บางครั้งมุมมองชีวิตอาจพลิกมาเป็นพลังบวกได้ แค่เราเปลี่ยนมุมที่เรามองกับสิ่งนั้น ดังเช่นการมองสัตว์เลี้ยงรอบๆ ตัวที่ไม่ได้เห็นแค่เป็นสัตว์ตัวหนึ่งทั่วๆ ไป แต่เป็นสัตว์ตัวหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อคนมากมาย เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

มีผลวิจัยของด็อกเตอร์ Ian Cook นักจิตวิทยาและผู้อำนวยการโครงการวิจัยและคลินิกอาการซึมเศร้าของยูซีแอล ได้กล่าวว่า ด้วยความรักที่ไม่มีเงื่อนไขของสัตว์เลี้ยงช่วยเยียวยาจิตใจกับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี เพราะสัตว์เลี้ยงจะช่วยลดความตึงเครียดและเพิ่มอารมณ์ที่เป็นอยู่ของผู้ป่วยให้เปลี่ยนไป อย่างน้อยก็เปลี่ยนอารมณ์ที่ซึมซึมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ให้ยิ้มได้ ลุกมามีกิจกรรมต่างๆ เพราะสัตว์เลี้ยง

คนเป็นโรคซึมเศร้าจะมีอาการบ่งบอกสิ่งหนึ่งคือเขาจะรู้สึกไร้ค่า หมดความหมาย แต่หากเขาได้ดูแลสัตว์เลี้ยงสักตัวที่เขาควบคุมได้ มันจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองและเพิ่มความรับผิดชอบ สัตว์เลี้ยงจะช่วยเตือนว่าเขาไม่ได้ไร้ความสามารถนะ แต่เขามีสิ่งหนึ่งที่ต้องดูแล อย่างน้อยก็ไม่เอาแต่นอนติดเตียงแต่ก็ลุกมาเดินเหินกับสัตว์เลี้ยง พาไปออกกำลังกาย วิ่งไปด้วยกัน เหนื่อยแล้วก็กลับมาทานข้าว ตัวเปื้อน สกปรกก็ได้อาบน้ำดูแล มีเพื่อนคอยดูซีรีส์ มีไว้พูดคุยแม้จะตอบกลับมาเป็นเสียง โฮ่ง หรือ เมี๊ยว ก็ตาม

คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามักคิดว่าตัวเองอยู่คนเดียวบนโลกนี้ ไม่สามารถพูดคุยกับใครได้ แม้จะพูดกับคนใกล้ตัว แต่หากคนใกล้ตัวเหล่านั้นขาดความเข้าใจในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า บางคำพูดอาจกลายเป็นดาบสองคม เช่น การพูดกับผู้ป่วยว่า “เลิกเศร้าได้แล้ว หรือ เธอจะเศร้าไปถึงไหน” มันเหมือนกับการเอามีดไปกรีดใจเขาเพิ่มมากขึ้น ลองเปลี่ยนมาพูดว่า “ออกไปจูงหมาวิ่งกันไหม” หรือ “อดทนนะเราจะผ่านมันไปด้วยกัน” ลองกอดเขาเพิ่มมากขึ้น สัมผัสตัวให้มาก ส่งพลังให้ด้วยการกอดให้รู้ว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยว แต่ก็นั่นแหละ ... มันเป็นเรื่องยาก หากคุณไม่ได้อยู่กับเขาตลอดเวลา สัตว์เลี้ยงจึงเหมือนเพื่อนที่เขาสามารถระบายความรู้สึกต่างๆ นานา ลงไปได้ มีอะไรก็เล่าก็พูดให้สัตว์ฟัง ยิ่งสุนัขบางตัวที่ส่งเสียงตอบ แมวบางตัวที่ขดตัวซุกอยู่หน้าตัก มันจะเพิ่มความรู้สึกให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ว่า ช่วงเวลานี้มันช่างวิเศษจริงๆ แม้กระทั่งการพาสุนัขออกไปวิ่งแล้วมีคนมาทักทายสุนัขของเรา นั่นก็ทำให้หัวใจพองฟู การพาแมวไปหาสัตวแพทย์ ระหว่างรอคิวก็จะมีเจ้าของสัตว์เลี้ยงมากมายมาพูดมาคุยกันด้วยเสียงสอง

...

อย่างน้อยกิจกรรมเหล่านี้ นอกจากฝึกให้เราได้รับผิดชอบ กระตุ้นให้อยากออกไปทำกิจกรรมแล้วมันยังช่วยให้จิตใจผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น ยังเพิ่มกิจกรรมต่อสังคม ไม่ทำให้กลัวการเข้าสังคมหรือเผชิญชีวิตกับคนหมู่มากได้อีกด้วย

จากผลวิจัยยังบอกอีกว่า การลูบคลำสุนัขหรือแมวช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ เจ้าของสุนัขหรือแมวมีฮอร์โมนความเครียดลดลง เพิ่มระดับสารเคมีในสมองมากขึ้นอีกด้วย

ในเมื่อมีข้อดีมันก็ย่อมมีข้อเสีย ฉะนั้นเราจึงต้องศึกษาให้ดีในการเลือกสุนัขหรือแมวสักตัวที่จะมาอยู่กับเรา อาทิ หากเป็นคนแก่ หรือ ผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย สัตว์เลี้ยงที่ได้รับการยอมรับในการรักษา มักจะเป็นตระกูล โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ หรือ ลาบราดอร์ ที่ซื่อสัตย์ต่อเจ้าของ ไม่เล่นแรงเกินไปนัก หรือสุนัขพันธุ์เล็กที่คุยเก่ง แมวไทยที่ออดอ้อน นิสัยเรียบร้อยน่ารัก

แต่ข้อระวังคือ ไม่ควรมอบสัตว์เลี้ยงให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่อยู่ในภาวะดูแลตัวเองไม่ได้ คนที่มีภาวะความเครียดจากพิษเศรษฐกิจ เพราะนั่นหมายถึงการเพิ่มรายจ่ายให้กับเขา อาจเป็นตัวกระตุ้นความเครียดเพิ่มมากขึ้น หรือคนที่มีอาการแพ้ขนสัตว์อย่างรุนแรง

ในเมืองไทยของเรายังมีสถานที่บำบัดด้วยสัตว์เลี้ยงมากมาย ที่ได้อยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ อาทิ โครงการอาชาบำบัดของกองทัพบกต่อเด็กพิเศษ ปลาบำบัดช่วยรักษาอาการของผู้ป่วยโรคผิวหนัง โลมาบำบัดช่วยกระตุ้นความสุขด้วยเสียงของโลมา ไว้มีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังในตอนต่อไปนะคะ

สำหรับใครที่มีคำถามเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง หรืออยากเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ต่างๆ มาแลกเปลี่ยนกันได้ที่อีเมลนี้ talktoceleb@trendvg3.com ค่ะ รวมถึงช่องทางต่างๆ จากเพจทูนหัวของบ่าว