เหตุเพลิงไหม้สยอง ‘เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์’ (Grendfell Tower) อพาร์ตเมนต์ที่พักอาศัย สูง 24 ชั้น ขนาด 120 ห้องพัก ตั้งอยู่ในเขตนอร์ท เคนซิงตัน ทางตะวันตกกรุงลอนดอน เมืองหลวงอังกฤษ กลางดึก เข้าสู่เช้าวันที่ 14 มิถุนายน นับเป็นโศกนาฏกรรมเพลิงไหม้ครั้งใหญ่สุดสะเทือนขวัญ
ภาพเปลวไฟที่โหมไหม้ลุกโชนตึกสูง 24 ชั้นแห่งนี้อย่างน่ากลัว และชาวโลกได้เห็นอย่างเต็มตาผ่านทางคลิปวิดีโอที่ถ่ายทอดทางโซเชียลด้วยความระทึก จนภาพเหตุวินาศกรรม 9/11 กลุ่มก่อการร้ายขับเครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ ในนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ผุดขึ้นมาอีกครั้ง เพียงแต่เหตุไฟไหม้ เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ ในมหานครลอนดอนนั้น ถึงแม้ยังไม่มีการชี้ชัดต้นเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ หลังเหตุสะเทือนขวัญผ่านเข้าสู่วันที่ 2 แต่ก็ยังไม่มีการพาดพิงไปถึงว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายแต่อย่างใด
ทว่ามีคำถามหลายข้อ ที่ชาวอังกฤษ และชาวโลก ต้องการรู้คำตอบในโศกนาฏกรรมไฟไหม้ครั้งนี้ ที่เป็นเหตุให้ผู้เสียชีวิตอย่างน่าสลดอย่างน้อย 17 รายแล้ว อีกทั้งเชื่อว่าตัวเลขเหยื่อเคราะห์ร้ายจะสูงกว่านี้ เพราะยังมีผู้สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง ขณะที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บแล้วเกือบ 80 ราย นอกเหนือจากนั้น ผู้คนที่พำนักในอพาร์ตเมนต์แห่งนี้ร่วม 120 ครอบครัว ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน สิ้นเนื้อประดาตัว ภายในพริบตา
...
*ต้นเหตุเพลิงไหม้คืออะไร?
เหตุการณ์ไฟไหม้ เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ อุบัติขึ้นเมื่อเวลา 00.54 น. ของวันที่ 14 มิ.ย. ตามเวลาท้องถิ่น หรือประมาณ 07.54 น. ตามเวลาในไทย ขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่กำลังนอนหลับสนิท โดยเปลวไฟได้ลุกลามอย่างรวดเร็วมาก จากจุดต้นเพลิง ที่คาดว่าเป็นชั้น 4 ขึ้นไปยังชั้นบนของตึก โดยหลังเกิดเหตุ ได้มีการเรียกรถดับเพลิงนับ 40 คัน เจ้าหน้าที่ดับเพลิงกว่า 200 คน ระดมช่วยกันฉีดน้ำควบคุมเพลิง แต่ก็ไม่อาจจะหยุดยั้งพระเพลิงไม่ให้ลุกลามลงได้ และเปลวไฟได้เผาวอดตึกสูง 24 ชั้นแห่งนี้ทั้งหมด
ทว่า คำถาม ที่ยังไม่มีคำตอบ ก็คือ ต้นเหตุเพลิงไหม้ เกิดจากอะไร?*ทำไมไฟลุกไหม้รวดเร็วขนาดนี้?
ภาพจากคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ แสดงให้เห็นว่า เปลวไฟได้ลุกลามด้านนอกตึกในบริเวณข้างหนึ่งก่อนจะลุกลามเผาไหม้ตึกทั้งหลัง โดยบีบีซี รายงานว่า จากการเปิดเผยของนายเอลวิน เอ็ดเวิร์ดส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัย อธิบายว่า การเกิดเพลิงไหม้ที่เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ มีลักษณะของทฤษฎี ‘ชิมนีย์เอฟเฟกต์’ (Chimney effect) หรือปรากฏการณ์ลมลอยตัว กับโครงสร้างที่มีลักษณะเหมือนหอ หรือปล่องไฟสูง (Chimney) เมื่อด้านล่างของโครงสร้างมีที่สะสมความร้อน เป็นทางระบายอากาศเข้า พลังงานความร้อนที่สะสมที่ด้านล่างของโครงสร้าง ทำให้อากาศในหอหรือปล่องไฟลอยขึ้นสู่ด้านบน
โดยจากทฤษฎีนี้ จะเห็นว่า เพลิงไหม้ที่เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ เกิดขึ้นที่ชั้น 4 จึงทำให้เกิดลมพัดพาเปลวไฟขึ้นสู่ด้านบน ของตึกสูง 24 ชั้น อย่างรวดเร็ว ขณะที่ รถยกกระเช้าในกรุงลอนดอน สามารถฉีดน้ำได้ที่ระดับความสูงถึงแค่ชั้น 12 หรือราว 32 เมตรเท่านั้น
*ทำไมไม่มีสัญญาณเตือนอัคคีภัย หรือสปริงเกอร์ฉีดน้ำจากเพดาน ?
น่าตกใจที่ อพาร์ตเมนต์ เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ ซึ่งสร้างเสร็จตั้งแต่ ปี 2517 ไม่มีการติดตั้งระบบสปริงเกอร์หรือหัวฉีดน้ำดับไฟในอาคาร เนื่องจากเป็นตึกเก่า ท่ีสร้างมานานร่วม 43 ปีแล้ว ขณะที่ ภายใต้กฎหมายที่ใช้ในปัจจุบัน ได้ออกกฎให้อาคารที่พักอาศัยที่เพิ่งปลูกสร้าง และมีความสูงตั้งแต่ 30 เมตรขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบสปริงเกอร์ในอาคาร
รอนนี คิง เลขาธิการของกลุ่มความปลอดภัยด้านอัคคีภัย ออล-ปาร์ตี้ และกลุ่มความช่วยเหลือ บอกตัวเลขที่คงทำให้ชาวอังกฤษตกใจมากขึ้น ว่า มีอาคารที่พักอาศัยถึงประมาณ 4,000 หลัง ไม่มีการติดตั้งระบบสปริงเกอร์
...
*ซ่อมแซมตึก เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ ในปี 59 กระทบต่อความปลอดภัยหรือไม่?
อพาร์ตเมนต์ เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ เพิ่งได้รับการซ่อมแซมปรับปรุงใหม่ โดยบริษัทไรดอน คอนสตรัคชัน ด้วยวงเเงิน 8.6 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 378 ล้านบาท และเพิ่งเสร็จเรียบร้อย เมื่อปี 2559
ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัยในอังกฤษหลายคน ชี้ว่า การติดตั้งวัสดุกันฝน เป็นวัสดุปกป้องด้านนอกตัวอาคาร และเปลี่ยนหน้าต่างเพื่อให้ภายในรักษาอุณหภูมิได้ดีขึ้น และทำให้ด้านนอกดูทันสมัยขึ้นนั้น เป็นสาเหตุทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว เพราะฉนวนปกป้องตัวอาคาร เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์นั้น ด้านนอกฉาบโลหะและมีโฟมอยู่ด้านใน
ด้านสมาคมป้องกันอัคคีภัย (FPA) ในสหราชอาณาจักร ชี้ว่า วัสดุปกป้องตัวอาคารที่ดีควรป้องกันอัคคีภัยได้ด้วย อย่างเช่นกรณีเกิดเหตุเพลงไหม้ ตึกระฟ้า 79 ชั้นในดูไบ เมื่อปี 2558 สาเหตุที่เพลิงไหม้ลุกเร็วนั้น มาจากวัสดุปกป้องตัวอาคารที่ทำให้เพลิงไหม้รวดเร็ว
...
อย่างไรก็ตาม นายเรย์ เบย์ลี กรรมการผู้จัดการบริษัทฮาร์ลีย์ ฟาซาด ลิมิเต็ท ซึ่งรับงานติดตั้งฉนวนด้านนอกตึกเกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ ชี้ว่า ขณะนี้ ยังไม่มีการชี้ชัดว่าเหตุไฟไหม้ตึกเกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ เกี่ยวข้องกับ ฉนวนด้านนอกของอาคาร โดยทางบริษัทได้ติดตั้งฉนวนด้านนอก ตามกฎควบคุมอาคารสูง ระเบียบการป้องกันอัคคีภัย และมาตรฐานด้านสุขภาพและมาตรฐานความปลอดภัย
เหล่านี้คือคำถามหลักๆ ที่ต้องการคำตอบจากเหตุเพลิงไหม้สุดระทึก เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ ขณะที่ผู้คนที่รอดตายหวุดหวิดหนีลงมาได้จากเหตุเพลิงไหม้อพาร์ตเมนต์ที่พักอาศัยแห่งนี้ บางคนถึงกับพูดว่า เพลิงไหม้ลุกลามอย่างรวดเร็วเหลือเชื่อ จนเหมือนกับมีคนราดน้ำมันลงบนตึกทั้งหลังเลยทีเดียว!!