นักดาราศาสตร์อธิบายว่า “ดาราจักรกัมมันต์” (Active Galactic) เป็นกาแล็กซีที่มีลักษณะประหลาด เนื่องจากจะมีเส้นอนุกรมของแถบสีผิดปกติ หรือการแผ่คลื่นวิทยุที่มีความเข้มรุนแรง ที่สำคัญคือเป็นกาแล็กซีขนาดใหญ่ที่มีนิวเคลียสพลังงานสูง ซึ่งเรียกว่า “นิวเคลียสดาราจักรกัมมันต์” (Active Galactic Nuclei) และค้นพบว่ามีหลุมดำมวลยวดยิ่ง (supermassive black hole) รวมอยู่ด้วย ซึ่งกาแล็กซีดังกล่าวมีพลังงานมหาศาลกว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกของเรานับหมื่นเท่าตัวเลยทีเดียว

ล่าสุดองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา เผยถึงการค้นพบหลุมดำมวลยวดยิ่ง 11 หลุม ซึ่งรายงานมาจากการสังเกตการณ์ของกล้องโทรทรรศน์อินฟราเรดโซเฟีย (Stratospheric Observatory for Infrared Astronomy-SOFIA) ซึ่งเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 747 SP ที่ดัดแปลงเพื่อติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 100 นิ้ว บรรดาหลุมดำมวลยวดยิ่งที่พบครั้งนี้อยู่ห่างจากกล้องโทรทรรศน์อินฟราเรดโซเฟีย 100 ล้านปีแสง ซึ่งพบการกระจายตัวของโครงสร้างฝุ่นหมอกห่อหุ้มคล้ายโดนัท เป็นกลุ่มก๊าซที่พวยพุ่งออกมาจากในกลางหลุมดำมวลยวดยิ่ง นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าฝุ่นดังกล่าวมีความซับซ้อนกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยเชื่อกันมา ด้วยพบว่ามีขนาดเล็กกว่าที่เคยคาดไว้ประมาณ 30%

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสังเกตการณ์อย่างต่อเนื่องในอนาคตเพื่อตรวจสอบถึงการแผ่รังสี รวมถึงองค์ประกอบอื่นเพิ่มจากหลุมดำมวลยวดยิ่ง ซึ่งจะทำให้เข้าใจถึงข้อจำกัด รวมถึงโครงสร้างทางกายภาพของสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่นที่อยู่รอบๆนิวเคลียสดาราจักรกัมมันต์.

...