‘นิด้าโพล’เชียร์ 2 พรรคตั้งรบ. ‘ปู’ เปิดบ้านต้อนรับแฟนเพจ ตร.ดักล็อกตัว ‘รังสิมันต์โรม’

“อภิสิทธิ์” ร่อน จม.เปิดผนึกถึง กรธ. แจงสี่เบี้ยค้านไพรมารีโหวต ซัดลอกโมเดลมะกันมาใช้ไม่เหมาะสม เพิ่มเงื่อนไขปิดกั้นคลื่นลูกใหม่ จี้ทบทวนยื้อเวลาเก็บค่าสมาชิก ยกเลิกระบบลงคะแนนเบื้องต้นปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทยสับป่วนพรรคการเมืองแตกแยก ฟันธงเกมยื้อ ก.ม.ลูกปูทางเลื่อนเลือกตั้ง “ภูมิธรรม” ยื่นมือร่วมต้านนายกฯคนนอก ลั่นเป็นทางออกสู่ประชาธิปไตยไม่ใช่ฮั้วการเมือง “นิพิฏฐ์” บอกยังลำบาก 2 ขั้วขัดแย้งจูบปาก นักการเมืองถูกใส่ร้าย จนคนไปปลื้มทหาร “นิด้าโพล” เผยชาวบ้านอยากเห็น “พท.-ปชป.” จับมือตั้งรัฐบาล แถมเห็นด้วยผุดพรรคใหม่หนุนรัฐบาล คสช. “สุวิทย์” ปัด ก.ม.ยุทธศาสตร์มัดมือชก รบ.หน้า สนช.มั่นใจไม่ขัด รธน. “อ๋อย” อัด พ.ร.บ.อันตรายทำลายระบบรัฐสภา “ปู” เปิดบ้านต้อนรับแฟนเพจฉลอง 6 ล้านไลค์ น้ำตาคลอตื้นตันแรงใจกองเชียร์

จากกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีออกมาระบุว่าอยากให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนะความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรค การเมือง ที่ชี้ให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียของระบบไพรมารีโหวตที่พรรคการเมืองต่างส่งเสียงท้วงติงคัดค้านมาอย่างต่อเนื่องนั้น

“มาร์ค” ร่อน จม.ต้านไพรมารีโหวต

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่างจดหมายเปิดผนึกถึงกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวน 8 หน้ากระดาษ ประกอบไปด้วยหลักการ ข้อท้วงติงและข้อเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาว่าสมควรที่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายมาทบทวนหรือไม่ โดยนายอภิสิทธิ์ระบุว่า จากกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ส่งความเห็นนั้น พรรคเห็นว่าแม้ระบบไพรมารีโหวตถือเป็นเจตนาดี แต่การใช้กลไกเบื้องต้นดังกล่าว มีความไม่แน่นอน ทั้งต่อการเลือกตั้งทั่วไปหรือการเลือกตั้งซ่อม การมีเวลาค่อนข้างสั้น ความพร้อมในการจัดการลงคะแนนเสียงมีข้อจำกัดมาก ระบบการลงคะแนนเบื้องต้นมาจากการเมืองในสหรัฐอเมริกา กระบวนการเลือกตั้งใช้เวลายาวนานเป็นปี บทบัญญัติในกฎหมายใหม่จึงต้องคำนึงถึงโครงสร้างของการปกครองไทยด้วย เพื่อคัดเลือกผู้สมัครให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงควรมีความยืดหยุ่นเพียงพอ ที่จะให้คณะกรรมการบริหารพรรค กลั่นกรองและใช้ดุลพินิจได้อย่างเหมาะสม

...

ชี้ข้อจำกัดโหดดับฝันคลื่นลูกใหม่

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นอกจากนี้จากประสบการณ์ ของพรรค ยังพบปัญหาของกฎหมายใหม่ ที่เพิ่มขั้นตอนข้อกำหนดให้สมาชิกพรรคจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคมีมาก ทั้งเรื่องการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาพรรค การเมือง มาสนับสนุนงานบริหารของสำนักงานและ สาขา ทำให้แรงจูงใจของพรรคการเมืองยิ่งมีน้อยลง หากพื้นที่ใดยังไม่มีความแข็งแกร่ง จะมีสาขาพรรคที่อ่อนแอ หรือถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนบุคคลที่เป็นผู้บริหารสาขาพรรคนั้นให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้การสนับสนุนคนนอก คนใหม่จากวงการอื่นๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เข้ามาสู่การเมืองยากขึ้น ที่ลำดับมาทั้งหมด มิได้ต้องการจะบอกว่าไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ พรรคประชาธิปัตย์มีประวัติยาวนาน ฐานสมาชิกค่อนข้างกว้าง คงมีความพร้อมมากกว่าพรรคการเมืองอื่น แต่พรรคการเมืองใหม่ ที่จะจัดตั้งขึ้นจะต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคอย่างรุนแรงกว่ามากนัก หากกฎหมายที่ร่างอยู่มีผลบังคับใช้ คาดหวังเรื่องการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพรรค การเมือง มาคัดเลือกผู้สมัครอย่างที่ผู้ร่างต้องการ คงจะไม่เกิดขึ้น ไม่น่าจะเป็นระบบการกลั่นกรองคัดเลือกผู้สมัครที่ดีกว่าการใช้คณะกรรมการบริหารพรรค ที่มาจากการเลือกตั้งจากฐานที่กว้างขวางกว่าในที่ประชุมใหญ่ ที่ท้วงติงทั้งหมดเพราะสภาพปัจจุบันและกฎหมายยังไม่เอื้ออำนวย

จี้ยื้อค่าสมาชิก-เลิกไพรมารีปาร์ตี้ลิสต์

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายเหตุผลที่เป็นปัญหา และน่าจะเพียงพอที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาแก้ไข โดยควรแก้ในประเด็นเหล่านี้ อาทิ ต้องทบทวนบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการชำระเงินค่าบำรุงพรรค หรือมีบทเฉพาะกาล ทอดเวลาการบังคับใช้ หรือการลงคะแนนเสียงเบื้องต้น หรือทั้งสองเรื่อง การได้มาซึ่งผู้บริหารพรรค จะต้องมีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยจากฐานราก มิให้เกิดการครอบงำพรรคจากคนจำนวนน้อย หากยืนยันให้มีจัดการลงคะแนนเสียงเบื้องต้น ควรให้ กกต.และรัฐให้การสนับสนุนอำนวยความสะดวกเรื่องหน่วย เลือกตั้ง การดูแลจัดการการเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคการเมืองทั่วประเทศลงคะแนนได้สะดวก และยกเลิกการใช้ระบบการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นในการจัดลำดับ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ แต่ควรกำหนดให้บัญชีรายชื่อดังกล่าว มีความหลากหลายในภาพรวม อาทิ สัดส่วนหญิงชาย ความเห็นที่แย้งกับผู้ร่างกฎหมายในปัจจุบัน อยู่บนพื้นฐานของความห่วงใย การไม่คำนึงถึงความเป็นจริงในสังคม จะทำให้ผลของการบังคับใช้กฎหมาย ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และของผู้ร่างกฎหมายเอง

“อ๋อย” สับทำพรรคการเมืองขัดแย้ง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระบวนการคัดเลือกผู้สมัครแบบไพรมารีโหวตว่า จะทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกกันเองภายในพรรค แบ่งเป็นกลุ่มก๊วน กระจัดกระจายขัดแย้ง โดยเฉพาะในกรรมการบริหารพรรค จนทำอะไรไม่ได้ และการกำหนดผู้ลงสมัครทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ จะไม่สะท้อนความนิยมของประชาชน แต่จะเป็นเรื่องของสมาชิกจำนวนน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเงื่อนไขทำให้เสนอนโยบายอะไรยากมาก และถ้าเลื่อนการเลือกตั้งออกไป คสช.และผู้มีอำนาจคือแม่น้ำทั้ง 4 สาย จะมีอำนาจปกครองอย่างเปิดเผย แต่ถ้ามีการเลือกตั้งแล้วเมื่อไหร่ ผู้มีอำนาจเหล่านี้ต้องหาช่องทางตามรัฐธรรมนูญที่ซับซ้อนมากขึ้น แต่ผลออกมาอย่างเดียวกัน

ฟันธงยื้อ ก.ม.ส่งสัญญาณเลื่อน ลต.

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่อาจจะยืดเยื้อออกไปจนต้องเลื่อนการเลือกตั้งว่า คิดว่าเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่ว่า 1.จะมีการตั้งกรรมาธิการร่วมหรือไม่ 2.ถ้าตั้งกรรมาธิการร่วมแล้วจะเป็นอย่างไร ท้ายสุด สนช.จะเห็นอย่างไร อาจเห็นตามกรรมาธิการร่วม รอมชอมกัน หรือตกลงกันไม่ได้ โหวตให้กฎหมายตกไป ก็ต้องมานับหนึ่งกันใหม่ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ทำให้มองได้เหมือนกันว่า เป็นสัญญาณบ่งบอกที่จะเลื่อนเลือกตั้ง โดยออกกฎหมายไม่ทัน เพราะเมื่อเกิดปัญหา ท้ายสุดชัดเจนขึ้นว่า ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับไว้ว่าถ้ากฎหมายตกไปจะมีผลอย่างไร หรือต้องทำให้เสร็จตามกรอบหรือไม่ เมื่อถามว่า มองได้หรือไม่ว่าอาจมีใบสั่งให้ยื้อการออกกฎหมาย นายชูศักดิ์ตอบว่า อาจมองได้ในมุมนั้น หรือในอีกแง่หนึ่งก็อาจมองได้ว่าองคาพยพหรือองค์กรที่มีอยู่นั้น อยากอยู่นานๆ แต่จะเป็นอย่างไรหรือมองอย่างไรก็ตาม อย่าให้มันเกิดความไม่ชอบธรรม หรือทำให้ประชาชนเห็นว่าเล่นละคร

เฉ่งคนหวังดีประสงค์ร้ายทำลาย ปท.

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองว่า ไม่เห็นด้วยหลายประเด็น โดยเฉพาะการบังคับให้พรรคการเมืองคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขตและ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกพรรคและสาขาพรรคในเบื้องต้นก่อน อาจดูดีขจัดการครอบงำของเจ้าของหรือนายทุนพรรค ที่ผู้เสนอคิดเองเออเองไปลอกระบบประเทศอื่นมา โดยไม่เข้าใจการเมืองไทย มุ่ง บ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองของไทยให้อ่อนแอ ขัดแย้งแตกแยกทะเลาะกัน สร้างเหตุกลั่นแกล้งขึ้นภายในพรรค ตั้งแต่ยังไม่เลือกตั้งและปิดกั้นคนดีมีความสามารถ สงสัยผู้เสนอได้รับสัญญาณชงเรื่องนี้ให้ใครหรือไม่ เพื่ออะไรกันแน่ ยิ่งรวมกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นเกี่ยวกับนักการเมืองและพรรคการเมือง หรือร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ จะยิ่งทำให้การดำเนินกิจการพรรคการเมืองยากลำบาก สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิด มีช่องทางกลั่นแกล้งทั้งถูกตัดสิทธิ์หรือยุบพรรคได้ง่าย ต้องช่วยกันจดจำใครเสนอไพรมารีโหวตเข้ามา ถือว่าทำร้ายประเทศ หวังดีแต่ประสงค์ร้ายต่อบ้านเมืองกันแน่ ต้องการบ่อนทำลายพรรคการเมืองให้อ่อนแอ ส่งผลให้ระบบการตรวจสอบในสภาฯอ่อนแอด้วย

“ยะใส” ให้ผ่อนปรนใช้ไม่เต็มรูปแบบ

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยารังสิต กล่าวว่า หากจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ควรต้องขยายความระบบไพรมารีให้มีหลักปฏิบัติที่ทำได้จริง ข้อกังวลของหลายฝ่าย กมธ.ต้องรับฟังและพิจารณา ไพรมารีโหวตไม่ใช่อุดมคติแต่ทำได้จริง ถ้าวางหลักปฏิบัติที่ชัดเจนและพรรคการเมืองพร้อมเข้าสู่โหมดปฏิรูป ทั้งนี้ควรถือหลักผ่อนปรน มีกรอบเวลา ไม่จำเป็นต้องทำเต็มระบบในการเลือกตั้งที่จะมาถึง เพราะต้องใช้ เวลาปรับตัว เช่น การพัฒนาศักยภาพสาขาพรรค การขยายฐานสมาชิก กองทุนพัฒนาพรรค การเมือง ถ้าสาขาพรรคขาดความพร้อมไพรมารีโหวตอาจล้มเหลว และส่วนร่วมของสมาชิกพรรคจะกลายเป็นแค่พิธีกรรม เชื่อว่าหากมีเลือกตั้งทั่วไป 3-4 ครั้ง ระบบไพรมารีโหวตจะไปได้ จะส่งคุณูปการต้องการปฏิรูปพรรคการเมืองในระยะยาว ถ้าเราไม่กล้าเริ่มต้นวันนี้ การปฏิรูปพรรคจะเกิดขึ้นไม่ได้

พท.ยื่นมือร่วมต้านนายกฯคนนอก

ส่วนท่าทีของฝ่ายการเมืองต่อข้อเสนอของนักวิชาการ ที่เสนอแนะให้พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์จับมือกันเพื่อต่อต้านนายกฯคนนอกภายหลังการเลือกตั้งนั้น วันเดียวกัน นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการเสนอให้พรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกันต่อต้านนายกฯคนนอกว่า เห็นด้วยที่อาจารย์หลายคนระบุว่าต้องร่วมมือกันเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า โดยหลักการแล้วพรรคการเมืองแต่ละพรรคไม่ใช่ศัตรูกัน อาจแตกต่างทางอุดมการณ์ หรือเห็นต่างแต่ไม่ใช่ทุกเรื่อง อะไรก็ตามที่ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ คุยกันได้สิ่งที่สำคัญคือพรรคการเมืองต้องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ในอดีตประชาชนอาจเห็นว่าพรรคการเมืองใช้ความเห็นต่างสร้างความขัดแย้ง แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่ ขณะนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม ดังนั้นอะไรที่ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย ให้ประชาชนมีอำนาจกำหนดบทบาทบนพื้นฐานนี้ พรรคการเมืองร่วมมือกันได้ เรื่องที่มาของนายกฯ พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนชัดเจนในกรอบประชาธิปไตยต้องมาจากประชาชน ต่อต้านนายกฯคนนอก พรรคไหนที่มีจุดยืนแบบนี้เราพร้อมร่วมมือ

ยันเป็นทางออกสร้าง ปชต.ไม่ใช่ฮั้ว

นายภูมิธรรมกล่าวด้วยว่า สำหรับวิธีการในการร่วมมือกัน ต้องดูสถานการณ์ในขณะนั้น ว่าอะไรเป็นทางออก ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันพรรคการเมืองควรยึดหลักการสิทธิของประชาชน ในการเลือกคนที่จะเป็นผู้แทนเข้ามาบริหารประเทศ และเห็นว่าเรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่พรรคการเมืองจะทำให้สังคมเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย และเมื่อถึงเวลานั้นเราสามารถให้คำตอบกับสังคมได้ว่า การร่วมมือกันต่อต้านนายกฯคนนอกไม่ใช่การฮั้วกันของพรรคการเมือง แต่เป็นวิธีการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดในสังคมไทย

“นิพิฏฐ์” บอกยังยาก 2 ขั้วคู่กัดจูบปาก

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนักวิชาการเสนอให้ 2 พรรคใหญ่จับมือกันต่อต้านนายกฯคนนอกว่า คนพูด พูดในหลักการ ตามหลักควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ว่ามันมีเงื่อนไขเยอะ เพราะความขัดแย้งระหว่างคนทั้งสองฝ่ายค่อนข้างจะตกผลึก โอกาสที่จะมารวมกันยังยากอยู่ ตอนนี้ยังไม่น่าจะมีคนสนับสนุนแนวทางนี้ เมื่อถามว่า ถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลยใช่หรือไม่ ที่พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์จะจับมือกัน นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ไม่มีใครกล้าพูดไปว่าเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ เป็นประเด็นแรงที่ไม่มีใครกล้าฟันธง อย่างไร ก็ตาม คิดว่าวันนี้ถ้าให้คนเลือกระหว่างอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการกับอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยจับมือกัน คิดว่าคนเลือกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการมากกว่า เพราะว่าความขัดแย้งกิน เวลานาน จนคนไม่อยากหันหลังไปสู่ความขัดแย้งอีกแล้ว

การเมืองถูกใส่ร้ายจนคนปลื้มทหาร

นายนิพิฏฐ์กล่าวต่อว่า อีกทั้งการยึดอำนาจครั้งนี้มีการควบคุมแบบเบ็ดเสร็จ ใส่ร้ายการเมืองอย่างรุนแรงที่สุด กล่าวหาฝ่ายเดียวโดยใช้เวลาอยู่ 3 ปี คนจึงมองการเมืองเลวร้ายไปหมด จนลืมไปว่าพรรคประชาธิปัตย์เคยต่อสู้กับพรรคเพื่อไทย อยู่ตรงกันข้ามกันมาตลอด พอระบบนี้เข้ามา 3 ปีจากคนที่เคยเชียร์เรา เขาก็จัดเราอยู่ในระนาบเดียวกับพรรคเพื่อไทยไปเลย โดยลืมไปเลยว่าเราล้มนิรโทษกรรม ล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยขณะนั้น “แต่วันนี้ถ้าให้เลือกระหว่างเพื่อ-ไทยกับประชาธิปัตย์ คนคงไม่เลือกทั้งสองฝ่าย คุณอาจจะไปเลือกทหาร แต่ถ้าทหารมาลงเลือกตั้ง ไม่รู้ว่าคนจะเลือกหรือเปล่านะ”นายนิพิฏฐ์กล่าว

โพลชี้คนเชียร์ พท.-ปชป.ร่วมตั้ง รบ.

วันเดียวกัน นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน 1,250 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 21-23 มิ.ย.เรื่องการจับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย พบว่าร้อยละ 53.84 ระบุว่าไม่มีความเป็นไปได้เลย เพราะต่างฝ่ายต่างมีแนวคิด มีความขัดแย้งกันอยู่ตลอด ร้อยละ 29.36 ระบุว่ามีความเป็นไปได้ระดับหนึ่ง เพราะต่างเคยเป็นรัฐบาลบริหารประเทศมาก่อน และร้อยละ 6.32 ระบุว่ามีความเป็นไปได้สูง เพราะทุกฝ่ายน่าจะมองเห็นผลดีมากกว่าผลเสีย เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ และทั้ง 2 พรรคถูกแช่แข็งทางการเมืองมาสักระยะหนึ่งแล้ว นักการเมืองน่าจะอ่อนข้อลงและเห็นแก่ประเทศชาติมากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 10.48 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ สำหรับความต้องการของประชาชนที่จะเห็น 2 พรรคใหญ่จับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งสมัยถัดไป พบว่าร้อยละ 63.60 ระบุว่าต้องการ เพราะต้องการเห็นความสามัคคี ความปรองดอง ประเทศชาติพัฒนา ร้อยละ 26.88 ระบุไม่ต้องการ เพราะอาจมีปัญหาขัดแย้งกัน ทั้งเรื่อง ความคิดทางการเมืองหรือผลประโยชน์ของพรรค การเมืองเอง และร้อยละ 9.52 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เห็นด้วยผุดพรรคหนุนรัฐบาล คสช.

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อกรณีหากจะมีการจัดตั้งพรรคการเมืองพรรคใหม่ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบัน พบว่าร้อยละ 53.52 ระบุว่าเห็นด้วย เพราะต้องการเห็นทางออกใหม่ๆที่ช่วยลดความขัดแย้งและความวุ่นวายทางการเมือง หากมีพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาของประเทศ และสานต่อนโยบายต่างๆที่ทำไว้แล้ว ร้อยละ 31.28 ระบุว่าไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ปัจจุบันการบริหารประเทศมีหลายอย่างที่ยังแก้ไขได้ไม่ดี โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพบางเรื่อง ควรจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และร้อยละ 15.20 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

วงเสวนาสับใช้ ม.44 ทุกเรื่องไม่ได้

ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน จัดอภิปรายสาธารณะแก้ปัญหาคอร์รัปชัน “ชาตินี้หรือชาติหน้า? ครั้งที่ 8 ว่าด้วยรัฐบาลและ สนช.กับมาตรา 44 และปัญหาการออกกฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญ” โดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า เราได้ข้อมูลจากทุกกลุ่มไม่ว่านักวิชาการ ว่าการปฏิรูปตำรวจคือสาเหตุที่ทุกฝ่ายชี้ชัดว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาการคอร์รัปชัน หากมีการปฏิรูปการทุจริตจะลดลงทุกด้าน ประชาชนจะได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้มีเรื่องการใช้มาตรา 44 เอื้อผลประโยชน์การสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงกับประเทศจีน เห็นว่า การใช้มาตรา 44 ต้องใช้เฉพาะเรื่อง ไม่ใช่ทุกเรื่อง

“กษิต” ลั่นเป็น หน.ปชป.จะไม่ลง ลต.

ด้านนายกษิต ภิรมย์ อดีตสมาชิก สปท. กล่าวว่า ขอพูดในฐานะส่วนตัว ถ้าตนเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ลงเลือกตั้ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้บีบบังคับนักการเมือง ทำให้การบริหารประเทศ เป็นไปด้วยความยากลำบาก การออกกฎหมายเกือบทุกฉบับปรับโครงสร้างให้กับภาครัฐ ไม่กระจายอำนาจออกไปสู่ประชาชน ทำให้รัฐบาลชุดต่อไปไม่มีความยืดหยุ่นในการบริหารประเทศ ยังมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติไว้ 20 ปี แผนดังกล่าว ไม่ได้มาจากความคิดเห็นและการปรึกษาหารือกับภาคประชาชน

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การอภิวัฒน์สยามคือการเปลี่ยนความคิด ของการปกครอง โดยระบบการคิดร่วมกัน คือทางออกของการเข้าสู่สภาวะปกติของประเทศด้วยการปกครองที่ดี คือการปกครองที่ทำให้ประชาชนมีความสุข อิ่มท้อง และมีเสรีภาพ มองว่าปัญหาเศรษฐกิจคือปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขได้ ขณะนี้ตัวเลขเศรษฐกิจอยู่ในขั้นโคม่า ประชาชนขาดกำลังซื้อตั้งแต่ยึดอำนาจมาขยายตัวแค่ 1.5-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

รบ.โต้ ก.ม.ยุทธศาสตร์ฯ มัดมือชก

อีกเรื่อง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศและรองประธานคณะกรรมาธิการ วิสามัญร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กล่าวถึงกรณีทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ระบุเป็นการออกกฎหมายมัดมือชก เตรียมหารือส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 77 หรือไม่ว่า ยืนยันร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน คำนึงตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญทุกขั้นตอน และไม่ใช่การ มัดมือชกรัฐบาลหน้าหากยังอยากมีนโยบายใหม่ อะไรก็ทำได้ เพียงแต่ให้เป็นตามครรลองยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดกรอบกว้างๆไว้ 6 เรื่อง ที่ไม่ว่าใครเห็นว่าต้องมี ไม่ได้ล็อกว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้ตีกรอบแคบจนใครทำอะไรไม่ได้ แต่ไม่ได้ตีกรอบกว้างจนไม่ต้องทำก็ได้ เพราะบ้านเรามีบทเรียนจากวงจรอุบาทว์เยอะ วันนี้ต้องมีเป้าหมายทิศทางที่ชัดเจนว่าทำไมถึงต้องมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่อย่างนั้นจะล้มคลุกคลานในวงจรอุบาทว์อยู่ มองอะไรอยากให้มองยาวๆ ไม่ใช่มองอะไรสั้นๆ เป็นเพียงการเตรียมการและขั้นตอนการปฏิรูป 10 ด้าน ยังเพิ่มเติมได้ ไม่ได้ห้ามปฏิรูปเรื่องอื่น รัฐธรรมนูญแยกเรื่องการปฏิรูปการศึกษาและปฏิรูปตำรวจออกไปทำ เพราะเรียกร้องกันมานาน

สนช.ไม่กังวลมั่นใจไร้ปัญหาขัด รธน.

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติ (สนช.) คนที่สอง กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศที่อาจขัดมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญปี 60 ว่า สนช.ไม่ได้กังวลเราทำตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งขั้นตอนการออกกฎหมายทุกประการ ระมัดระวังอยู่แล้ว ตอนที่รัฐบาลส่งร่าง พ.ร.บ.นี้มาให้ สนช. ได้แนบเอกสารรับฟังความเห็นมาด้วย สนช.มีกระบวนการออกกฎหมายชัดเจนตามรัฐธรรมนูญ และรับฟังความเห็นของประชาชนทุกช่องทาง มั่นใจว่าไม่น่าจะมีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนที่กังวลว่าจะมัดมือชกรัฐบาลใหม่นั้น ร่าง พ.ร.บ.นี้มีหลักการและวิธีการที่ชัดเจน หากรัฐบาลใหม่ไม่ทำตามก็มีทางออกกำหนดไว้อยู่แล้ว

“จ้อน” โวเป็นยาวิเศษยกระดับ ปท.

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่หนึ่ง กล่าวว่าการพัฒนาการเมืองสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยังไม่เกิดขึ้นเพราะติดกับดัก 4 ข้อคือ 1.การคอร์รัปชันแบบ 3 ประสานระหว่างนักการเมือง-เจ้าหน้าที่รัฐ-พ่อค้านักธุรกิจ 2.การเลือกตั้งทุจริตทั้งระดับชาติและท้องถิ่น 3.การบังคับใช้กฎหมายไม่มีมาตรฐาน 4.ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ บั่นทอนการพัฒนาประชาธิปไตย หลายปีมาระบอบประชาธิปไตยเสื่อมถอยถึงที่สุด จากการใช้อำนาจฉ้อฉลโกงกินทุกระดับแสวงอำนาจและผลประโยชน์เกินขอบเขต เชื่อว่ากฎหมายยุทธศาสตร์ชาติจะเข้ามาช่วยยกระดับประเทศเราให้ก้าวไปข้างหน้าได้

“วิรัตน์” กระตุก คสช.ระวังเสียคน

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์อาจพิจารณายื่นเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 77 หรือไม่ว่าจะคุยกันภายใน ไม่ให้ขัดคำสั่ง คสช. และจะให้เวลารัฐบาลได้ทบทวนการเดินหน้าประเทศต้องรอบคอบ ไม่ต้องมาเขียนกฎหมายล่วงหน้า 20 ปีแบบนี้อันตราย จะเดินไม่ได้อนาคตจะกลายเป็นอำนาจรัฐซ้อนรัฐ การกำหนดบท ลงโทษรุนแรง ไม่ควรเขียนแบบเหมารวม เขียนกว้างแบบนี้อันตราย ถ้าใครล้มล้างรัฐธรรมนูญ ถ้าใครคิดร้ายสถาบันจ้องทำลายชาติให้กำหนดโทษเฉพาะบุคคล จำคุกตลอดชีวิต เลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิตไปเลย พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ต้องให้กระบวนการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้วเสร็จก่อน ถ้ายื่นแล้วศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ากระบวนการไม่ชอบจริงๆ รัฐบาลก็เสียคน เราเตือนกันดีๆไม่อยากให้ดึงดัน เชื่อว่าเจตนาการร่างเพื่อป้องกันคนไม่ดี แต่เขียนคลุมแบบนี้คนที่ดีจะทำงานเพื่อชาติไม่ได้ เขียนกรอบโทษและข้อกำหนดการทำงานแบบเหมารวมอย่างนี้กระทบทั้งคนดีและคนไม่ดี

“อ๋อย” อัด ก.ม.อันตราย-ตกยุคไม่ทันโลก

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศที่ผ่านความเห็นชอบของ สนช.ว่า ปัญหาใหญ่คือการที่กำหนดให้มีผลต่อเนื่อง 20 ปี จะเป็นอันตรายต่อประเทศมาก เพราะจะทำให้การบริหารประเทศไม่สามารถปรับตัวกับโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ แม้จะกำหนดให้มีการแก้ไขปรับปรุงได้ทุก 5 ปี แต่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว จะต้องทำโดย 2 สภา แต่วุฒิสภาจะมีอำนาจมากกว่ารัฐสภา ระบบแบบนี้จึงเป็นระบบที่มีความอนุรักษ์ไว้สูง และจะเป็นปัญหาต่อประเทศไปในระยะยาว

ฉะมุ่งทำลายพรรค-ระบบรัฐสภา

นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับรวมไปถึงระบบไพรมารีโหวตในร่าง พ.ร.บ.พรรค การเมือง มีจุดมุ่งหมายเดียวกันจะทำให้ระบบรัฐสภา ที่มีพรรคการเมืองและการเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญไม่สามารถทำงานได้ต่อไป ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ระบบรัฐสภาไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ถ้าจะลดความเสียหายลงได้ ต้องไม่เขียนลงรายละเอียดมากเกินไป เปิดช่องให้รัฐบาลและรัฐสภาหลังการเลือกตั้งกำหนดทิศทางการบริหารประเทศตามความ ต้องการของประชาชนมากขึ้น ต้องเปิดทางให้แก้ไขปรับปรุงได้ง่ายขึ้น แต่คงจะไม่เกิดขึ้นได้ง่าย เพราะเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของ คสช.และผู้มีอำนาจ เหมือนอ้อยเข้าปากช้างไปแล้ว บอกให้คายออกมาคงยาก ถือเป็นการวางหมากกลไว้อย่างเป็นระบบแต่ต้น มุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกันทำให้ระบบรัฐสภาไม่สามารถทำงานได้ และให้บ้านเมืองอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมในแนวทางของกลุ่มบุคคลและองค์กรที่เหนี่ยวนำไปสู่แนวทางเดียวกัน

“เรืองไกร” ยื่นผู้ตรวจการฯ อีกทาง

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหากล่าวว่า จะขอใช้สิทธิยื่นเรื่องตามรัฐธรรมนูญ หลัง สนช.มีมติเอกฉันท์ผ่านร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับที่ ครม.มีมติให้เสนอ สนช.พิจารณาตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญใช้บังคับวันที่ 6 เม.ย. เมื่อ สนช.ได้ลงมติเห็นชอบไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องส่งให้นายกฯ ดำเนินการ นายกฯ ต้องรอไว้ 5 วันเพื่อดูว่าจะมีกรณีต้องดำเนินการตามมาตรา 148 หรือไม่ หากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญนายกฯ ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังนั้นเพื่อให้นายกฯ พิจารณาดำเนินการตามความในมาตรา 148 จึงได้ส่งจดหมายลงทะเบียนตอบรับ (อีเอ็มเอส) ถึงนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. เพื่อยืนยันความเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับอาจตราขึ้นโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว จึงจำเป็นต้องยื่นเรื่องอีกทางหนึ่งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบ เพื่อเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะไปยื่นหนังสือด้วยตนเองที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวันที่ 26 มิ.ย. เวลา 10.00 น.

“บิ๊กตู่” พอใจแก้ปัญหาไอเคโอ

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พอใจความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน หลังได้รับรายงานว่า ขณะนี้มีสายการบินที่ได้ใบรับรองแล้ว 6 สายการบิน คือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ไทยแอร์เอเชีย การบินไทย นกสกู๊ต ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ และนกแอร์ เป็นสายการบินของไทยทั้งหมด ภายในเดือน ก.ย.60 คาดว่าจะออกใบรับรองได้รวม 12 สายการบิน ส่วนที่เหลืออื่นๆ ทั้งหมดจะตรวจให้แล้วเสร็จภายใน ม.ค. 61 การตรวจและออกใบรับรองดังกล่าวเป็นเงื่อนไขสำคัญขอปลดล็อกธงแดงตามหลักเกณฑ์ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือไอเคโอ ที่ชื่นชมความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาของไทย

แนะรัฐออกบอนด์ลุยรถไฟจีน

นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า“รถไฟ...ที่ต้องได้มากกว่ารถไฟ”การมีเส้นคมนาคมทางบกระหว่างไทย-จีนเพิ่มขึ้นอีกทาง ย่อมเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สิ่งที่รัฐบาลควรพิจารณาคือการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากรางรถไฟมากกว่าค่าตั๋วโดยสาร เงินที่ใช้ก่อสร้างควรเป็นของไทยโดยออกพันธบัตรกู้เงินบาทแบบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังจะทำแต่ถูกขัดขวาง รัฐบาลจะต้องเจรจาถึงสิทธิการนำสินค้าจากไทยเข้าไปจำหน่ายในจีน รวมทั้งเจรจาเกี่ยวกับกระบวนการด้านศุลกากร คลังสินค้าและระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ส่วนจีนจะใช้รถไฟกระจายสินค้ามายังไทย รางรถไฟที่เราลงทุนเองยังให้เช่า เพื่อให้เอกชนซื้อหัวรถจักรและขบวนรถมาใช้ขนส่งหรือกระจายสินค้าแทนรถสิบล้อ ขบวนรถไฟยังต่อยอดเป็นธุรกิจบริการเพื่อการท่องเที่ยวหรือพักผ่อน หากประโยชน์มีเพียงการพัฒนาสองข้างทางรวมถึงการเกิดเมืองใหม่ตามที่นายกฯระบุไม่จำเป็นต้องยอมจีนขนาดนี้ เอาใครมาก่อสร้างก็ได้ประโยชน์เช่นกัน

“ปู” เปิดบ้านรับแฟนเพจ 6 ล้านไลค์

เมื่อเวลา 16.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เปิดบ้านซอยโยธินพัฒนา 3 ต้อนรับแฟนเพจเฟซบุ๊กในโอกาสที่มีผู้ติดตามครบ 6 ล้านไลค์ โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ บรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่น มีการพบปะพูดคุยพร้อมแนะนำตัวแฟนเพจที่เดินทางมาจากจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ รูปแบบการพบปะกันครั้งนี้เป็นลักษณะของการจิบน้ำชายามบ่าย โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ทำน้ำอัญชันมะนาว ชาใบเตย ด้วยตนเอง ใช้วัตถุดิบที่ปลูกไว้บริเวณบ้านไว้ต้อนรับแฟนเพจได้ดื่มและแต่งหน้าเค้กรูปปูพร้อมลายเซ็น โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เป็นวันพิเศษจริงๆ เป็นครั้งแรกที่เชิญแฟนเพจที่ครบ 6 ล้านไลค์ ที่เป็นตัวแทนแฟนเพจทั้งหมด เรายังผูกพันกัน ได้มาเจอกัน อนาคตถ้าได้ติดต่อกันหรือมีความผูกพันกันมากขึ้น ใจกับใจอยู่ด้วยกัน ทุกข์กับสุขด้วยกัน ทุกท่านไม่ต้องให้แนะนำกันเรายังรู้สึกรู้จักกันมานาน ผูกพันกันมานาน มากกว่าคำพูด มีทั้งภาษากาย ภาษาใจที่ตรงกัน

น้ำตารื้นตื้นตันกำลังใจกองเชียร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวเสร็จ ตัวแทนแฟนเพจได้กล่าวให้กำลังใจ พร้อมเปิดมิวสิกวีดิโอเพลง “จะอยู่เคียงข้างเธอ” มอบให้เป็นกำลังใจกับอดีตนายกฯด้วย ทั้งนี้ระหว่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวกับแฟนเพจและร่วมดูมิวสิกวีดิโอ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีน้ำตาคลอเบ้าด้วยความตื้นตันใจ และในช่วงท้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังได้เปิดสวนผัก ทำกิจกรรมเก็บผักร่วมกับแฟนเพจ ให้เป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านอีกด้วย

ก๊วนต้าน คสช.คึกร่วมรำลึก 24มิถุนาฯ

เมื่อเวลา 15.30 น. ที่ห้องประชุมชั้นใต้ดินอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ รอง ผกก.สส.สน.ชนะสงคราม พ.อ.นัฐพล วิเชียรวรรณ เสธ. ป.1รอ.นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบ สังเกตการณ์การรวมตัวกลุ่มต่อต้าน คสช.ในนามกลุ่มสตาร์ตอัพพีเพิลและประชาธิปไตยศึกษา ที่มีนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เป็นแกนนำนัดหมายจัดกิจกรรม “Start up People Start up talk” รำลึกเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 มีการเสวนาวิชาการที่มีกลุ่มต้าน คสช. อาทิ นางณัฎฐา มหัทธนา แกนนำกลุ่มพลังมด นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.เพื่อไทย พร้อมอดีตแกนนำนักศึกษา นายรังสิมันต์ โรม นายกรกต แสงเย็นพันธ์ รวมทั้ง พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรเจ้าพระยาพหลพลพยุหเสนาเข้าร่วมอย่างคึกคัก

ตร.บุกรวบ “รังสิมันต์” ก่อนเข้างาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้ากิจกรรมจะเริ่ม เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม นำกำลัง เข้าควบคุมตัวนายรังสิมันต์ โรม ที่บริเวณแยกถนนตะนาว ฝั่งตรงข้ามอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขณะกำลังเดินข้ามถนนเข้ามาร่วมงานเสวนา โดยเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน สน.ชนะสงคราม ได้แสดงหมายจับของศาลทหาร ที่ 62/2559 ลงวันที่ 26 ส.ค.59 ที่ถูกสน.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ตั้งข้อหาชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ หรือแสดงบัตรประชาชน จากนั้นจึงควบคุมตัวขึ้นรถไปส่งลงบันทึกประจำวัน ที่ สน.ชนะสงคราม ทั้งนี้ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว เปิดแถลงข่าวทันที ระบุว่าการจับกุมนายรังสิมันต์ หนึ่งในวิทยากรของงาน น่าจะมีขึ้นเพื่อสกัดกั้นไม่ให้กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (ดีอาร์จี) ที่นายรังสิมันต์เป็นแกนนำ จะเดินทางไปยื่นหนังสือ ที่ทำเนียบรัฐบาลขอให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลการทำสัญญารถไฟไทย-จีนในวันที่ 26 มิ.ย.