เด็ก 263 ล้านคนทั่วโลกขาดโอกาสศึกษา มหา’ลัยเมินคุณภาพผู้เรียน


เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ โรงแรมเดอะสุโกศล กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ เปิดตัวรายงานติดตามผลการศึกษาทั่วโลกประจำปี 2559 เรื่องการศึกษาเพื่อมนุษย์และโลกของเรา : สร้างสรรค์อนาคตให้ยั่งยืนเพื่อปวงชน ทั้งนี้ภายในงาน หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ ได้กล่าวถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหัวข้อ “การสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า การสืบสานพระราชปณิธานสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันนำไปปฏิบัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแนวทางในการดำเนินงาน ขอให้ทุกคน

สืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 ถ้าเป็นครูอาจารย์ก็ให้เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท เช่น ห่วงใยลูกหลานเยาวชน เมตตายิ่งกรุณายิ่งต่อ ลูกศิษย์ สร้างชาติให้ยั่งยืนเพื่ออนาคตในวันข้างหน้า ทุกคนต้องหาไอดอลเพราะหากไม่มีบุคคลต้นแบบก็จะหลงทางในการดำเนินชีวิต แม้แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นที่รักและเคารพของคนไทย ก็ยังทรงมีต้นแบบที่งดงามจากสมเด็จย่า อย่างไรก็ตาม การที่ยูเนสโกจัดงานนี้จะเกิดประโยชน์ใหญ่หลวงไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัด ศธ. ในฐานะโฆษก ศธ. กล่าวถึงรายงานการติดตามผลการศึกษาโลก 2016 ของยูเนสโก ว่า ในรายงานระบุว่า 190 ประเทศทั่วโลกยังมีเด็กและเยาวชน 263 ล้านคนที่ไม่ได้เข้าโรงเรียน จำนวนนี้ 61 ล้านคนไม่ได้เข้าเรียนระดับประถมศึกษา ไม่ได้เข้าเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 60 ล้านคน และ 142 ล้านคนไม่ได้เข้าเรียนมัธยมฯปลาย แม้แต่ประเทศที่มีรายได้สูงก็ยังไม่สามารถบรรลุผลให้เยาวชนของตนเองเข้าเรียนมัธยมศึกษาได้ทุกคน ในด้านคุณภาพการศึกษา พบว่า สิ่งที่นำมาใช้ในห้องเรียน เช่น ตำรา และสื่อการเรียนต่างๆ รวมทั้งกระบวนการจัดการเรียนการสอน มีส่วนสำคัญต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอน ในประเทศที่ยากจน เด็ก 3 คนต้องใช้หนังสือ เรียน 1 เล่ม ในขณะที่ครูส่วนใหญ่ใช้เวลาในห้องเรียนเพียง 60-65% ในการทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนการสอน และยังมีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมกันทางการศึกษาโดยเฉพาะเพศสภาพ ความพิการ และการย้ายถิ่น

...

โฆษก ศธ. กล่าวอีกว่า ในด้านปฐมวัยมีเพียง 50 ประเทศ จาก 190 ประเทศที่กำหนดให้การศึกษาปฐมวัยเป็นการศึกษาภาคบังคับ และมี 80% เท่านั้น ที่ได้รับการพัฒนาอย่างสมวัย ด้านอาชีวศึกษา มี 140 ประเทศที่มีกรอบคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ ซึ่งจะมีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับอาชีวศึกษา ด้านอุดมศึกษา พบว่ามีคนเรียนอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นในรอบ 15 ปี จาก 100 ล้านคนในปี 2000 เพิ่มเป็น 207 ล้านคนในปี 2015 ในส่วนของคุณภาพอุดมศึกษาจะวัดกันเพียงการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ซึ่งสนใจแค่งานวิจัยมากกว่าคุณภาพการเรียนการสอนของผู้เรียน นอกจากนี้ การมีห้องเรียนที่แออัด และมีครูที่ไม่พอเพียงยังคงเป็นปัญหาทั่วโลก มีครู 82% ที่มีคุณวุฒิขั้นพื้นฐานที่จะสอนเด็กปฐมวัย 93% มีคุณวุฒิขั้นพื้นฐานที่สอนเด็กประถมศึกษา และ 91% ที่มีคุณวุฒิขั้นพื้นฐานที่จะสอนเด็กชั้นมัธยมฯ.