คสช. งัด ม.44 ปลดล็อกปัญหา ข้อจำกัดตามกฎหมาย โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ให้เดินหน้า พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจ ยกระดับศักยภาพการแข่งขัน...

จากโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา ที่ต้องอาศัยอำนาจมาตรา 44 มาขับเคลื่อนให้เดินหน้าจากปัญหา 5 ด้าน 1.การก่อสร้างที่ต้องใช้สถาปนิกหรือวิศวกรของจีนไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดกฎหมายต้องสอบใบอนุญาตประเภทบุคคลจากไทยก่อน ยกเว้นจะเป็นนิติบุคคลเท่านั้น 2.พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ที่ต้องผ่านกระบวนการของซุปเปอร์บอร์ด กรณีวงเงินลงทุนเกินกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป 3.การกำหนดราคากลาง ที่ไทยใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างแตกต่างจากจีนที่ไม่มีราคากลาง 4.การจัดซื้อจัดจ้างแบบรัฐต่อรัฐ ระหว่างรัฐบาลไทย-จีน โดยระบบทางการจีนใช้ระบบให้สภาพัฒน์ของจีนเลือกบริษัทเอกชนเป็นคู่สัญญา จึงสั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งประสานทางการสภาพัฒน์จีนให้ออกหนังสือรองรับว่าจะใช้บริษัทใดเป็นคู่สัญญาเพื่อดำเนินการก่อสร้าง และ5.เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีบางพื้นที่ต้องผ่านเขตป่าสงวนหรือพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำหนดให้ใช้เฉพาะทำการเกษตรเท่านั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยเเพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๓๐/๒๕๖๐ เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินการ โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ - นครราชสีมา ที่ระบุว่า มีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบคมนาคมให้ก้าวหน้า ทันสมัย และสอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะการขนส่งทางราง ซึ่งรวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565

...

แต่การดําเนินการดังกล่าวยังมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะข้อจำกัดตามกฎหมาย ซึ่งมีผลกระทบต่อการขับเคลื่อนโครงการและกรอบระยะเวลาการดำเนินการ และด้วยเหตุที่การดําเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้เป็นการดําเนินการในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ซึ่งโดยสภาพของข้อเท็จจริงย่อมจําเป็นต้องยกเว้นการปฏิบัติตามกฎระเบียบบางเรื่อง ในขณะที่จะต้องดําเนินการด้วยความรอบคอบรัดกุม โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และสามารถเร่งรัดการดําเนินโครงการให้แล้วเสร็จได้โดยเร็ว จึงจําเป็นต้องกําหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์วิธีการไว้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

รวมทั้งเป็นการรักษาประโยชน์ของรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบคมนาคมของประเทศนําไปสู่การพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจ ยกระดับศักยภาพการแข่งขัน และลดความเหลื่อมล้ำตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ทั้งนี้อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่ง รายละเอียดดังนี้