กลายที่ฮือฮากันทั่วยุโรป สำหรับเพลง Occidentali’s Karma ของ Francesco Gabbani นักร้องเพลงป๊อปของอิตาลี ได้แต่งเพลงเกี่ยวกับ “สุญญตา” ความว่างเปล่า ซึ่งเพลงนี้ทำให้ พระอนิลมาน ธมฺมสากิโย หรือ ดร.พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ถึงกับแชร์เพลงนี้ในเฟซบุ๊กของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้เข้าสอบถาม ความเห็นเกี่ยวกับ “เพลง” ที่ถูกแต่งโดยมีเนื้อหาหลักธรรมคำสอน ซึ่งท่านอนิลมานฯให้ความเห็นดังนี้
“เห็นว่าเป็นข่าวที่มันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองฝรั่ง ก็คือ ชายชาวอิตาลี อายุ 32 ที่แต่งเพลงป๊อปมีเนื้อหาถากถางพวกกลุ่มบริโภคนิยม โดยเอาเนื้อหาทางพระพุทธศาสนาไปใส่ กลายเป็นเพลงฮิตของอิตาลีมาก ๆ กระทั่งเอาเพลงนี้ไปแข่งขันร้องเพลงที่ Eurovision และได้ที่ 6 ของการแข่งขัน แต่ที่เป็นกระแสเพราะมีผู้ชม เข้ามาดูในยูทูบกว่า 120 ล้านครั้ง เรียกว่าถึงไม่ได้ที่ 1 แต่กลับเป็นเพลงที่โปรดปรานอันดับ 1 ของชาร์ตเพลงที่ยุโรป"
ดร.พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ได้แปลเนื้อหาเพลงนี้ ให้ทีมข่าวฯ โดยมีเนื้อหาประมาณ อยากเป็น อยากมี เป็นวัฒนธรรมแห่งความไม่พอเพียง ไม่เฉพาะในปัจจุบัน แต่เก่าแก่พอๆ กับในยุคหิน พอใจที่อยู่ในกรงขนาด 2 คูณ 3 เมตร ความรู้ก็หาตามร้านกาแฟ เป็นผู้เชี่ยวชาญทางอินเทอร์เน็ต เป็นสมาชิกกิตติมาศักดิ์ของผู้ที่ติดเซลฟี่ ความฉลาดไม่ต้องพูดถึง...คำตอบง่ายๆ คือ ภาวะแห่งไร้สาระ ไม่มีอะไรเลย อยากจะจบลงสวยยิ่งใหญ่ ความหวังยิ่งใหญ่ จะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม แต่ทุกอย่างก็เป็น อนิจจัง” พระคุณเจ้า แปล ให้ทีมข่าวฯ ฟัง
...
บทเรียนแห่งนิพพาน มีพุทธะเหนือการรู้ตื่น อยู่ในบรรทัดเดียว นั่นคือ ความสุขที่แท้จริง และยิ่งใหญ่ ผู้คนก็จะสวดมนต์ และมักจะสะดุด และคล้ายเป็นวานรที่เปลือยเปล่า จะเต้นอยู่กับสิ่งที่ไม่มีอะไร หลงลืมคำสอนของพระพุทธเจ้า นี่คือกรรมของฝรั่งหนอ
“สิ่งที่ฝรั่งเขาร้อง เขาน่าจะสื่อสารหมายถึงหลักคำสอนถึงความว่างเปล่า อนิจจัง ตัณหา และกรรม และพยายามที่จะบอกว่า เรากำลังหลงใหลไปกับบริโภคนิยม อยู่ในสิ่งที่ว่างเปล่า ที่ไม่มีอะไรเลย”
เพลงกับ พระพุทธศาสนา พระคุณเจ้าคิดว่าเข้ากันหรือไม่ พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าวว่า ถือว่าไม่มีปัญหาอะไร... ขึ้นอยู่กับการนิยามว่า “เพลง” นั้นมีความหมายอย่างไร “พระสวดมนต์” เป็นเพลงไหม ในการถือศีล 8 มีข้อห้ามร้องเพลง แต่ถามว่าพระสวดมนต์ หรือ ผู้ที่รับศีล 8 ซึ่งบางวัดมีทำนองด้วย แบบนี้ใช่เพลงหรือไม่
คำว่า “เพลง” ในสมัยพุทธกาล ในบางพระสูตรมีการกล่าวถึง พระพุทธเจ้าถูกปลุกจากฌานโดย เทพเจ้าแห่งการดนตรี เพราะมีเรื่องจะทูล จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ร้องเพลงดี เครื่องดนตรีก็ดี” แบบนี้พระพุทธเจ้าฯ จะไม่ฟังเพลงได้อย่างไร.. ก่อนจะผนวช ท่านก็เป็นเจ้าชาย เคยฟังเพลงเช่นกัน
ดังนั้น เราจึงต้องนิยามคำว่าเพลง หากร้องแล้วทำให้บ้า หรือ หลงใหล ซึ่งเนื้อเพลงชักชวนไปในทางกามารมณ์ กิเลส ทำให้ลุ่มหลงถือว่าผิด แต่ถ้าเป็นเพลง หรือ บทสวดมนต์ ที่ทำให้ใจเราสงบ ลดกิเลส ได้ แบบนี้จะนิยามว่าเป็นเพลง หรือไม่ใช่เพลง
พระอนิลมาน ธมฺมสากิโย กล่าวต่อว่า ในบริบทของประเทศไทย มักคิดว่า เพลงกับพระพุทธศาสนานั้นไม่เกี่ยวข้อง แต่แท้ที่จริงแล้วในทุกประเทศเขามองว่าเพลง เกิดขึ้นจากพุทธศาสนาทั้งสิ้น เช่น ในศรีลังกา ก็มีการสวดมนต์แม้กระทั่งงานแต่งงาน ก็ยังสวด พาหุงฯ เป็นเพลง ไม่ใช่พระมาสวดมนต์แต่ญาติโยมนี่แหละมาร่วมร้องเพลงพาหุงฯ นี่คือพิธีแต่งงานของเขา ทั้งนี้ เพราะบทสวดมนต์นั้นออกมาเป็นเพลงอยู่แล้ว บางประเทศ เขาสวดเป็นจังหวะเพลงด้วยซ้ำ ในประเทศไทยก็มี จะเห็นได้ว่างานศพก็มีสวดแบบร้องเอื้อนไปมา นั่นก็คือ การร้องเพลง
ในเอ็มวี จะเห็นว่า มีการแต่งกายคล้ายกับพระ ดร.พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าวว่า อย่าเอาความคิดของเราไปจับ เขาต้องการสื่อสารเท่านั้น แต่เขาไม่ได้ทำเพื่อลบหลู่แต่ประการใด เพราะเนื้อหาที่เขานำเสนอ ก็คือ คติธรรมในพระพุทธศาสนาแท้ๆ อยู่แล้ว เขาเองก็เป็นฆราวาส ใช่ว่า ศาสนา เป็นเรื่องที่แตะต้องไม่ได้ หากแตะต้องไม่ได้ พุทธศาสนาก็เป็นของพระอย่างเดียว เราเอาความคิดแบบพุทธศาสนาแบบไทย ๆ ไปใช้ไม่ได้ เราต้องมองในมุมมองแบบฝรั่ง เพราะเขาไม่ได้บูชาแบบงมงาย
...