เมื่อเร็วๆนี้วารสารทางการแพทย์แลนเซ็ตได้เผยว่าความสูญเสียการได้ยินเป็นการระบาดแบบเงียบๆที่เกิดจากมลพิษทางเสียงในเมืองใหญ่ ซึ่งนักวิจัยจากศูนย์การแพทย์มิมี่ แอนด์ ชาไรต์ มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ได้รวบรวมข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกและสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งชาตินอร์เวย์ (SINTEF) มาจัดอันดับมลพิษทางเสียงในหลายเมืองทั่วโลกเพื่อเชื่อมโยงกับการสูญเสียการได้ยินของประชากรใน 50 เมืองใหญ่ โดยทดสอบการได้ยินผ่านโทรศัพท์มือถือจากประชากร 200,000 คน

พบว่าในเขตเมืองใหญ่อย่างเมืองกวางโจวในจีน นิวเดลีในอินเดีย ไคโรในอียิปต์ อิสตันบูลในตุรกี เป็นเมืองที่การได้ยินอยู่ในระดับย่ำแย่มากที่สุด เช่นเดียวกับเมืองซูริกในสวิตเซอร์แลนด์ เวียนนาในออสเตรีย ออสโลในนอร์เวย์ มิวนิกในเยอรมนี ต่างมีระดับการได้ยินลดลง ในขณะที่เมืองสตอกโฮล์มในสวีเดน โซลในเกาหลีใต้ อัมสเตอร์ดัมในเนเธอร์แลนด์ สตุตการ์ตในเยอรมนี เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มความเสี่ยงน้อยกว่า โดยเมืองเซี่ยงไฮ้ในจีน เกาะฮ่องกง บาร์เซโลนาในสเปน เป็นเมืองที่ผลิต เสียงดังมาก ส่วนปารีสในฝรั่งเศสมีเสียงดังมากเป็นอันดับ 3

การศึกษาพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วประชากรที่อาศัยในเมืองที่มีเสียงดังที่สุดมากกว่า 10 ปีจะสูญเสียการได้ยินมากกว่าประชากรที่อาศัยในเมืองที่เงียบสงบ ด้านนักวิชาการโสตวิทยากล่าวว่า หากตรวจพบการสูญเสียการได้ยินก่อนหน้านี้ จะยิ่งมีโอกาสที่จะป้องกันความเสียหายได้มากขึ้น ทั้งนี้ นักวิจัยด้านพันธุกรรมในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้พยายามศึกษาความเชื่อมโยงการสูญเสียการได้ยินกับความผิดปกติทางพันธุกรรมเช่นกัน.