"สามารถ" ชมนายกฯ เอาจริงสางโกงทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง กล้าผ่าตัด รฟท. แนะ "บอร์ด-ผู้ว่าการฯ" คนใหม่ เปลี่ยนระบบทำงาน ล้างแดนสนธยา
เมื่อวันที่ 24 ก.พ.60 นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อ "รางรถไฟทางคู่แพงเว่อร์สูงกว่าราคาจริงเกิน 70%" ว่า ดีใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กระตือรือร้นเอาจริงที่จะทำให้การประมูลจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใสเป็นธรรม โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างในการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งขณะนี้มีการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 โครงการ และตนเห็นด้วยที่รัฐบาลมุ่งมั่นจะก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขนาดรางกว้าง 1 เมตร ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย เพราะจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้แท้จริง หลังจากตนเปิดเผยความไม่ชอบมาพากลในการประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่หลายบทความ ตั้งแต่ ธ.ค.2559 ตั้งแต่การซื้อซองเอกสารประกวดราคา ระหว่างวันที่ 4 ธ.ค.2559 ถึงวันที่ 6 ม.ค. 2560 จนถึงวันก่อนยื่นเอกสารประกวดราคา ในวันที่ 3 ก.พ. 2560 แต่ รฟท.เลื่อนการประกาศผลโดยไม่มีกำหนด ทราบว่าเหตุที่ต้องเลื่อน เพราะมีความพยายามที่จะทำให้ผู้รับเหมาขนาดกลางที่เข้ายื่นซองด้วย ซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่ม มีคุณสมบัติไม่ครบ ไม่สามารถเข้าเสนอราคาได้ จากกลุ่มผู้รับเหมายื่นเอกสารประกวดราคาทั้งหมด 7 กลุ่ม แต่มีโครงการอยู่ 5 โครงการ จึงต้องทำให้ผู้รับเหมาขนาดกลาง 2 กลุ่ม หมดสิทธิ์เข้าเสนอราคา ก็จะเหลือผู้รับเหมาขนาดใหญ่ 5 กลุ่มเท่ากับจำนวนโครงการ แต่ถ้าปล่อยให้ผู้รับเหมาขนาดกลางเข้าเสนอราคา เพื่อแข่งขันกับผู้รับเหมาขนาดใหญ่ได้ ก็อาจจะทำให้ผู้รับเหมาขนาดใหญ่แพ้ประมูล หรือไม่ได้งาน ด้วยเหตุนี้การแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 11/2560 ขึ้นมาเมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่
...
"หากคณะกรรมการฯ จะทบทวนการประมูลดังนี้ 1.ทบทวนราคากลางของทั้ง 5 โครงการ ให้ละเอียดรอบคอบทุกรายการ เพราะมีบางรายการที่ รฟท.กำหนดราคากลางสูงเกินความเป็นจริง เช่น ราคาเหล็กรางรถไฟ ซึ่ง รฟท.กำหนดราคากลางไว้ที่ 37,143 บาทต่อตัน ในขณะที่ผู้รับเหมาสามารถซื้อได้ในราคาประมาณ 21,600 บาทต่อตันเท่านั้น คือ ต่ำกว่าราคากลางถึง 72% เมื่อตัวเลขส่วนต่างสูงเช่นนี้ ทำให้ผมเชื่อว่าจะต้องมีราคากลางอีกหลายรายการที่ตั้งราคาไว้สูงเกินจริง หากคณะกรรมการฯทำการตรวจสอบจริงจัง ก็จะช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศได้จำนวนมาก เพราะ รฟท.จะต้องก่อสร้างรถไฟทางคู่อีกหลายโครงการ 2.แบ่งงานก่อสร้างออกเป็นหลายตอน โดยให้งานแต่ละตอนมีมูลค่าโครงการประมาณ 5,500 ล้านบาท เพื่อให้ผู้รับเหมาขนาดกลางสามารถเข้าแข่งขันกับผู้รับเหมาขนาดใหญ่ได้ ซึ่งจะทำให้ค่าก่อสร้างถูกลง ช่วยประหยัดงบฯ ชาติ โดยให้คณะกรรมการชุดนี้การกำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างตามคำสั่งประกาศ คสช. ที้งนี้ในการประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั้ง 5 โครงการ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่มีการแบ่งงานก่อสร้างออกเป็นตอนๆ ทำให้แต่ละโครงการมีวงเงินสูงกว่า 10,000 ล้านบาททุกโครงการ 3.ทบทวนข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง หรือทีโออาร์ รวมทั้งข้อกำหนดทางเทคนิคหรือสเปกให้มีความเป็นธรรม ไม่มีการล็อกสเปกให้ผู้รับเหมาหรือผู้ผลิตรายหนึ่งรายใด ซึ่งจะทำให้มีการแข่งขันกันอย่างจริงจัง ส่งผลให้ประหยัดงบประมาณได้ ดังนั้นแม้ว่า รฟท.จะได้ประธานบอร์ดคนใหม่ไปแล้ว และกำลังจะมีผู้ว่าการฯ คนใหม่ แต่หากไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงานแบบเดิมๆ รฟท.ก็จะยังคงเป็นแดนสนธยาเช่นเดิม" นายสามารถ ระบุ.