วิกฤติป่าชายเลน!
ป่าชายเลน ป่าที่มีความสำคัญต่อชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ
แต่น่าเศร้า ที่ ณ วันนี้ ป่าชายเลนของประเทศไทยเหลือเพียง 1,534,584.74 ไร่ใน 24 จังหวัดที่มีป่าชายเลน ขณะที่แต่เดิมมีถึงประมาณ 2.327 ล้านไร่นับจากมติ ครม.วันที่ 15 ธ.ค.2530 ที่มีการจัดทำแนวเขตป่าชายเลน โดยจังหวัดที่มีป่าชายเลนมากที่สุด คือ พังงา 274,401.14 ไร่ สตูล 225,889.65 ไร่ กระบี่ 213,646.09 ไร่ ตรัง 211,625.11 ไร่ และระนอง 161,919.41 ไร่
จริงอยู่ แม้รัฐบาลจะมีนโยบายเข้มข้นในการ แก้ปัญหา “บุกรุกป่าชายเลน” พร้อมตั้งเป้า “ยึดคืน” และ “ฟื้นฟู” สภาพพื้นที่ให้กลับคืนมา หลังพบว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา นอกจากการถูกบุกรุกทำลายจำนวนมากโดยประชาชน นายทุน ผู้มีอิทธิพล ที่เข้าไปใช้ประโยชน์ทั้งทำการเกษตร อยู่อาศัย เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แต่ก็ยังพบว่ายังมีปัญหาจาก “นโยบายรัฐ” ด้วย อาทิ การออกโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โดยเฉพาะแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) ซึ่งผู้ครอบครองมักกล่าวอ้างอาณาเขตติดต่อ และลักษณะการทำประโยชน์ ส่งผลให้ยากต่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรฯ ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลป่าชายเลนของประเทศ จึงปฏิรูปการ บริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลนใหม่ทั้งหมดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่จัดตั้งขึ้นมาในปี 2545 พร้อมกับมีกฎหมายเป็นของตัวเองคือ พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 จากเดิมที่ต้องใช้กฎหมายป่าสงวนฯกับ มติ ครม.ปี 2543 ในการจัดการกับผู้กระทำผิด
...
“ทช.จะจัดระเบียบป่าชายเลนใหม่หมด โดยจะเริ่มต้นด้วยการคืนพื้นที่ทับซ้อนระหว่างป่าชายเลนกับป่าอนุรักษ์และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของกรมอุทยานฯ 2.7 แสนไร่ และจะทำให้ ทช.เหลือพื้นที่ ที่ต้องบริหารจัดการ คือ 2.586 ล้านไร่ โดยจะแบ่งเป็น 2 เขตพื้นที่ คือ 1.เขตป่าชายเลนอนุรักษ์ 1.53 ล้านไร่ ใน 1.53 ล้านไร่จะแบ่งเป็นพื้นที่เตรียมการ กำหนดเป็นป่าชายเลนอนุรักษ์ 1.28 ล้านไร่และแนวกันชน 2.5 แสนไร่ และ 2.เขตป่าชายเลนเพื่อการจัดการที่ยั่งยืน 1.33 ล้านไร่ ซึ่งจะมีการกันพื้นที่เอกสารสิทธิที่ถูกต้องออก กับจัดระเบียบการอนุญาตการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน ประมาณ 5 พันกว่าไร่ ที่สำคัญจะมีการประกาศเขตป่าชายเลนอนุรักษ์ จำนวน 48 กลุ่มป่า ครอบคลุม 24 จังหวัดเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ โดยจะยกระดับสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่มีอยู่ 45 สถานีทั่วประเทศให้เป็นเขตพิทักษ์ป่าชายเลนอนุรักษ์ จำนวน 48 เขตตามกลุ่มป่าพร้อมๆกับการเสนอกฎกระทรวงกำหนดป่าชายเลนอนุรักษ์และรังวัดทำแผนที่และมาตรการอนุรักษ์กลุ่มป่า จัดทำแนวเขตป่า ชายเลนอนุรักษ์ใหม่ใน 48 กลุ่มป่า 23,622 กิโลเมตร ที่สำคัญจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพการลาดตระเวน เฝ้าระวังและป้องกันการบุกรุกป่าชายเลน 2.58 ล้านไร่ร่วมกับ 200 เครือข่ายอนุรักษ์ที่เป็นพันธมิตร” น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดี ทช.กล่าวถึงการปฏิรูปการบริหารจัดการพื้นที่ป่า ชายเลน
นอกจากนั้น ทช.จะใช้กฎหมายของตัวเองที่มีผลบังคับใช้แล้วในมาตรา 17 ให้สิทธิเจ้าหน้าที่ “รื้อถอน” สิ่งปลูกสร้างได้ทันที หากพบว่าบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนที่ประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองและในมาตรา 23 สามารถประกาศพื้นที่ป่าชายเลนคุ้มครองได้เลย เป็นต้น ซึ่งทันทีที่มี “อาวุธ” ในมือ ทช.ก็เดินหน้าแผน “ยึดคืน” ป่าชายเลนทันที เฉพาะปี 2560 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทวงคืนผืนป่าได้ 7,599 ไร่ 130 คดี เพิ่มพื้นที่ป่าได้ 1,053.30 ไร่
ขณะเดียวกัน จะมีการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนที่ยึดคืนมาได้ โดยจะดำเนินการใช้ลักษณะคล้ายๆ กับป่าชุมชน โดยจะทำเป็น ป่าชายเลนเพื่อการใช้สอย ป่าชายเลนเพื่อเศรษฐกิจ ป่าชายเลนพลังงาน เป็นต้น
“สิ่งสำคัญที่จะต้องดำเนินการนอกจากรักษา ฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าแล้ว คนกับป่าก็ต้องอยู่ร่วมกันได้ตามหลักการคุ้มครองและจัดสรรอย่างสมดุล โดย ทช.เตรียมจัดสรรที่ดินตามนโยบายคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในรูปแบบของที่อยู่อาศัยในปี 2560 ให้กับ 28 ชุมชนพื้นที่ 318 ไร่ และที่ดินทำกินอีก 16,000 ไร่ ขณะนี้อนุญาตแล้ว 7,785 ไร่” อธิบดี ทช.กล่าว
...
ยิ่งไปกว่านั้นแผนการปฏิรูปป่าชายเลน จะเน้นไปที่การจัดระเบียบการอนุญาตเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ต่อประเทศชาติ เช่น การท่องเที่ยว การประมงและกิจกรรมที่ต่อเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น โดยต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
“การดำเนินการทั้งหมดเหมือนกับเป็นการจัดโซนนิ่งโซนป่าชายเลนอนุรักษ์ โซนป่าชุมชน โซนป่าเศรษฐกิจ โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม และข้อมูลการสำรวจภาคสนามเป็นตัวกำหนด วิธีนี้จะช่วยให้ป่าชายเลนเกิดความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์” น.ส.สุทธิลักษณ์ ระบุ
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่าแผนปฏิรูปการบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลน นอกจากจะช่วยให้แผนเดินหน้ายึดคืนพื้นที่ป่าชายเลนที่ถูกบุกรุกเกิดผลสำเร็จได้ ยังเท่ากับช่วยการฟื้นฟูให้เกิดความสมบูรณ์อย่างยั่งยืนควบคู่กันด้วย
แต่สิ่งที่เราคงต้องขอฝากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ แผนปฏิรูปฯ จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำแบบไฟไหม้ฟาง หรือมีดีแค่แผนบนแผ่นกระดาษ แต่การลงมือปฏิบัติกลับเป็นคนละทิศละทาง
และทั้งหมดนี้ก็เพื่อ “ป่าชายเลนและทะเลไทย” จะได้เป็นแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนสืบไป.
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม