าการสูญเสียความจำชั่วคราว เหม่อลอยเป็นพักๆ นอนตื่นสาย อาจ “ไม่ใช่” เรื่องเล็กๆ เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณของ “โรคลมชัก”

ดร.นพ.โยธิน ชินวลัญช์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคความจำถดถอยและโรคลมชัก คลินิกลมชัก ศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายถึงลักษณะอาการของโรคลมชัก ว่า คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า อาการของโรคลมชัก คือ แค่ชักเกร็งกระตุกทุกส่วนของร่างกาย หรือที่เรียกว่า โรคลมบ้าหมู แต่จริงๆแล้ว โรคลมชักแสดงอาการได้หลายแบบ เช่น วูบ เบลอ จำอะไรไม่ได้ และมักจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใหญ่สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ส่วนกลุ่มวัยทำงานมักมีอาการเหม่อลอยเป็นพักๆระหว่างทำงาน ทำปากขมุบขมิบ หรือเคี้ยวปาก มือเกร็ง บางรายอาจมีอาการพูดไม่ออก ในกลุ่มเด็กโตจะมีอาการผิดปกติ เช่น นอนตื่นสาย จากเดิมไม่เคยตื่นสายมาก่อน เป็นต้น

“โรคลมชักมีความหลากหลายทางอาการมากขึ้นอยู่กับว่าภาวะผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมองส่วนใด รุนแรงแค่ไหน จึงสังเกตยาก ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคลมชัก ยิ่งถ้ามีอาการเป็นๆ หายๆ เช่น สูญเสียความจำไปชั่วขณะ และญาติพามาพบแพทย์ด้วยอาการเดินเซ หลงๆลืมๆ โดยคิดว่าเกิดจากความเสื่อมตามอายุก็อาจเป็นเรื่องที่ไม่ทันสังเกตหรือนึกไม่ถึง” คุณหมอโยธินบอกแพทย์เฉพาะทางด้านโรคความจำถดถอยและโรคลมชัก บอกอีกว่า จริงๆแล้วโรคลมชักเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต รองลงมาคือกลุ่มเด็ก ซึ่งเกิดจากแผลเป็นในสมองติดตัวมาตั้งแต่เกิด บางรายเซลล์สมองผิดปกติ สิ่งสำคัญ คือ พ่อ แม่ ลูกหลานต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรม หากพบอาการผิดปกติหรืออาการชัก แม้เพียงครั้งเดียวให้รีบพามาพบแพทย์เพื่อรักษา เพราะผลจากการชักจะทำให้เซลล์สมองตาย

...

“คนไข้หลายคนไม่เคยชัก แต่ระหว่างการรักษาโรคกลับมีอาการวูบ เพราะสมองถูกกระทบกระเทือนกลายเป็นโรคลมชักตามมา บางรายจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ เช่น ไปเที่ยวต่างประเทศกลับมาแล้วจำไม่ได้ หรือระหว่างสนทนา หยุดพูดไปชั่วขณะ”

คุณหมอโยธิน บอกว่า จากรายงานทางการแพทย์ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคลมชักทั่วโลกมากกว่า 50 ล้านคน ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาระหว่างคลอด หรือเกิดจากโรคเขตร้อนที่มีผลต่อสมอง เช่น โรคไข้สมองอักเสบ รวมทั้งอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ ส่งผลให้เกิดโรคลมชักเพิ่มขึ้นด้วย

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเบื้องต้น เป็นวิธีหนึ่งในการค้นหาโรคลมชัก ซึ่งได้ผลประมาณ 60-70%

คุณหมอโยธิน อธิบายว่า การตรวจคลื่นสมอง (EEG : Electroencephalography) เป็นการบันทึกสัญญาณไฟฟ้าของกลุ่มเซลล์ในสมอง ผลการตรวจจะปรากฏเป็นเส้นกราฟต่อเนื่องบนจอภาพ ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้มีประโยชน์มากในคนไข้ที่สงสัยว่าเป็นโรคลมชัก เนื่องจากสามารถยืนยันการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคลมชักจริงหรือไม่ ในกรณีที่อาการชักไม่ชัดเจน นอกจากนี้ยังช่วยจำแนกชนิดของโรคลมชัก ซึ่งมีผลต่อการเลือกยากันชักที่เหมาะสมกับโรคลมชักแต่ละประเภทด้วย

“การรักษาโรคลมชักแพทย์จะต้องวินิจฉัยก่อนว่าเป็นโรคลมชักที่มาจากสาเหตุใด เพื่อทำการรักษาได้ถูกต้อง โดยจะใช้ยากันชัก เพื่อช่วยปรับกระแสไฟฟ้าในสมองให้เป็นปกติ ในผู้ป่วยที่ดื้อยาอาจต้องรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามารักษาเพื่อให้ทราบตำแหน่งในสมองที่ผิดปกติได้อย่างถูกต้องแม่นยำ” ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคลมชักบอก พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การตรวจคลื่นสมอง (EEG) จะติดสายไฟฟ้าในตำแหน่งต่างๆบนศีรษะ เพื่อตรวจหาจุดที่ปล่อยไฟฟ้าผิดปกติในสมอง มีการตรวจเอกซเรย์ MRI Brain ใช้เทคนิคทางโรคลมชักโดยเฉพาะ จะทำให้เห็นภาพได้ละเอียดชัดเจนกว่าการทำ MRI ทั่วไป รวมทั้งการตรวจกัมมันตรังสี โดยใช้รังสีฉีดเข้าไประหว่างที่ชัก เพื่อดูตำแหน่งในสมองที่เกิดอาการชัก” ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคลมชักบอกและว่า หากคนไข้รายไหนยังมีอาการไม่ชัดเจนจะมีการตรวจคลื่นสมอง 24 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้มีเครื่อง QEEG หรือที่เรียกว่า Quantitative Electroencephalography ที่สามารถวัดค่าเป็นตัวเลขหรือกราฟออกมา ซึ่งไม่เหมือนกับการตรวจคลื่นสมองธรรมดา โดยสามารถคำนวณออกมาได้ว่า คนไข้เริ่มมีความผิดปกติอะไรออกมาแล้วแสดงเป็นภาพ ซึ่งอันนี้เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ในการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองระยะยาวของคนไข้วิกฤติ โดยทางโรงพยาบาลกรุงเทพยังได้นำระบบ Web Base EEG Monitor มาใช้ในเอเชีย เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการรักษาที่แพทย์จะดูแลคนไข้โรคลมชักในห้องไอซียูได้ตลอดเวลา ทำให้ได้รับการรักษาโดยทันที

...

สุดท้าย คุณหมอโยธิน ฝากข้อคิดว่า อยากให้ตระหนักว่า โรคลมชักเป็นโรคที่เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งพันธุกรรม ความผิดปกติของระบบไฟฟ้าในสมอง นอกจากนี้โรคลมชักยังเกิดได้ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา หรือมีการคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากเซลล์สมองยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เมื่อถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอกจะมีผลกระทบต่อสมองได้ และยังอาจจะพบได้ในเด็กที่มีปัญหาจากการเจ็บป่วย ติดเชื้อ หรือการถูกกระตุ้นโดยวัคซีนบางชนิดที่ส่งผลต่อสมอง ไปจนถึงไม่ทราบสาเหตุ ทั้งนี้ โรคลมชักในเด็กจะส่งผลต่อการพัฒนาการของสมองในทุกๆด้าน ทั้งด้านการเคลื่อนไหว การรับรู้ ความจำ พฤติกรรมและอารมณ์ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว สมองก็จะได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากสมองในช่วงวัยเด็กเป็นช่วงที่กำลังพัฒนา หากปล่อยให้สมองลูกมีความผิดปกติจากโรคลมชัก ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการรอบด้าน หากลูกมีอาการของโรคลมชัก ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว.