กรณีที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จะพิจารณาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา เดินหน้าต่อตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นที่น่าจับตา ในจุดที่ล่อแหลม ระหว่างมวลชนที่สนับสนุนและคัดค้าน โดยรองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สหรัฐ บุญโพธิภักดี ได้พยายามชี้แจงว่า ตามที่ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ ออกแถลงการณ์ค้านการสร้าง โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา มีบางประเด็นที่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อน อาทิ การใช้พลังงานถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า ไม่ได้เป็นการยัดเยียดการใช้ถ่านหิน แต่การใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้าถูกบรรจุอยู่ในนโยบายการพัฒนาพลังงานตามแผนกำลังผลิตของประเทศไทยอยู่แล้ว
เหตุผลก็เพราะปัจจุบันประเทศไทย ใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้า เกือบร้อยละ 70 เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณก๊าซธรรมชาติในอนาคตที่มีจำนวนลดลงแล้ว จำเป็นต้องลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ ให้เหลือร้อยละ 37 และเพิ่มการใช้ถ่านหินจากร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 23 ในปี 2579
นอกจากนี้ยังเป็นการสอดคล้องกับ ทิศทางการพัฒนาพลังงานของโลก ที่มีสัดส่วนการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าที่ร้อยละ 40 อาทิ สหรัฐฯ ให้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าที่ร้อยละ 33 เยอรมนี ที่ร้อยละ 40 ออสเตรเลีย ที่ร้อยละ 63 อินโดนีเซีย ที่ร้อยละ 75 จีน ที่ร้อยละ 72 เกาหลีใต้ ที่ร้อยละ 42 ญี่ปุ่น ร้อยละ 32 และ มาเลเซีย ร้อยละ 38 เป็นต้น
การที่มีบางประเทศออกมาประกาศจะเลิกใช้ถ่านหินโดยมีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นแผนในระยะยาว เช่น เยอรมนี ประกาศยกเลิกในปี 2050 หรืออีก 33 ปีข้างหน้า อังกฤษ จะประกาศยกเลิกในปี 2025 เพื่อที่จะนำพลังงานจากนิวเคลียร์มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นคนละประเด็นกับการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่เป็นการวางแผนที่จะใช้พลังงานทดแทนด้านอื่นๆที่คุ้มค่ากว่าเท่านั้น
...
ประเด็นของ การลดก๊าซเรือนกระจก โดยการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ประชุมภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิภาคสมัยที่ 21 ที่กรุงปารีส ได้รับรองแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศอยู่แล้ว โดยมีลิมิตปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ร้อยละ 20-25 ในปี 2530
สำหรับประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 0.9 เท่านั้น
หรือที่อ้างว่าเชื้อเพลิงถ่านหินมีภาวะมลพิษสะสมร้ายแรงในระหว่างเผาไหม้นั้น ปัจจุบันเทคโนโลยีการเผาไหม้มีความทันสมัยและประสิทธิภาพสูง สามารถควบคุมการปล่อยมลสารให้อยู่ในมาตรฐาน โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และเทพาได้นำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดมาใช้งาน เช่น หม้อต้มไอน้ำที่สามารถลดการใช้เชื้อเพลิงและคาร์บอนไดออกไซด์กว่าร้อยละ 20 เป็นต้น
การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จำเป็นจะต้องยึดมาตรฐานและผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก บนหลักการและเหตุผล มากกว่าตัดสินไปตามกระแสหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปชั่วครั้งชั่วคราว.
หมัดเหล็ก
mudlek@hotmail.com