วันเสาร์สบายๆวันนี้ผมชวนท่านผู้อ่านไปคุยเรื่อง “สตาร์ตอัพพันธุ์ใหม่วัย 50 อัพ” กันดีกว่าครับ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้สูงวัย ที่กำลังถูกรัฐบาลมองข้าม สังคมไทยกำลังก้าวไปสู่ “สังคมผู้สูงวัยที่สมบูรณ์” ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการอะไรรองรับนอกจากเบี้ยเลี้ยงคนชรา 600 บาทต่อเดือนที่ใช้ยังชีพไม่ได้
ผมขอขอบคุณบทความเรื่อง “Aging 4.0 สตาร์ตอัพพันธุ์ใหม่ที่ไม่ได้มีแค่เจน Y กับ Z” ของ คุณปิยพร อรุณเกรียงไกร ใน นิตยสารคิด ของ TCDC เดือนมกราคม ที่จุดประเด็นนี้ขึ้นมา ทำให้มองเห็นโอกาส ของผู้สูงวัยมากมาย ที่ไทยเราไม่เคยคิดกันมาก่อน
คุณปิยพร ได้เล่าเรื่องของ บาร์บารา เบสไคนด์ วัย 89 ปี เมื่อได้ฟัง เดวิด เคลลี ผู้ก่อตั้ง IDEO บริษัทออกแบบชั้นนำของโลก ให้สัมภาษณ์ในโทรทัศน์ว่า “ประสบการณ์และความหลากหลายของทีมงาน สำคัญต่อการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ” เธอก็เขียนจดหมายไป สมัครงานที่ไอดีอีโอทันที เธอเล่าถึงประสบการณ์การทำงานเป็นนักบำบัดในกองทัพ และอธิบายว่าเธอจะมีส่วนช่วยบริษัทออกแบบสินค้าและบริการเพื่อสังคมผู้สูงอายุได้อย่างไร บริษัทไอดีอีีโอก็ใจกว้างรับเธอไว้
ปัจจุบัน บาร์บารา มีอายุ 92 ปีแล้ว เธอยังทำงานเป็นนักออกแบบให้กับบริษัทไอดีอีีโอ สาขาพาโล อัลโต รัฐแคลิฟอร์เนีย ร่วมกับหนุ่มสาว ไฟแรงจาก ซิลิคอน วัลเลย์ เธอให้สัมภาษณ์นิวยอร์กไทม์สว่า “ความคิดสร้างสรรค์คือยาอายุวัฒนะของชีวิต” เธอได้ร่วมออกแบบ ชุดดินสอสีน้ำสำหรับคนที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม และออกแบบสินค้ายี่ห้อของตัวเองชื่อ “แทรกเกอร์” อุปกรณ์ช่วยการทรงตัวที่ดัดแปลงมาจากไม้สกี
เรื่องราวของ บาร์บารา ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนหลายรุ่นทั่วโลก และ เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อคนสูงอายุ ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นภาระของ รัฐ วันนี้ผู้สูงอายุเริ่มกลับมาทำงาน และทำธุรกิจเล็กๆของตัวเองมากขึ้น มูลนิธิคอฟฟ์แมน ได้สำรวจการทำธุรกิจสตาร์ตอัพในช่วงปี 1996–2014 พบว่า ชาวอเมริกันวัย 55–64 ปี เริ่มกลับมาทำธุรกิจใหม่ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่าคนหนุ่มสาววัย 20–30 ปี และ เกือบ 1 ใน 4 ของ ธุรกิจเกิดใหม่ในปี 2012 ก่อตั้งโดยผู้ประกอบการที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป
...
เมื่อเดือนกันยายน 2016 ที่ผ่านมา ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิก ได้สำรวจเรื่อง The Longevity Economy ผมขอแปลง่ายๆว่า “เศรษฐกิจผู้สูงวัย” ก็แล้วกันนะครับ พบว่า ปี 2015 ทั่วโลกมีประชากรสูงวัยอายุ 50 ปีขึ้นไปกว่า 1,600 ล้านคน และ ในปี 2050 อีก 33 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 3,200 ล้านคน เฉพาะ สหรัฐฯ ประเทศเดียวก็ปาเข้าไป กว่า 111 ล้านคน ส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจสังคมและการเติบโตของโลก
แต่ ออกซ์ฟอร์ด ให้ความเห็นว่า อย่ามองข้ามพลังเศรษฐกิจของผู้สูงวัยเหล่านี้ ปี 2015 ที่ผ่านมากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากผู้สูงวัยอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือ Longevity Economy ในสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 7.6 ล้านล้านดอลลาร์ ประมาณ 266 ล้านล้านบาท สูงกว่า จีดีพีประเทศไทยปี 2016 ที่ผ่านมาถึง 19 เท่า (จีดีพีไทย 14 ล้านล้านบาท)
ออกซ์ฟอร์ด ระบุว่า พลังเศรษฐกิจจากการผลิตและกำลังซื้อของผู้สูงวัย ไม่เพียงเป็น พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังเป็น พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก อีกด้วย ประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายควรจะดูโมเดลนวัตกรรมผู้สูงวัยในสหรัฐฯเป็นตัวอย่าง
ออกซ์ฟอร์ด ยังได้วิจัยถึง ความมั่งคั่งในครัวเรือน ของ คนรุ่นเบบี้บูม คนเจนเอ็กซ์ และ คนยุคมิลเลนเนียลส์ ในปี 2015 พบว่าคนรุ่นเบบี้บูมครองความมั่งคั่งสัดส่วนถึง 50% ขณะที่ คนเจนเอ็กซ์ ครองสัดส่วน 14% คนยุคมิลเลนเนียลส์ ครองสัดส่วนแค่ 4% และอีก 13 ปีข้างหน้า 2030 คนยุคเบบี้บูมก็ยังครองสัดส่วนความมั่งคั่งสูงถึง 45% ขณะที่ คนเจนเอ็กซ์ ขยับขึ้นมาเป็น 31% และ คนยุคมิลเลนเนียลส์ ครองสัดส่วน 16%
เพราะฉะนั้น คนรุ่นใหม่ ทั้งหลาย อย่ามองข้ามคนยุคเบบี้บูม เด็ดขาด
ทุกวันนี้ การส่งเสริมธุรกิจสตาร์ตอัพไทย ถือว่าเดินผิดทาง มุ่งสนับสนุนแต่คนรุ่นใหม่ไม่มีประสบการณ์ แต่ไม่สนใจผู้สูงวัยที่มีประสบการณ์ ปัญหาใหญ่สตาร์ตอัพไทยก็คือ การหาทุน ทุนจากเวนเจอร์แคป ที่ว่ายากแล้ว ทุนจากรัฐบาลยากกว่าหลายเท่า.
“ลม เปลี่ยนทิศ”