“มหาอุทกภัย” น้ำท่วมภาคใต้ใน ปลายปี 2559 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2560...ในรอบ 50 ปี นับว่ารุนแรงกว่าทุกครั้ง
ในปัจจุบันแม้พื้นที่ส่วนใหญ่จะเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังมีบางพื้นที่ก็ยังมีน้ำท่วม และหลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงท่วมรุนแรง? พื้นที่ภาคใต้อยู่ติดทะเลแท้ๆ เหตุไฉนน้ำจึงระบายออกได้ยาก
สาเหตุหลักที่ทำให้ “น้ำท่วมภาคใต้” ในปีนี้ ไม่ได้มาจากป่าไม้ที่ถูกทำลายเหมือนพื้นที่ภาคเหนือ...อีสานอย่างแน่นอน เพราะภาคใต้ป่าค่อนข้างอุดมสมบูรณ์กว่าภาคอื่นๆ
ศูนย์พยากรณ์อากาศสหรัฐอเมริกา เคยแจ้งเตือนตั้งแต่กลางปี 2559 แล้วว่า จะเกิดปรากฏการณ์ “ลานีญา” จะทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในพื้นที่นี้
ฝนตกติดต่อกันตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 อิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่พัฒนาตัวเป็นพายุไซโคลนเคลื่อนผ่านไปยังอินเดีย ทำให้ภาคใต้ฝนตกต่อเนื่องหนักบ้างเบาบ้าง ยาวไปจนถึงช่วงต้นเดือนมกราคม 2560 จนน้ำเยอะเกินกว่าจะระบายสู่ทะเลได้ทัน ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชช่วงเดือนมกราคมมีปริมาณน้ำฝนรวม 2,440 มิลลิเมตร เกือบเท่ากับปริมาณฝนที่ตกเฉลี่ยรวมกันทั้งปี...ตกหนักสุดในรอบ 750 ปี
“ฝน” ที่ตกอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้ดินที่เคยอุ้มน้ำไว้อิ่มตัวเกินกว่าจะอุ้มน้ำได้อีก ประกอบกับแหล่งเก็บกักน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นขนาดเล็ก มีปริมาณน้ำมากไม่สามารถเก็บกักไว้ได้ ส่งผลให้น้ำล้นทะลักเข้าท่วมพื้นที่ตอนล่างอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ทางระบายน้ำตามธรรมชาติ ปัจจุบันถูกสิ่งก่อสร้างปลูกขวางทาง เช่น อาคารบ้านเรือน ถนน และยังมีขยะกีดขวางทางน้ำไหลอีก ส่งผลให้การระบายน้ำสู่ทะเลเป็นไปได้ช้าไม่เหมือนในอดีต
...
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ย้ำว่า ปัญหา น้ำท่วมภาคใต้...เกิดขึ้นในพื้นที่เดิมๆ แต่มีรูปแบบการเกิดที่แตกต่างจากเดิม กล่าวคือ มีความรุนแรงมากขึ้น เกิดถี่ขึ้นแต่ก็สามารถแก้ไขได้ด้วย “พระปรีชาสามารถในด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9” ที่ต้องนำไปประยุกต์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งเห็นผลเป็นรูปธรรม
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จากที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2531 สร้างความเสียหาย...คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท และอีกครั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2543 ที่มีความรุนแรงไม่แพ้ครั้งแรก สร้างความเสียหายประมาณ 14,000 ล้านบาท ซึ่งครั้งนี้มีประชาชนเสียชีวิต 30 คน
ภายหลังจากที่กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แล้วเสร็จเมื่อปี 2550 สามารถรองรับการระบายน้ำได้ 1,075 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคลองระบายน้ำต่างๆได้ทำหน้าที่ครั้งแรก ในปลายปี 2552 มีฝนตกในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่...ทั้งที่ปริมาณน้ำมีมากกว่าในปี 2531 และ 2543 แต่น้ำไม่ท่วมพื้นที่อำเภอหาดใหญ่...หลังจากนั้นในปี 2553 เกิดฝนตกทำให้เกิดปริมาณน้ำหลากเกือบ 2 เท่าของศักยภาพ จึงขยายคลองระบายน้ำเพิ่มเติมโดยเริ่มดำเนินการในปี 2558 จะเสร็จในปี 2562
ในปีนี้...ที่ฝนตกต่อเนื่องยาวนานในภาคใต้ จนทำให้เกือบทุกจังหวัดประสบปัญหาน้ำท่วม แต่ที่อำเภอหาดใหญ่น้ำไม่ท่วมเลย ทั้งๆที่ปริมาณฝนที่ตกลงมานั้น ไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆของภาคใต้ แต่ด้วยศักยภาพของโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่กรมชลประทานได้ดำเนินการขยาย “คลองภูมินาถดำริ” หรือ “คลอง ร.1” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจาก 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้สามารถช่วยระบายน้ำ ได้มากขึ้นและเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรอง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้หลายครั้ง อาทิ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับ การบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ไว้ 7 โครงการ...ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนได้มีพระราชดำริเมื่อปี 2547 โดยสรุปว่า “...พื้นที่จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนจรดจังหวัดชุมพร มีปริมาณน้ำในลำห้วยต่างๆเป็นจำนวนมากที่ไหลลงทะเล ให้กรมชลประทานพิจารณาวางแผนสร้างแหล่งเก็บกักน้ำต่างๆตามความเหมาะสมไว้ใช้ประโยชน์ให้กับราษฎร และเพิ่มช่องระบายน้ำผ่านถนน และคลองระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยด่วนต่อไป...”
ดร.สมเกียรติ บอกว่า ในการหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ให้เป็นระบบและยั่งยืน กรมชลประทานยึดตามแนวนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และมีการปรับแผนการดำเนินงานด้วยการบริหารจัดการในเชิงพื้นที่ตามแผนยุทธ์ศาสตร์น้ำของประเทศ
ต้องมีการเก็บข้อมูลความรุนแรงของปัญหาครอบคลุมบริเวณกว้างและเกิดขึ้นซ้ำซาก ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องดำเนินการ อย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมาปรับใช้
อย่างเช่น การตัดยอดน้ำในพื้นที่ตอนบนโดยการหาแหล่งเก็บกัก การสร้างแก้มลิง และการหาทางระบายน้ำออกสู่ทะเล โดยพิจารณานำองค์ความรู้ด้านการออกแบบมาปรับใช้ให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ที่มีความแตกต่าง เพื่อรองรับกับทั้งปัญหาน้ำท่วม...การขาดแคลนน้ำที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น
ปัจจุบันในพื้นที่ภาคใต้กรมชลประทานได้เสนอโครงการในเชิงพื้นที่ (Area Based) เบื้องต้นเฉพาะปัญหาน้ำท่วม 15 พื้นที่ เช่นจังหวัดเพชรบุรี...ปรับปรุงคลองส่งน้ำ 4 สาย ขุดขยายคลองธรรมชาติ 1 สาย ปรับปรุงขยายคลองระบายน้ำ 8 สาย และก่อสร้างประตูระบายน้ำจำนวน 1 แห่ง
...
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอบางสะพาน ประสบปัญหารุนแรง จะต้องเพิ่มช่องทางในการระบายน้ำตามแนวพระราชดำริ ปรับปรุงคลองระบายน้ำเดิม 4 สาย และช่องลัดระบายน้ำออกสู่ทะเลพร้อมกับปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เดิม 3 แห่ง...จังหวัดชุมพร เป็นการบรรเทาอุทกภัยใน อ. ทุ่งตะโก อ.หลังสวน และ อ.เมือง ปรับปรุงคลองธรรมชาติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ 5 สาย ก่อสร้างคลองผันน้ำสายใหม่อีก 2 สาย...ส่วนจังหวัดระนอง สร้างพนังกั้นน้ำ 4 สาย และเสนอสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นมาตัดยอดน้ำอีก 1 แห่ง
อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ กรมชลประทานได้ประสานเพื่อบูรณาการแผนงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งเสนอแนวทางน้ำต่อกรมโยธาธิการและผังเมือง ในการที่จะกำหนด พื้นที่รองรับน้ำหลากเพื่อพิจารณาระบุในกฎหมายผังเมืองอย่างถาวร
จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ในพื้นที่ภาคใต้มีสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นลักษณะท่อลอดจำนวน 22 แห่ง สะพานรถยนต์ที่สร้างขวางทางน้ำ 56 แห่ง ถนนขวางทางน้ำ 24 แห่ง รวมทั้งยังมีการสร้างฝายที่ขวางทางน้ำอีกจำนวน 9 แห่ง
“กรมชลประทานได้ยึดแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตามแนวพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 ทั้งที่เป็นพระราชดำริโดยตรงและการขยายผลโครงการพระราชดำริ หากร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถ ดำเนินโครงการบรรเทาน้ำท่วมภาคใต้ตามโครงการ...แผนงาน ดังกล่าวทั้งหมดได้ เมื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้...ปัญหาน้ำท่วม ภาคใต้จะบรรเทาลง ลดการสูญเสียชีวิต...ทรัพย์สินได้อย่างแน่นอน”
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวทิ้งท้าย.
...