โฆษกศาลยุติธรรม ออกโรงแจงปมดราม่า จำคุก "ตายายเก็บเห็ด" 5 ปี ชี้ตอนโดนจับอายุ 48 ปี ไม่ใช่ตายาย ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่ได้โต้แย้ง ทั้งข้อหาบุกรุกป่า-ครอบครองไม้เถื่อน ทนายก็ไม่ขอ รูปคดีจึงไม่มีข้อมูลจากฝ่ายจำเลย...  

วันที่ 2 พ.ค.60 ภายหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดี “ตายายเก็บเห็ด” นายอุดม ศิริสอน และนางแดง ศิริสอน ชาว จ.กาฬสินธุ์ ให้จำคุกจำเลยทั้งสอง เป็นเวลา 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา (อ่านข่าว ตายายเก็บเห็ดไม่รอดคุก! จาก 15 เหลือ 5 ปี ขอรื้อคดี-แจ้งความกลับป่าไม้)

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3581/2554 หมายเลขแดงที่ 3508/2554 ที่พนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ โจทก์ยื่นฟ้องนายอุดม ศิริสอน และนางแดง ศิริสอน (ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองอายุ 48 ปี) เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 เวลากลางวัน กล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองและทำประโยชน์โดยการทำไม้ในป่าดงระแนง ตำบลคลองขาม อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ และใช้อุปกรณ์เครื่องมือ ตัดและโค่นไม้สักไม้กระยาเลยที่เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก ออกจากต้นจำนวน 700 ต้นในเขตดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และมิได้รับสัมปทานหรือได้รับยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย

นอกจากนี้ยังร่วมกันมีไม้สัก และไม้กระยาเลยที่ยังไม่ได้แปรรูป จำนวน 1,148 ท่อน โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายไว้ในครอบครอง และไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ จนกระทั่งในวันนี้เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้ ให้จำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันทำไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำคุกคนละ 6 ปี ฐานร่วมกันมีไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

...

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวพนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ยื่นฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2554 จำคุกคนละ 30 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุกคนละ 15 ปี ริบของกลางทั้งหมดกับให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสองออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เข้าไปครอบครองด้วย ต่อมาจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2555 พิพากษาแก้เป็น ความผิดฐานร่วมกันบุกรุก แผ้วถาง ก่อสร้าง ทำไม้ ยึดถือครองครอง หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการกระทำให้เสื่อมสภาพป่าสงวนแห่งชาติเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานทำไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 11 ปี และฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้อันยังไม่ได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 19 ปี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว ฐานร่วมกันทำไม้ คงจำคุกคนละ 5 ปี 6 เดือน ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุกคนละ 9 ปี 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 14 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ข้อ 3 และ ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 69 และมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสความคิดในหมู่ประชาชนว่าคดีนี้ศาลลงโทษคนชราที่ทำผิดเล็กน้อย และต้องเข้าคุกทำให้เกิดความสะเทือนใจ จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือไม่ นายสืบพงษ์ กล่าวว่า คดีนี้ขณะกระทำผิด ตายายอายุ 48 ปี ไม่ใช่คนชรา และขณะเป็นผู้ต้องหาก็ได้รับการแจ้งสิทธิ์ว่าต้องการและพบทนายความหรือไม่ เมื่อถูกฟ้องศาล จำเลยให้การรับสารภาพโดยสมัครใจต่อหน้าศาล ซึ่งกฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 173 บอกว่า ในคดีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำไม่เกิน 5 ปี ศาลลงโทษได้โดยไม่ต้องสืบพยานประกอบ และกฎหมายให้ถามว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและต้องการ ศาลจะจัดให้ตามมาตรา 176 แต่จำเลยทั้งสองไม่ต้องการ ศาลจึงไม่มีข้อเท็จจริงจากฝ่ายจำเลย จึงพิพากษาไปตามฟ้องที่จำเลยให้การ "รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา"

ดังนั้น คดีนี้รูปคดีคือไม่มีข้อมูลจากฝ่ายจำเลย เมื่อยื่นฎีกาเข้ามาก็เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงรับฟังไม่ได้

"จึงขอให้สังคมตระหนักว่า เมื่อถูกจับเป็นผู้ต้องหาควรรู้สิทธิ์เบื้องต้น หรือไม่รู้ก็ถามญาติหรือใครก็ได้ เพื่อให้พาไปพบกรมคุ้มครองสิทธิ์ หรือพบทนายความประจำโรงพักทั่วประเทศ หรือปรึกษาพบทนายจากสภาทนายความในเบื้องต้น หรือไปที่ศาลพบเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิ์ ส่วนเรื่องที่ทนายจำเลยบอกว่า จะรื้อฟื้นคดีนั้น เห็นว่าคดีนี้ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว หากมีพยานหลักฐานชิ้นใหม่ก็ไปร้องรื้อฟื้นคดีตามสิทธิ์ได้ ส่วนเรื่องพักโทษ หากได้รับโทษมาแล้วหนึ่งในสาม และเป็นผู้ชราก็ขอพักโทษได้ ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ของกระทรวงยุติธรรม" โฆษกศาลยุติธรรม กล่าว.