"จาตุรนต์" แนะ กวาดทุกองค์กรอิสระเซตซีโร่ใหม่หมด ไม่เว้นแม้แต่ศาลรธน. ต้องโดนด้วย กันครหาทำหน้าที่ไม่ตรงไปตรงมา เอื้อ คสช.สืบทอดอำนาจ
วันที่ 10 มิ.ย. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบเซตซีโร่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า หลังจากที่ได้มีการถกเถียงกันด้วยเหตุผลต่างๆ นานา สนช.ได้ลงมติให้กกต. ต้องเซตซีไร่ไปแล้วนั้น สิ่งที่ต้องทำให้ถูกต้องหลังจากนี้ก็คือ การเซตซีโร่องค์กรอิสระที่เหลืออยู่ทั้งหมด รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลักการและเหตุผลที่ถูกต้องเรื่องนี้ คือ กรรมการองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มาจากการสรรหาและการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 50 บ้าง รัฐธรรมนูญชั่วคราวบ้าง หรือ ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)บ้าง ก็มี จึงต้องถือว่าผู้ดำรงตำแหน่งระหว่างนี้มาจากระบบกติกาอย่างอื่นที่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญปัจจุบัน
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า องค์กรอิสระหลายองค์กร มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน และการเข้าสู่อำนาจหรือการคงอยู่ในอำนาจ หากกรรมการในองค์กรเหล่านี้ที่มาจากการสรรหาหรือแต่งตั้ง ที่อาศัยอำนาจคสช. หรือรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่อาจแน่ใจได้ว่า องค์กรเหล่านี้จะตรวจสอบคสช.และรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา และจะแน่ใจได้อย่างไรองค์กรเหล่านี้ จะไม่เอื้ออำนวยต่อการสืบทอดอำนาจของคสช. ซึ่งการมีรัฐธรรมนูญใหม่ คือ การวางระบบกติกาใหม่ เมื่อมีการกำหนดหลักเกณฑ์การสรรหาและการแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ ก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น ดังนั้น หากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ควรจัดให้มีการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการขององค์กรเหล่านี้เสียใหม่ทั้งหมดโดยเร็วที่สุด
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การบอกว่า กรรมการองค์กรอิสระใดอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่ ให้ดูว่าใครขาดคุณสมบัติ ดูการทำงานหรือดูความจำเป็นเหมาะสมนั้น เท่ากับเป็นการจงใจให้เกิดการใช้ดุลพินิจของผู้อำนาจทั้งหลาย ที่ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ หรือการต่อรองของผู้มีอำนาจเอง องค์กรเหล่านี้ก็จะเสียความน่าเชื่อถือ ไม่เป็นกลาง และไม่เป็นอิสระ นอกจากนี้ หากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นในอนาคต ก็จะเกิดความไม่ชัดเจนว่า ปัญหาเหล่านั้นมาจากระบบใด คือ จากรัฐธรรมนูญปี 50 รัฐธรรมนูญชั่วคราว คำสั่ง คสช.หรือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกันแน่
...
ทั้งนี้ นอกจากองค์กรอิสระทั้งหลายแล้ว องค์กรที่ควรเซตซีโร่อย่างมากอีกองค์กรหนึ่งแต่ยังไม่มีการพูดถึงกันมากนัก คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกับองค์กรอิสระ หรือไม่ก็ต้องใช้มาตรฐานสูงกว่าองค์กรอิสระด้วย เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 50 และปกติต้องมีหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ องค์กรใดหรือบุคคลใดทำอะไรขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
"แต่เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะยังคงอยู่ต่อไป ก็ต้องวินิจฉัยการรัฐประหารไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อไม่ได้วินิจฉัยการรัฐประหารขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็สูญเสียสถานะความเป็นศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรทำหน้าที่มาตั้งแต่มีการรัฐประหารแล้ว และย่ิงมีรัฐธรรมนูญใหม่ ย่ิงต้องสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ โดยใช้หลักเกณฑ์ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ได้คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ให้เรื่องต่างๆ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่ควรให้คณะบุคคลที่ล้มเหลวในการรักษาความถูกต้องตามรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว มาทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เมื่อถามว่า มองว่า มีเหตุผลอะไร ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องการเซตซีโร่ กกต.นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ถ้าดูจากเหตุผลที่ใช้กันอยู่ ดูจากสภาพทางการเมือง ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า มีการกลัวว่า กกต.ชุดนี้จะไม่ เออออห่อหมก กับผู้มีอำนาจ แต่อันนี้เป็นเรื่องของการใช้ดุลพินิจเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของการชอบหรือไม่ชอบ ถ้าตัดตรงนี้ออกไปคือต้องเซตซีโร่เสียทุกองค์กร ไม่ต้องดูว่า ผู้มีอำนาจพอหรือไม่พอใจการทำงานขององค์กรใด ให้เป็นเรื่องของเมื่อมีระบบใหม่ก็ควรได้องค์กรตามระบบใหม่นั้นๆ แม้ว่า ระบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันก็ไม่ได้ทำองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ มีความยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด แต่เมื่อมีระบบใหม่แล้ว ก็ควรให้ระบบใหม่ทำงาน และถ้าไม่ดีคนจะได้รู้ว่าระบบใหม่มีปัญหาอย่างไร