้อมูลที่ผิดพลาด โดยประชาชนสามารถติดตามข่าวสารและข้อมูลที่ถูกต้องได้ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก www.dlt.go.th หรือสอบถาม Call Center 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

แชร์มั่ว หมายถึงคนแชร์นั้น ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลให้ดีแล้วนำข้อมูลอันเป็นเท็จลงสู่ระบบคอมพิวเตอร์ การไม่ระวังและแชร์อะไรที่มั่วๆ ในระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่จริงนั้นมีความผิดทางกฎหมาย ซึ่งถือเป็นคดีอาญาและมีโทษสูงสุดถึงกับติดคุกนะครับ.