มาถึงวันนี้ เมื่อการค้าขายออนไลน์หรืออี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย มีมูลค่ามากกว่า 2.5 ล้านล้านบาท (ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA) หรือคิดเป็น 40% ของมูลค่าการค้าสินค้าและบริการทั้งหมดของไทยไปแล้ว
เช่นเดียวกับเม็ดเงินโฆษณา ที่กำลังหลั่งไหลเข้าสู่สื่อดิจิทัล อินเตอร์เน็ต ปีที่ผ่านมามีมูลค่า 9,150 ล้านบาท (ข้อมูลจากสมาคมมีเดียเอเจนซีและธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย หรือ MAAT) โดย 90% ของเงินจำนวนดังกล่าว ตกเป็นรายได้ของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ อย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) กูเกิล (Google) ยูทูบ (YouTube) และไลน์ (Line) ซึ่งสถานะในไทยเป็นเพียงสำนักงานสาขา รับแต่รายได้ ไม่มีภาระภาษีใดๆ
การขยับเขยื้อนเพื่อนำผู้ค้าและบริการเหล่านี้เข้าสู่ระบบภาษี นำรายได้ไปพัฒนาประเทศในกิจการที่จำเป็น สร้างการแข่งขันที่เท่าเทียมกับผู้ค้าในช่องทางปกติ ที่ต้องเสียภาษีและอยู่ในกฎระเบียบของภาครัฐ จึงน่าจะถึงเวลาเสียที
และนี่คือความชัดเจนจาก “ประสงค์ พูนธเนศ” อธิบดีกรมสรรพากร ต่อความพยายามครั้งสำคัญ ในฐานะหน่วยงานจัดเก็บและสร้างความเท่าเทียมทางภาระภาษีของประเทศ
“ขณะนี้ กรมสรรพากรกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-คอมเมิร์ซ โดยคาดว่ากระทรวงการคลัง จะเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในอีก 2-3 เดือน หรือไม่เกินไตรมาส 2 ของปีนี้ ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ (สนช.) เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้”
การยกร่างกฎหมายดังกล่าว เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภคสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี ซึ่งแต่เดิมนั้น กฎหมายในการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรตลอด 100 ปีที่ผ่านมา (กรมสรรพากรก่อตั้งเมื่อปี 2458) มีการปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีให้ทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์อยู่แล้ว แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากและการค้าขายถูกพลิกโฉมไปหมดโดยเทคโนโลยี
...
“สิ่งที่สรรพากรทำต้องอยู่ภายใต้การรองรับของกฎหมาย แต่เมื่อจะทำเพิ่ม จึงต้องมีการเสนอให้กระทรวงการคลังออกร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา เพื่อจัดเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซเป็นการเฉพาะ”
โดยก่อนอื่น ต้องแยกแยะให้ออกก่อนว่า การดำเนินธุรกิจหรือประกอบอาชีพค้าขายทั้งรายเล็กหรือรายใหญ่ หากมีรายได้ก็ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาล เพื่อที่รัฐบาลจะได้นำเงินภาษีไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน รถไฟ น้ำประปาและไฟฟ้า เพื่อสร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติ
หากเป็นบริษัทนิติบุคคล ก็จะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กรมสรรพากร แต่หากเป็นบุคคลธรรมดาก็เสียภาษีเงินได้บุคคล ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ หากกิจการเกิดค้าขายดี มีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ด้วย
ดังนั้น ผู้ประกอบการที่มีรายได้ ไม่ว่าร้านค้าขนาดเล็กทั่วไปในท้องตลาดหรือตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ก็ต้องมีหน้าที่เสียภาษีให้แก่รัฐบาล และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ ที่แม้จะไม่มีหน้าร้านค้าเหมือนร้านทั่วไป ก็ไม่อาจปฏิเสธภาระภาษีได้ เพราะธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ มีการค้าขายสินค้าและการชำระเงินเกิดขึ้นจริงเหมือนกับธุรกิจห้างร้านทั่วไป
โดยสรรพากรได้วางแนวทางการจัดเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซ ไว้ 2 แนวทาง คือ 1.ภาษีธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่มีการซื้อขายสินค้าและบริการในประเทศ 2.อี-คอมเมิร์ซ ที่มีการซื้อขายสินค้าและบริการในต่างประเทศ
ซึ่งกฎหมายปัจจุบันของกรมสรรพากร ครอบคลุมการจัดเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซ ที่มีการซื้อขายสินค้าในประเทศเท่านั้น ส่วนอี-คอมเมิร์ซ ที่มีธุรกรรมการซื้อขายสินค้าในต่างประเทศนั้น ยังไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้
“การจัดเก็บภาษีธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ภายในประเทศนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะกรมสรรพากรสามารถติดตามการซื้อขายสินค้าได้จากช่องทางการชำระเงิน ซึ่งได้ดำเนินการตรวจสอบและเรียกเก็บภาษีจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้ มาได้ประมาณ 1-2 ปีแล้ว โดยในแต่ละปีจัดเก็บภาษีจากอี-คอมเมิร์ซกลุ่มนี้ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากระดับ 100 ล้านบาท มาเป็นมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี”
แต่การจัดเก็บภาษีที่กรมสรรพากรยังจัดเก็บไปไม่ถึง คือ การเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซ จากการซื้อขายสินค้าและบริการในต่างประเทศ แม้ว่าธุรกรรมจะเกิดขึ้นในประเทศไทยก็ตาม แต่การชำระเงิน การส่งมอบสินค้าหรือบริการ อาจจะเกิดหรือไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยก็ได้
เช่น การจองห้องพักโรงแรม เมื่อผู้ซื้อได้สั่งจองที่พักแล้ว ผู้ซื้อจ่ายเงินผ่านบัตรวีซ่า ก็จะมีการหักเงินมาจากต่างประเทศ โดยธนาคารพาณิชย์ในไทยทำหน้าที่ในการเป็นตัวกลางชำระเงินเท่านั้น เช่นกับการลงโฆษณาในไลน์หรือเฟซบุ๊ก ที่ชำระเงินด้วยบัตรเครดิต ก็มีการหักเงินมาจากต่างประเทศเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อเจ้าของสินค้าหรือบริการ ไม่มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย กรมสรร-พากรก็ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ จึงทำให้ประเทศไทยสูญรายได้จากการเก็บภาษีเป็นเงินจำนวนมาก
ดังนั้นร่างกฎหมายที่จะเสนอใหม่นี้ กรมสรรพากรจึงได้ศึกษาผลดีและผลเสียจากต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับปรุงและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย ผ่านการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และหวังจะให้รองรับการค้าบนโลกออนไลน์ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า
สำหรับหลักการที่วางไว้คือ 1.กรณีเว็บไซต์โซเชียลมีเดียต่างชาติ ที่มีข้อความหรืออักษรเป็นภาษาไทย ร่างกฎหมายใหม่ จะเปิดกว้างให้กรมสรรพากรตีความว่า เว็บไซต์ดังกล่าว มีสถานที่หรือสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย
2.เมื่อผู้ประกอบการมีสำนักงานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย กรมสรรพากรสามารถประเมินภาษีจากธุรกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นได้ โดยกรมสรรพากรอาจจะระบุจำนวนเงินที่ชัดเจนในการเสียภาษี ซึ่งกรณีนี้หากผู้ประกอบการคิดว่าไม่ถูกต้อง ก็สามารถยื่นเอกสารประกอบการชี้แจง เพื่อการประเมินภาษีร่วมกันได้
ทั้งนี้ อัตราภาษีที่กรมสรรพากรจะเรียกเก็บ จะเท่ากับอัตราภาษีที่ผู้ประกอบการภายในประเทศชำระภาษีให้แก่กรมสรรพากร โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) เก็บในอัตรา 7% ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลเก็บในอัตรา 20%.
...
กสทช.-ดีอีมองคนละมุม
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทร-คมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การเติบโตของอี-คอมเมิร์ซ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ผ่านไลน์, เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม ฯลฯ นั้นพบว่ามีอัตราการเติบโตก้าวกระโดด ขณะที่กฎหมายกำกับดูแลก้าวตามไม่ทัน
ปัญหานี้เป็นสิ่งที่หลายประเทศมีความกังวล และอยู่ระหว่างหาแนวทางในการกำกับดูแล
“สำหรับการค้าขายออนไลน์ ผมได้เสนอแนวคิดไปยังรัฐบาลแล้วว่า หากจะมีการจัดเก็บภาษีก็ต้องจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) หรือจัดเก็บจากช่องทางการชำระเงิน เพราะเมื่อมีการซื้อขายสินค้า ชำระเงินบัตรเครดิต รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีไม่ได้เลย เพราะปลายทางบริษัทที่ขายสินค้า ไม่ได้อยู่ที่ประเทศไทย”
“หรือกรณีโอนเงิน ก็เป็นการโอนเงินระหว่างบุคคล ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้และตรวจสอบก็ไม่ได้ แต่แม้เป็นเรื่องยาก ก็ควรต้องหาช่องทางดำเนินการ เพราะเมื่อมีรายได้ก็ต้องเสียภาษีให้กับประเทศด้วย”
...
เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสร่วมประชุมกับผู้นำองค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ซึ่งทุกประเทศก็ได้ตั้งคำถามกับโซเชียลมีเดียข้ามชาติเหล่านี้ ว่า ได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศที่เข้าไปให้บริการมากน้อยเพียงใด และดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นๆหรือไม่ ที่เมื่อทำธุรกิจในประเทศใดแล้ว ก็จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศนั้น เพื่อรัฐบาลจะได้นำเงินจากภาษีไปพัฒนาประเทศ
โดยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จะประชุมหารือกันในวันที่ 12-13 ก.ย.2560 นี้ เพื่อหารือถึงแนวการกำกับดูแล สร้างอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบการระดับโลก เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ เพื่อให้หันมาลงทุนในอาเซียน ไม่ใช่แค่ตั้งสำนักงานสาขาเท่านั้น
นอกจากนั้น กสทช. จะต้องเชิญผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 20 ช่อง มาหารือถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเกิดบริการของไลน์ทีวี (Line TV) เฟซบุ๊กไลฟ์ (Facebook Live) และยูทูบทีวี (YouTube TV) ด้วย เพราะทีวีดิจิทัลประมูลมาในราคาที่แพง แต่บริการเหล่านี้ ไม่ต้องประมูล ไม่ต้องขออนุญาต ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี แต่ทำรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงควรอยู่ในการกำกับดูแลด้วย แต่จะกำกับอย่างไร ในเมื่อกฎเกณฑ์ ข้อบังคับยังไม่มี
...
ขณะที่ พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มองอีกมุม ระบุ ไม่ว่าประเทศใดในโลกรวมทั้งไทย ไม่สามารถปฏิเสธอี-คอมเมิรซ์ได้ และรัฐบาลก็ไม่สามารถกีดกันหรือสร้างกำแพง เพื่อจัดเก็บภาษีได้ เพราะทั่วโลกไม่มีใครทำ
การเข้ามาของโซเชียลมีเดียข้ามชาติเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ไลน์ เฟซบุ๊ก ทำให้คนไทยก้าวสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว ดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และนำประเทศไทยสู่ยุค 4.0
สิ่งที่ประเทศไทยควรทำ คือการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากโซเชียลมีเดียข้ามชาติเหล่านี้ ด้วยการส่งเสริมให้เกิดนักธุรกิจรายใหม่ (สตาร์ตอัพ) เมื่อมีสตาร์ตอัพจำนวนมากขึ้น ก็จะมีการค้าขายเกิดขึ้น เก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้นไปเอง โดยเชื่อว่าทุกบริษัทตระหนักถึงการเสียภาษีอยู่แล้ว
“ผมไม่อยากให้ไปให้ความสำคัญกับการจัดเก็บภาษี ที่เป็นลักษณะการค้าขายระหว่างผู้บริโภคต่อผู้บริโภค หรือ C to C เพราะเป็นเพียงส่วนน้อย และเราก็ไม่รู้ว่าใครโอนเงินให้ใคร ใครขายของให้ใคร แต่เราควรโฟกัส ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้บริการไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ด้วยการส่งเสริมให้คนไทยพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ดึงดูดให้คนหันมาใช้บริการและใช้ประโยชน์จากแอพพลิเคชั่นนั้นๆมากกว่า”.
ทีมเศรษฐกิจ