ความยุติธรรมที่ล่าช้า...เป็นการฆ่าความยุติธรรม!

นี่คือคำพูดของ นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความคดี 6 โจ๋ฆ่าคนพิการ บุคคลที่พยายามต่อสู้เพื่อคนอื่น จนตัวเองต้องถูกข่มขู่มาแล้ว ซึ่ง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ต่อสายพูดคุยพร้อมตั้งข้อสังเกตต่างๆ เกี่ยวกับคดีทายาทกระทิงแดง 

โดยก่อนที่จะฟัง นายอนันต์ชัย ทีมข่าวฯ ขอไล่เรียงไทม์ไลน์ของคดีนี้ให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นเสียก่อน โดยเฉพาะที่มาที่ไปของทีมทำคดี ว่าเหตุใดถึงล่าช้านัก นอกจากนี้ ยังสอบถาม อ.จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา มาให้ความกระจ่างในประเด็นต่างๆ ของกฎหมายอีกด้วย 

...

ย้อนไทม์ไลน์ “ทายาทกระทิงแดง” ขับรถหรูพุ่งชนตำรวจตายคาเครื่องแบบ

3 กันยายน 2555 เกิดคดีสะเทือนขวัญกลางกรุงเกี่ยวข้องกับทายาทหมื่นล้าน “นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา” อายุ 27 ปี หนุ่มนักเรียนนอกจากอังกฤษ ลูกชายคนเล็ก “เฉลิม อยู่วิทยา” เจ้าของเครื่องดื่มชูกำลัง “กระทิงแดง”

ขณะที่ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ ป.สน.ทองหล่อ กำลังขี่จักรยานยนต์ไทเกอร์ ตราโล่ 51511 กลับ ก็มีรถสุดหรูม้าลำพอง “เฟอร์รารี่” สีบรอนซ์เทา วิ่งมาด้วยความเร็วพุ่งชนดาบวิเชียร และรถ จยย.อย่างแรง กระทั่งรถจักรยานยนต์มาล้มลงที่ปากซอยสุขุมวิท 49 โดยห่างจากจุดพบศพ 200 เมตร!

คดีนี้สะเทือนเลื่อนลั่น พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น.ประกาศลั่นพร้อมเดิมพันตำแหน่ง “หากไม่ได้ตัวคนผิดมาลงโทษ ผมจะขอลาออกทันที!” เสียงกึกก้องทำให้นายตำรวจ 2 กองร้อย ที่มีคำสั่งให้ไปล้อมบ้านกระทิงแดงปรบมือกันเกรียว ได้ใจตำรวจชั้นผู้น้อย

หลังล้อมบ้านอยู่นานก็ได้หมายค้น เข้าตรวจสอบ พบรถเฟอร์รารี่ รุ่นพินินฟาริน่า สีบรอนซ์เทา ทะเบียน ญญ 1111 กรุงเทพมหานคร กันชนหน้าซ้ายแตก มีเครื่องหมายยศดาบตำรวจของผู้ตายติดคากระจก และยังมีบันทึกของ รปภ.ว่า นายวรยุทธ ขับรถออกจากบ้านอีกด้วย

แต่เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อมีตำรวจคนหนึ่งนำพ่อบ้านซึ่งมีหน้าที่ดูแลรถมอบตัว สร้างความไม่พอใจให้ “บิ๊กแจ๊ด” หรือ พ.ต.ท.คำรณวิทย์ เป็นอย่างยิ่ง

“ผมไม่พอใจเพราะไปเอาตัวปลอมมามอบตัว ส่วนคนขับรถชนตำรวจตัวจริงยังลอยนวลอยู่ ผมทราบดีว่า สวป.คนดังกล่าวมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยให้กับบ้านของลูกชายเจ้าสัวกระทิงแดง แต่ทำงานแบบนี้ใช้ไม่ได้!” บิ๊กแจ๊ด กล่าวอย่างแข็งกร้าว

...

ขนาด ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า “คดีนี้จะไม่สะดุดเพราะนามสกุลใหญ่แน่นอน ถ้าคนรวยทำผิดก็ต้องดำเนินคดีทางกฎหมาย”

อย่างไรก็ดี คดีนี้ถูกแจ้งใน 2 ข้อหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกชน และมีความเห็นไม่ฟ้อง 2 ข้อหา คือ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกชน และมีความเห็นไม่ฟ้อง 2 ข้อหา คือ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต และขับรถโดยขณะมึนเมา

"ในข้อหาขับรถในขณะมึนเมาสุรานั้น มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน เพราะแม้ผลตรวจแอลกอฮอล์เกิน ก็ระบุไม่ได้ว่า ดื่มก่อนขับหรือหลังขับ ทั้งที่เจาะเลือดในช่วงบ่าย" นายฤชา ไกรฤกษ์ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กล่าว

แม้จะมีคำสั่งดังกล่าว แต่ทีมทนายของทายาทกระทิงแดงก็ได้ขอเลื่อนนัดอย่างต่อเนื่องถึง 5 ครั้ง โดยมีการร้องขอความเป็นธรรมประเด็นขับรถเร็วเกินอัตรากฎหมายกำหนด ขอให้สอบพยานเพิ่มเติม 4 ปาก และมีการอ้างเรื่องการป่วย โดยมีใบรับรองแพทย์ยืนยัน เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 56 จึงได้มีการนัดฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่แล้วก็มีการขอเลื่อนอีก ส่งผลให้คดีขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดฯ ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษมีอายุความ 1 ปี หมดอายุความในวันที่ 3 ก.ย. 56 เพราะไม่สามารถนำตัวไปฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ทัน

...

เปิดรายชื่อตำรวจดูแลคดี ย้อนคำสัมภาษณ์นายตำรวจดัง!

สำหรับคดีใหญ่ของคนตระกูลดังที่ขับรถชนคนตายในครั้งนี้ ผ่านมือนายตำรวจที่ดูแลคดีมาแล้วมากถึง 9 คน ประกอบด้วย

1. พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายาน อดีต รอง ผบก.น.5
2. พ.ต.อ.ไตรเมศ อุทัย อดีต รอง ผบก.น.5
3. พ.ต.อ.ชุมพล พุ่มพวง อดีต ผกก.สน.ทองหล่อ
4. พ.ต.อ.สัมฤทธิ์ เกตุแย้ม อดีต พงส.(สบ 4) กลุ่มงานสอบสวน บก.น.5
5. พ.ต.ท.อัครวินต์ สุคนธวิท อดีต รอง ผกก.สส. สน.ทองหล่อ
6. พ.ต.ท.วิบูลย์ ถินวัฒนากูล อดีต พงส.(สบ 3) สน.ทองหล่อ
7. พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี พงส.ผทค.สน.ทองหล่อ อดีต พงส.(สบ 3) สน.ทองหล่อ
8. ร.ต.อ.กิติศักดิ์ พรสงวนทรัพย์ พงส.(สบ 1) สน.ทองหล่อ
9. ร.ต.อ.หญิง สิริภา ศรีทรัพย์ พงส.กลุ่มงานสอบสวน บก.น.5

วันที่ 25 มี.ค. 56 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 55 ต้องตรวจสอบว่าเกิดความบกพร่องตรงไหนที่ทำให้ข้อหา “ขับรถเร็ว” หมดอายุความภายใน 1 ปี เบื้องต้น สั่งการให้ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. ทำหนังสือรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ปรากฏว่าตำรวจที่รับผิดชอบสำนวนยังทำรายงานไม่เรียบร้อย ต้องเดินทางมาตรวจสอบด้วยตัวเอง กรณีนี้ควรทำให้เกิดความชัดเจนว่ามีความบกพร่องในขั้นตอนใด เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่ และมีการวิ่งเต้นคดีหรือไม่ เพราะตำรวจส่งสำนวนให้อัยการแล้ว แต่ทำไมไม่สามารถนำตัว นายวรยุทธ มาส่งฟ้องได้ หากตรวจสอบพบว่าเป็นความบกพร่องในชั้นตำรวจ ต้องถูกลงโทษทั้งทางปกครองและทางวินัยทันที

ขณะที่ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ขณะนั้นยังรักษาราชการผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า เป็นความบกพร่องของพนักงานสอบสวนที่ให้ข้อหาขับรถเร็วฯ หมดอายุความ ซึ่งจะต้องดำเนินการในเรื่องของวินัยและอาญา รวมถึงพิจารณาว่าจะต้องรับผิดชอบทั้งคณะ หรือเป็นรายบุคคล

...

สื่อนอกประโคมข่าว อ้าง ทายาทกระทิงแดง ใช้ชีวิตหรู โฆษกอัยการแจงเหตุดำเนินคดีล่าช้า 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศได้นำเรื่องนี้มาตีข่าว พร้อมวิเคราะห์ถึงคดีนี้ ซึ่งทาง AP อ้างว่า การเจอตัว “บอส อยู่วิทยา” เป็นเรื่องยาก แต่เมื่อเดือนก่อนโลกโซเชียลได้แจ้งเบาะแสที่ทำให้นักข่าวของเอพี รู้ว่า วรยุทธ และครอบครัวของเขาไปเที่ยวที่เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว ซึ่งได้พักกันที่รีสอร์ตแห่งหนึ่ง ซึ่งมีราคาคืนละ 1,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 35,000 บาท)

ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน (30 มี.ค.) นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงว่า เหตุที่คดีมีความล่าช้าเนื่องจากผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาหลายครั้ง อัยการจำเป็นต้องสอบให้สิ้นกระแสความ แต่ถ้าไม่มีประเด็นเพิ่มเข้ามาอีกน่าจะยุติได้ ส่วนข้อหาบางข้อหาได้หมดอายุความไปแล้ว แต่ในการสืบพยานในชั้นศาลจะมีการนำสืบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ส่งผลกระทบต่อรูปคดี คดีนี้ยังมีเหลือ 2 ข้อหาคือ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท มีอายุความ 15 ปี และจะหมดอายุความในเดือน ก.ย. 70 ส่วนคดีไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่ผู้ได้รับความเสียหาย และไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานในทันที หรือชนแล้วหนี มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับ 5,000-20,000 บาท อายุความ 5 ปี จะขาดอายุความภายในวันที่ 3 ก.ย. 60 นี้ อัยการจะกำชับให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องได้ก่อนหมดอายุความ

ทนายความดังตั้งข้อสังเกต คดีล่าช้า หวังให้คนลืม 

นายอนันต์ชัย กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า คดีอุบัติเหตุนั้น ปกติแล้วตำรวจและเจ้าหน้าที่จะใช้เวลาการทำงานประมาณ 6 เดือน แล้วก็จะส่งฟ้อง เนื่องจากคดีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.จราจร ซึ่งมีอายุความ 1 ปี

"ส่วนกรณีการขอความเป็นธรรมนั้น โดยปกติเขาจะรับเรื่องไว้ก่อน แต่ประเด็นในคดีทายาทกระทิงแดง เป็นการขอความเป็นธรรมหลายครั้ง เรียกว่า ขอแล้วขออีก จนกระทั่งพิจารณาเสร็จแล้วก็ยังขอเลื่อนอีก เทคนิคดังกล่าวอาจจะตั้งข้อสังเกตได้ว่าเป็นการประวิงเวลา ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นเทคนิคของทนาย หรือผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมาย ซึ่งเขาจะชี้แนะว่าคุณควรทำแบบนี้

โดยทั่วไปนั้น การประวิงเวลา เขาจะทำในชั้นพนักงานสอบสวน เช่น พยายามสอบสำนวนให้ช้า ติดนู่นติดนี่ หรือในชั้นอัยการก็พยายามขอความเป็นธรรมในเรื่องต่างๆ เพื่อมีเป้าหมายทำให้คดีล่าช้าลง"

คดีลักษณะนี้ หากไม่มีพรรคพวก “จะเร็ว” ส่วน “มีพรรคพวก”จะช้า!?

ทนายอนันต์ชัย อธิบายว่า...ไม่มีพรรคพวก หมายความว่า การพิจารณาขอความเป็นธรรมนั้นจะรวดเร็ว ได้คำตอบมาว่า สมควร หรือ ไม่สมควร สอบเพิ่มหรือไม่ เป็นต้น

ส่วนมีพรรคพวก ก็มักจะมีคำแนะนำต่างๆ ให้สอบตรงนู้นตรงนี้เพิ่มเติม เพื่ออ้างเหตุร้อยแปดพันเก้าเพื่อมีเป้าหมายให้คดีมันล่าช้า

กรณีที่มีอายุความยาวนาน การประวิง จะทำเพื่ออะไร ทีมข่าวถามฯ ทนายอนันต์ชัย ตอบสวนทันควันว่า ในความคิดผม คิดว่าเขาทำเพื่อให้ “สังคมลืม” แต่บังเอิญคือ เรื่องนี้ สำนักงานข่าวต่างประเทศรายงานจึงกลายเป็น “ลืมไม่ลง” เขากระทุ้งเขามาทำให้วงการกระบวนการยุติธรรมเสียหาย ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่อง “น่าละอาย” ในฐานะที่ผมเป็นนักกฎหมายคนหนึ่ง

หากดูตามข่าว จะรู้ว่าคดีนี้ไม่มีความซับซ้อนแต่อย่างใด เป็นคดีขับรถชนซึ่งมีหลักฐานเป็นภาพวงจรปิด และควรจะสั่งฟ้องไปนานแล้ว แต่ทางตำรวจกับทางอัยการ โดยเฉพาะทางอัยการที่ปล่อยให้เขาได้เลื่อนการมอบตัว เช่น อ้างว่าไปต่างประเทศบ้าง ป่วยบ้าง

“เรื่องนี้ส่วนตัวมองว่าไม่ได้เกี่ยวกับกฎหมาย แต่เกี่ยวกับการกระทำของบุคคลมากกว่า ทั้งตำรวจ อัยการ ทนาย เป็นไปได้อย่างไร...คดีขับรถชนคนตายใช้เวลาในการทำงานยาวนานถึง 5 ปี ตั้งแต่ตนเป็นทนายมายังไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน หากเป็นตาสีตาสา ป่านนี้ถูกฟ้องติดคุกแล้ว”

ตอนนี้เรื่องทั้งหมดอยู่ที่ขั้นตอนที่อัยการแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไร วันที่ 27 เมษายนนี้ จะมีการ สั่งฟ้อง หรือ ออกหมายจับ หรือไม่ คงต้องรอดู

สิ่งที่อยากเสนอคือ อยากให้สังคายนากระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการพิจารณาคดีของพนักงานอัยการ และพนักงานสอบสวน ให้มีกำหนดระยะเวลาในการร้องขอความเป็นธรรมในการพิจารณาการเลื่อน ควรจะมีระเบียบให้ชัดเจน จะได้ป้องกันการประวิงเวลาสั่งฟ้อง อยากให้แก้การร้องขอความเป็นธรรมให้มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน หรือจะแก้กฎหมายเพื่อให้ความเป็นธรรมกับประชาชน ซึ่งคดีนี้ไม่ใช่คดีเดียว แต่คดีอื่นก็เคยมีลักษณะแบบนี้ เพียงแต่คดีเหล่านั้นไม่ใช่คดีดังเท่านั้นเอง...

อำนวยความยุติธรรมที่ล่าช้า 5 ปี ทำคดีอุบัติเหตุ 

สุดท้าย ทีมข่าวได้สอบถามไปยังกูรูกฎหมาย เกี่ยวกับประเด็น "ข้อหาที่หมดอายุความไปแล้ว" นั้น สามารถนำมาใช้ประกอบสำนวนฟ้องได้จริงหรือไม่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถาม นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และ อ.จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 

นายสราวุธ กล่าวว่า ประเด็นข้อหาที่หมดอายุความนั้น ตนไม่สามารถให้ความเห็นได้ เนื่องจากคดีกำลังมาที่ศาล อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า คดีอุบัติเหตุใช้เวลาทำงาน 5 ปีนั้น เป็นการอำนวยความยุติธรรมล่าช้าหรือไม่ นายสราวุธ กล่าวว่า นับว่าล่าช้ามาก เราลองไปสังเกตการทำคดีลักษณะนี้ว่าเขาทำกันนานแค่ไหน เราก็จะได้คำตอบ

ขณะที่ อ.จรัญ กล่าวว่า ารนำคดีที่หมดอายุความไปแล้วมาประกอบนั้น ถือว่าไม่ค่อยมีความสำคัญ การนำมาใช้นับว่าไม่ได้ประโยชน์อะไร เพียงแต่ว่าทำให้เห็นว่าเรื่องราวมันต่อเนื่องกัน แต่ไม่สามาถทำให้ฟื้นคืนมาได้

"การอำนวยความยุติธรรมล่าช้าหรือไม่ ประเด็นนี้ไม่ต้องถามผมหรอก แค่ถามประชาชนทั่วไปก็ได้ ถามว่าเขาอยากได้อะไร ตามหลักวิชาไม่มีหลักเกณฑ์บอก มีแต่บอกว่าต้องทำให้รวดเร็ว ดังนั้น หากจะถามในเรื่องนี้จึงต้องถามคนทั่วไป"

คดีนี้นับเป็นอีก 1 คดีที่ชาวบ้านจับตามองอยู่ เนื่องจากผู้ต้องหาคือทายาทหมื่นล้าน ลูกหลานของเจ้าสัวชื่อดังของเมืองไทย และมักจะถูกหยิบยกไปเปรียบเทียบถึงความเท่าเทียมกับคดีอื่นๆ อยู่เสมอ จนกลายเป็นวลี ติดปากของคนในสังคมว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง ต้องให้ความกระจ่างกับสังคมว่า เรื่องที่พูดนั้นไม่ใช่ความจริง!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน