สัปดาห์ที่แล้วมีการประชุมติดตามความก้าวหน้ากิจกรรมการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ พร้อมทำพิธีส่งมอบลูกม้าน้ำ เพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ระหว่างกรมประมงกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สองหน่วยงานต่างกระทรวงสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี เพราะม้าน้ำเป็นสัตว์ในบัญชี 2 ของไซเตส ที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์ จึงยังอนุญาตให้ทำการค้าได้ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหายจนใกล้จะสูญพันธุ์
ปัจจุบันม้าน้ำที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติของไทย มีปริมาณลดลงถึง 30-50% สาเหตุหลักมาจากแหล่งที่อยู่อาศัยในทะเลถูกทำลาย และมีการจับขึ้นมาใช้ประโยชน์ทางการค้าที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกปี
อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง จึงให้หน่วยงานด้านการวิจัยทำการศึกษาข้อมูลชีววิทยาของม้าน้ำทั้งในทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน นำพ่อแม่พันธุ์มาเพาะเลี้ยง จนปัจจุบันเราสามารถผลิตลูกพันธุ์ม้าน้ำจนเป็นผลสำเร็จแล้ว 4 สายพันธุ์
ม้าน้ำหนาม ม้าน้ำดำ ม้าน้ำ 3 จุด และม้าน้ำแคระ
เพื่อนำไปปล่อยในทะเล เพิ่มจำนวนประชากรม้าน้ำในธรรมชาติให้มีมากขึ้น โดยส่งมอบให้กับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ไปจัดหาแหล่งอาศัย เบื้องต้นนำไปปล่อยที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อ.สิเกา จ.ตรัง
ปีนี้จะปล่อยม้าน้ำ 100,000 ตัว ส่วนหนึ่งจะปล่อยไว้ในกรงใกล้อุทยานหาดเจ้าไหม พร้อมติดกล้องวงจรปิด เพื่อศึกษาถึงวิถีชีวิตและการอยู่รอดของม้าน้ำ...จะอยู่ในธรรมชาติได้จริงแค่ไหน อย่างไร
ส่วนการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงม้าน้ำในเชิงพาณิชย์ ขณะนี้กรมประมงมีองค์ความรู้พร้อมที่จะถ่ายทอดให้เกษตรกรและภาคเอกชนที่สนใจนำไปเพาะเลี้ยงเพื่อการส่งออกได้ แต่ต้องจดทะเบียนตั้งเป็นฟาร์มให้ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นสัตว์อยู่ในบัญชี 2 ของ
ไซเตสที่อยู่ในการควบคุม
...
นี่ไม่เพียงจะช่วยทำรายได้เข้าประเทศเท่านั้น...บ้านเรายังจะได้หน้าได้ตา เป็นประเทศลำดับที่ 2 รองจากฟิลิปปินส์ ที่มีฟาร์มม้าน้ำในเชิงพาณิชย์.
สะ–เล–เต