อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เผยสถานการณ์เด็กทารกถูกทิ้งพุ่งพรวด แค่ 5 เดือนแรกของปีนี้ มีถึง 167 ราย สถานที่ยอดฮิตยังเป็นโรงพยาบาล-ที่สาธารณะ แต่ที่เพิ่มมาคือบ้านคนมีฐานะ คาดเลียนแบบละคร ขณะที่พบ “กรุงเทพฯ” แชมป์ทิ้งทารก ตามด้วยสมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี และนครราชสีมา ส่อกลายเป็นปัญหาในอนาคต เมื่อทารกถูกทิ้งร้อยละ 10 มีโรคเกี่ยวกับพันธุกรรม ต้องรู้ตัวพ่อแม่ที่แท้จริง วอนหากไม่พร้อมเลี้ยงลูก ให้ฝากสถานสงเคราะห์ดูแล อย่าทิ้งเรี่ยราด ด้าน ผอ.สถาบันราชานุกูล ชี้สาเหตุหญิงตั้งครรภ์มักมีภาวะซึมเศร้า จนคิดลบ ไม่มีกำลังใจเลี้ยงลูกเอง เร่ง รพ.รัฐสานสัมพันธ์แม่ลูกหลังคลอด
ปัญหาทารกถูกทิ้งมากขึ้น ไม่เฉพาะใน รพ.หรือตามที่สาธารณะเท่านั้น แม้แต่หน้าบ้านคนทั่วไปก็โดนด้วย โดยผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 28 พ.ค.หลังได้รับการเปิดเผยจากนายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่าเด็กทารกตั้งแต่วัยแรกเกิด จนถึงวัย 6 ขวบ ถูกทอดทิ้งตามสถานที่ต่างๆ มีอัตราสูงขึ้นทุกปี โดยในสถานสงเคราะห์ทั่วประเทศ 30 แห่ง มีการดูแลเด็กถูกทอดทิ้ง 5,039 คน ในจำนวนนี้มีเด็กทารกถูกทิ้งอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กอ่อน 8 แห่งจำนวน 803 คน สำหรับปีที่มีเด็กทารกถูกทิ้งมากสุด มีปี 2557 จำนวน 146 คน ปี 2558 จำนวน 197 คน ปี 2559 จำนวน 164 คน และในปี 2560 ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ค. มีจำนวน 167 คน ส่วนใหญ่พบมากในพื้นที่ที่มีโรงงาน หรือแรงงานต่างด้าว ได้แก่ กทม. สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี และนครราชสีมา
ส่วนสถานที่ทิ้งเด็กทารกยอดนิยม คือ โรงพยาบาล บ้านผู้รับจ้างเลี้ยง ตามมาด้วยสถานที่สาธารณะ เช่น ป้ายรถเมล์ ถังขยะ พงหญ้า รองลงมาเป็นหน้าสถานสงเคราะห์ของรัฐบาล ส่วนบ้านบุคคลที่มีฐานะกำลังกลายเป็นที่นิยมมากขึ้น เป็นพฤติกรรมเลียนแบบหนังละคร เพราะคิดว่าทารกจะได้รับการดูแลอย่างดี
...
อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้รับแจ้งเด็กถูกทิ้งผ่านสายด่วน 1300 ทุกวัน โดยมีการจัดเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็ว เข้าช่วยเหลือเด็กทารกที่ถูกทอดทิ้ง นำส่งโรงพยาบาลตรวจร่างกายให้เร็วที่สุด ในจำนวนเด็กทารกถูกทอดทิ้งพบร้อยละ 10 มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับพันธุกรรม ต้องได้รับการดูแลจากพ่อแม่โดยเฉพาะ เมื่อเด็กได้รับการดูแลแข็งแรงแล้ว เจ้าหน้าที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน จะสืบเสาะตามหาพ่อแม่ หรือญาติ หากไม่พบญาติต้องเข้าสู่กระบวนการดูแลในสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนดูแลต่อไป โดย พม.มีโครงการการรับบุตรบุญธรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีคณะกรรมการพิจารณาบุคคลขอรับเด็กไปเป็นบุตรบุญธรรมเข้มงวด เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กเพิ่มขึ้นจนล้นสถานสงเคราะห์ แต่อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ที่ไม่พร้อมมีบุตรควรรู้จักป้องกันคุมกำเนิด และหากไม่ต้องการเลี้ยงดูทารกไม่ควรนำทารกไปทิ้งที่สาธารณะ ควรมาฝากไว้ที่สถานสงเคราะห์ให้ดูแล
ด้านนายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) พม.กล่าวถึงปัญหาเด็กถูกทิ้ง มองว่าความพร้อมของการมีลูก ความสำคัญอยู่ที่ความรับผิดชอบทั้งพ่อและแม่ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง การจะมีบุตรเพิ่มขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายหญิงในความเป็นแม่ หรือฝ่ายชายในความเป็นพ่อ ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการมีครอบครัว ที่จะต้องมีความพร้อมทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และสภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัว เพื่อความมั่นคงในอนาคตของบุตร เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพของสังคมต่อไป
ขณะที่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า สาเหตุการทอดทิ้งเด็กทารกของวัยรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี เกิดจากปัญหาการดื่มสุรา หรือยาเสพติด นำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ และไม่มีความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน จนตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ส่วนบุคคลอายุ 18 ปีขึ้นไป ตั้งใจตั้งครรภ์ แต่เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ เป็นอุปสรรคไม่สามารถเลี้ยงบุตรได้ เมื่อคลอดบุตรแล้วได้นำไปทิ้งไว้บ้านของบุคคลที่มีฐานะดี หวังให้ลูกได้รับเลี้ยงดูอย่างดี หรือทิ้งตามสถานที่ต่างๆ หวังให้มีผู้มาพบเห็นนำไปเลี้ยง ถือเป็นเรื่องเข้าใจผิดรุนแรง เพราะการทอดทิ้งทารก เด็กมีโอกาสเสียชีวิต พิการ หรือมีความเสี่ยงติดเชื้อสูงกว่าเด็กปกติ เพราะเด็กทารกต้องได้รับการดูแลจากพ่อแม่ในสายเลือด ให้ความอบอุ่นเป็นภูมิคุ้มกันดีที่สุด
ผอ.สถาบันราชานุกูลกล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญในจำนวนของผู้ที่ตั้งครรภ์ร้อยละ 10 พบมีอาการของโรคซึมเศร้า ก่อให้เกิดความคิด ภาพลบของการเลี้ยงบุตร หรือคิดว่าตัวเองเลี้ยงลูกไม่ได้ และไม่มีกำลังใจในการเลี้ยงลูก นำไปสู่การทอดทิ้งทารกตามสถานที่ต่างๆ ดังนั้น โรงพยาบาลรัฐ ควรมีกิจกรรมการสร้างสายสัมพันธ์ในช่วงคลอดระหว่างแม่กับลูกให้มากที่สุด โดยคลอดลูกแล้วต้องนำลูกมาให้แม่อุ้มดูแล รวมถึงให้นมลูกเองทันที เพื่อให้เกิดความผูกพันระหว่างแม่กับลูก เพื่อช่วยลดปัญหาการทอดทิ้งทารกได้