“รายงานวันจันทร์”-ยกระดับ “ภูเก็ต” เป็นศูนย์กลางอันดามัน

จังหวัดภูเก็ต ไข่มุกแห่งอันดามัน เศรษฐกิจกำลังขยายตัวแบบก้าวกระโดด ล่าสุดสถิติมีนักท่องเที่ยวถึง 15 ล้านคน/ปี ดังนั้น รัฐบาลจึงส่งเสริมให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวนานาชาติ โดยเร่งพัฒนาระบบขนส่งทุกระบบเพื่อรองรับ หนึ่งในนั้นคือโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (Tramway)

โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ขณะนี้การศึกษาเกือบจะเสร็จสมบูรณ์ และเห็นเป็นรูปร่างชัดเจน ซึ่งคุณ ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผอ.สนข. มีข้อมูลชี้แจงให้ทราบผ่าน “รายงานวันจันทร์”

---------------------

ถาม-ที่มาของรถไฟฟ้ารางเบา

ผอ.สนข.–ตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งของประเทศระยะเร่งด่วน ปี 2560 มีทั้งหมด 36 โครงการ วงเงินลงทุน 8.9 แสนล้านบาท หนึ่งในนั้นคือโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต เพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก สนข.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม และสอบถามความเห็นประชาชนในพื้นที่ พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เอาระบบลอยฟ้า เพราะบดบังทัศนียภาพเมืองและได้ข้อสรุปว่า ระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมก็คือ รถไฟฟ้ารางเบา หรือรถราง (Tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง บนทางหลวงหมายเลข 402 หรือถนนเทพกระษัตรี ตั้งแต่ท่านุ่น–ห้าแยกฉลอง ระบบรางคู่ โดยประชาชนกว่าร้อยละ 80 เห็นด้วยกับโครงการและเร่งรัดให้ดำเนินการโดยเร็ว ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ คาดว่าจะดำเนินการได้ปลายปีนี้ เริ่มก่อสร้างปี 2561 ใช้เวลา 3ปี

...

ถาม-รายละเอียดโครงการ

ผอ.สนข.–เส้นทางรถราง เริ่มจากท่านุ่น บริเวณสะพานสารสิน เชื่อมจังหวัดพังงากับภูเก็ต ข้ามสะพานไปตามแนวเกาะกลางถนนเทพกระษัตรี ช่วงท่านุ่น–ประตูเมืองภูเก็ต ใช้ระบบรางเดี่ยว เมื่อถึงแยกสนามบินภูเก็ต แนวเส้นทางจะเบี่ยงออกทางซ้าย ตีโค้งเปลี่ยนเป็นยกระดับเข้าสนามบินเพื่อรับผู้โดยสาร เมื่อออกจากสนามบินแนวเส้นทางจะกลับสู่เกาะกลางถนนตามเดิม เป็นระบบรางคู่ ช่วงผ่านจุดตัดทางแยกจะใช้รูปแบบทางลอดมีทั้งหมด 6 จุด แนวเส้นทางไปสิ้นสุดที่ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 60 กม.

มีทั้งหมด 24 สถานี ได้แก่ 1.สถานีท่านุ่น 2.สถานีท่าฉัตรไชย 3.สถานีประตูเมืองภูเก็ต 4.สถานีท่าอากาศยานภูเก็ต 5.สถานีเมืองใหม่ 6.สถานีโรงเรียนเมืองถลาง 7.สถานีถลาง 8.สถานีอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร 9.สถานีเกาะแก้ว 10.สถานีขนส่ง 11.สถานีราชภัฏภูเก็ต 12.สถานีทุ่งคา 13.สถานีเมืองเก่า 14.หอนาฬิกา 15.สถานีบางเหนียว 16.สถานีห้องสมุดประชาชน 17.สถานีสะพานหิน 18.สถานีดาวรุ่ง 19.สถานีศักดิเดชน์ 20.สถานีวิชิต 21.สถานีเจ้าฟ้า–ตะวันออก 22.สถานีป่าหลาย 23.สถานีโคกตนด และ 24.สถานีฉลองตัวรถรางมีลักษณะเหมือนรถไฟ น้ำหนักเบากว่า ขบวนรถยาว 30 เมตร กว้าง 2.40 เมตร ใช้ไฟฟ้าจากสายด้านบน ขนาด 750 V ในเขตนอกเมือง ความเร็วสูงสุด 80-100 กม. ต่อ/ชม. ช่วงในเมืองความเร็วสูงสุด 20-40 กม.ต่อ/ชม. ความจุขบวนรถ 200 คน ค่าโดยสาร 18 บาท +2.5 บาท/กม. เฟสแรกจะทำจากท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง มูลค่า 23,000 ล้านบาท รูปแบบลงทุนแบบ PPP มอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการ เริ่มก่อสร้างปี 2561 ใช้เวลา 3 ปี เป็นรถรางสายแรกในภูมิภาค ซึ่งรัฐบาลจะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด.