นพ.พลเดช - นิมิตร์ 

เดินหน้าปฏิบัติ การ30วัน...สร้าง “พลังพลเมือง”...

ปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพฯ ผ่านเวทีประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจในภาพรวม

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...พ.ศ. ....) บอกว่า ระหว่างการประชุมพิจารณารูปแบบการดำเนินงานและความคืบหน้าของการจัดประชาพิจารณ์ที่จะมีขึ้นในระหว่างเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ แผนการดำเนินงานจะประกอบด้วยเวทีการรับฟังความเห็น 3 รูปแบบ คือ

1.การรับฟังความเห็นสาธารณชนสำหรับประชาชนทั่วไปผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้ความคิดเห็นตามประเด็นสำคัญในเบื้องต้น ผ่านช่องทางเว็บไซต์และการสื่อสารสังคมที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

2.การจัดเวทีประชาพิจารณ์สำหรับประชาชนทั่วไป จะประชาสัมพันธ์เชิญชวนในการลงทะเบียนล่วงหน้าเข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้

3.การจัดเวทีปรึกษาสาธารณะ เป็นเวทีการถกแถลงของผู้แทนกลุ่มเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและเครือข่ายระดับพื้นที่ รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องจากการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครบถ้วน ทั้งผู้รับบริการ ผู้จัดบริการ ผู้กำกับดูแล

นพ.พลเดช ย้ำว่า แนวคิดในการจัดเวทีรับฟังความเห็นเพื่อปรับปรุงแก้ไข (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ จะมุ่งเน้นการสร้างพลังการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย และการสร้างกระแสสังคมในการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยอย่างกว้างขวาง ภายใต้ 3 หลักการสำคัญ

...

หนึ่ง...หลักการเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ สอง...หลักความเป็นระบบ โดยมีเวทีการรับฟังความคิดเห็นที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การประชุมและผู้ดำเนินการประชุมไว้อย่างชัดเจน และ สาม...หลักการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม โดยการเปิดโอกาสการแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วม

“จริงๆแล้วหากตีความตามแนวทางการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมายฯ ตามบทบัญญัติมาตรา 77 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ฯลฯ เพื่อนำมาสู่การวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชนและสาธารณะต่อไป...ซึ่งระบุว่าขั้นต่ำต้องมีการรับฟังความเห็นและเปิดเผยข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ โทรทัศน์ หรือเว็บไซต์เท่านั้นเป็นพอก็ได้ แต่เราอยากให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะเราให้ความสำคัญกับเสียงความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศเป็นสำคัญ”

ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี อนุกรรมการและเลขานุการดำเนินการประชาพิจารณ์ฯ เสริมว่า การดำเนินงานเพื่อจัดเวทีประชาพิจารณ์ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็นช่วงๆคือเดือนพฤษภาคม 2560 จัดทำบทวิเคราะห์ทางวิชาการ การออกแบบกระบวนการรับฟัง และวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย...เดือนมิถุนายน เป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้ง 3 ระดับ...การรับฟังความเห็นสาธารณชน, การจัดเวทีประชาพิจารณ์ และการจัดเวทีปรึกษาสาธารณะ

และเดือนกรกฎาคม จะสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นจากเวทีรับฟังความเห็นทั้ง 3 เวที เพื่อจัดทำรายงานผลการดำเนินงานประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ....เพื่อนำไปสู่การส่งต่อให้อนุกรรมการยกร่างกฎหมาย และเผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สะท้อนข้อกังวลว่า ประชาชนที่มีสิทธิ์พูดเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียนก่อนเท่านั้น ขณะที่ผู้ที่ต้องการแสดงความเห็นแต่ไม่อยากลงทะเบียนกลับต้องรอ...การจัดการหรือเตรียมการก่อนทำประชาพิจารณ์เป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็ควรเปิดพื้นที่อย่างกว้างขวางให้แสดงความเห็นด้วย

“เท่าที่ทราบมา คณะกรรมการแก้ไขกฎหมายจะรับฟังและบันทึกเฉพาะประเด็นที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขเท่านั้น ขณะที่ประเด็นอื่นๆที่อยู่ในความกังวลของภาคประชาชนจะไม่มีการบันทึกไว้ ซึ่งหากกรณีนี้เป็นเรื่องจริง ก็ถือว่าเป็นเวทีประชาพิจารณ์ที่น่าผิดหวัง”

กระบวนการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพในประเด็นการเปิดรับฟังอย่างแพร่หลายยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่ประชาชนต้องการให้เกิดการแก้ไข แต่ขณะเดียวกัน หากคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายไม่รับฟัง ก็ถือว่าเป็นความคับแคบอย่างมาก ทั้งๆที่การแก้ไขกฎหมายควรจะมาจากการที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมด้วย เพราะเป็นการแก้ไขเพื่อส่วนรวมอย่างที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้

“กระบวนการมีส่วนร่วมถือเป็นหัวใจสำคัญ แต่กระบวนการแก้ไขครั้งนี้กลับละเลยภาคประชาชน ทั้งที่รัฐบาลออกมาตรา 44 เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วและให้ใช้เป็นแนวทางสำคัญสำหรับการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพ แต่เท่าที่ดูคณะกรรมการกำลังจะละเลยที่จะเดินหน้าตามเป้าหมายนี้”

อีกเรื่องสำคัญคือการเพิ่มสัดส่วนจำนวนกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้น้ำหนักกับฝั่งผู้บริการมากเกินไป และลดทอนในสัดส่วนอื่นๆ อาจเสียสมดุลและทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมตามมาได้ในอนาคต

...

นพ.มรุต จิรเศรษฐศิริ โฆษกคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...บอกอีกว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลา 14 ปีแล้ว จำเป็นต้องมีการทบทวนและปรับปรุง นอกจากให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ยังเป็นการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการบริหาร สร้างความเข้าใจระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการเบื้องต้นได้สรุป 14 ประเด็นที่เป็นปัญหาจากกฎหมายเดิม ดังนี้

1.การจ่ายเงินให้กับหน่วยงาน/องค์กรที่ไม่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย 2.กรอบการใช้เงินกองทุนฯ (ความครอบคลุมค่าบริการสาธารณสุข สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค) 3.การจ่ายเงินโดยตรงแก่บุคคล ไม่จ่ายผ่านหน่วยบริการตามกฎหมายกำหนด 4.เงินเหมาจ่ายรายหัวและเงินที่ได้จากผลงานบริการ ให้รับเข้าเป็นรายได้หน่วยบริการ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นใช้ตามระเบียบเงินบำรุงฯได้

5.นิยาม “บริการสาธารณสุข” 6.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการครอบคลุมทุกสิทธิ 7.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการครอบคลุมทุกสิทธิ และยกเลิกการไล่เบี้ย 8.การจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย 9.การร่วมจ่ายค่าบริการ 10.การสนับสนุนยาหรือเวชภัณฑ์หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์

11.องค์ประกอบ สัดส่วน ที่มา อำนาจหน้าที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ

12.องค์ประกอบ สัดส่วน ที่มา อำนาจหน้าที่ คกก.ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข 13.การยกเลิกมาตรา 46 (2) ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร 14.การบริหารจัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในประเด็นเงินงบประมาณและรายได้ของสำนักงานไม่ต้องคืนคลัง และคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเลขาธิการฯ

...

นพ.มรุต ย้ำทิ้งท้ายว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ เป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์เพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่จำเป็น และเป็นนโยบายสำคัญของภาครัฐ

ขอให้มั่นใจได้ว่า “การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในครั้งนี้ไม่มีการยกเลิกหลักการสำคัญที่เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้” แต่เป็นการมุ่งแก้ไขในประเด็นที่ติดขัดที่นำมาซึ่งความแตกต่าง เกิดความชัดเจน และลดความเข้าใจที่แตกต่างของผู้ให้บริการ...รับบริการ เพื่อความยั่งยืน.