ผลมะเขือเทศพันธุ์ใหม่

โรคใบหงิกเหลืองในมะเขือเทศ เกิดจากเชื้อไวรัส มีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ ไม่เพียงจะทำให้ใบหงิก ต้นยังแคระแกร็น ติดดอกแล้วจะร่วงหล่น ไม่ออกลูก วิธีแก้ปัญหาต้องฉีดพ่นสารเคมีควบคุมแมลงหวี่ หรือใช้วิธีเขตกรรม หนีไปปลูกในช่วงที่แมลงไม่ระบาดมาก แต่ข้อเสียผลผลิตที่ออกมาจะน้อย

ดร.อรวรรณ ชัชวาลการพาณิชย์ นักวิจัยหน่วยวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร ห้องปฏิบัติการวิจัยด้านพืช ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน บอกว่า ช่วงอากาศร้อนแห้ง มะเขือเทศจะเป็นโรคใบหงิกเหลืองได้ง่าย เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวทีมวิจัยจึงติดต่อขอมะเขือเทศจากอเมริกาใต้ ซึ่งมียีนต้านทานโรค (Ty3a) มาใช้ปรับปรุงพันธุ์

“เนื่องจากอเมริกาใต้มีการศึกษามะเขือเทศสายพันธุ์ป่ามียีนต้านทานโรคใบหงิกเหลือง และนักวิจัยได้เอายีนกลุ่มนี้มาปรับปรุงสายพันธุ์จนสามารถปลูกเพื่อการค้าได้ ปี 2555 ทีมวิจัยของเราจึงได้ติดต่อขอนำยีนดังกล่าวมาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศในบ้านเรา ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี แต่มีเงื่อนไข หลังปรับปรุงพันธุ์เพื่อการค้าสำเร็จห้ามส่งไปจำหน่ายที่อเมริกาใต้”

...

กระบวนการพัฒนาปรับ ปรุงพันธุ์ เริ่มแรกจะนำมะเขือเทศที่มียีน Ty3a มาผสมพันธุ์กับมะเขือเทศพันธุ์สแนคสลิม 502 ซึ่งมีไลโคปีนสูง รสชาติอร่อย รูปทรงสวย กระทั่งได้ลูกผสม F1 ออกมา จากนั้นใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วยในเรื่องการกระจายยีน และเพื่อให้รู้ว่ามะเขือเทศเมล็ดไหนมียีนสมบูรณ์พันธุ์ ด้วยใช้เทคโนโลยี ดีเอ็นเอ มาร์คเกอร์ (DNA Marker) มาใช้ในการคัดเลือกต้นที่มียีน Ty3a

จนได้ต้นที่ดีที่สุด นำกลับไปผสมซ้ำ กับสายพันธุ์สแนคสลิม 502 อีก 3 รอบ และนำไปทดสอบปลูกในพื้นที่จังหวัดนครปฐม, ขอนแก่น และเชียงใหม่ กระทั่งได้ต้นพันธุ์ที่นิ่ง โดยใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์ 3 ปี จึงได้มะเขือเทศเชอรี่พันธุ์ใหม่ รับประทานผลสด ต้านทานโรคใบหงิกเหลือง ให้ลูกดก ให้ความหวาน 8-11 บริกซ์ มะเขือเทศรับประทานผลสดลูกเล็ก ได้รับคัดเลือกรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จากสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างขอรับรองขึ้นทะเบียนพันธุ์ใหม่ จากนั้นจะส่งต่อให้เกษตรกรปลูกได้ทันที.