กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีหนุ่มน้อย วัย 16 ปี คนหนึ่ง เขาเป็นคนขยันขันแข็ง ทำงานแลกเงินเพื่อจุนเจือครอบครัว
มีอยู่วันหนึ่ง ระหว่างที่เขากำลังทำหน้าที่ขาย “ซาลาเปา” ภายในห้างสรรพสินค้า วันนั้น เขาตัดสินใจเจียดเงิน จำนวน 10 บาท เพื่อซื้อซาลาเปาที่เขาเองเป็นคนขาย 1 ลูก เพื่อให้กับน้องชายได้รับประทานเพื่อประทังความหิวโหย...
“ไปนับซาลาเปาสิ วันนี้ขายเหลือกี่ลูก แล้วให้นำไปทิ้งด้วย”
เด็กชายวัย 16 ปี นับไปและนึกถึงน้องชายไป จึงตัดสินใจทำเรื่องผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิต (น้อยๆ) ของเขา
เขาหยิบฉวยซาลาเปาไส้ครีมที่กำลังจะนำไปทิ้ง 1 ลูกโดยพลการเพื่อหวังว่าจะนำไปให้น้องชายได้รับประทาน เพราะคิดว่าน้องคงยังไม่อิ่มหากได้กินเพียงลูกเดียว นอกจากนี้ ก็รู้สึกเสียดายหากต้องนำของกินไปทิ้ง
สิ่งที่ตามมาคือ ทาง รปภ.ของห้างสรรพสินค้าแห่งนั้นจับได้
น่าเศร้ายิ่งนัก... หนุ่มผู้ขยันขันแข็งแต่ทำผิดฐานลักทรัพย์ ถูกห้างสรรพสินค้าดังกล่าวดำเนินคดี และยังแถมไล่เขาออก พร้อมกับมารดาของเขา ที่ทำงานเป็นพนักงานขายในห้างนั้นด้วย เพราะ “เชื่อ” ว่า แม่ของเขามีส่วนช่วยให้ลูกชายขโมยซาลาเปา เพียง 1 ลูก
...
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่นิทาน แต่คือเหตุการณ์จริงอันโหดร้ายสะเทือนใจของคนในสังคม เมื่อคืนวันที่ 18 มิถุนายน 2542
โดยหลังจากมีข่าวก็เป็นที่โจษจันในสังคม
เสียงเชียร์เสียงต้านจากคนในสังคมก็โหมกระหน่ำ
บ้าง...ให้ดำเนินคดีให้เฉียบขาด
บ้าง...ก็อยากให้ปรานีเขา เพราะเขาไม่ได้ชั่ว เลว อยากได้ของคนอื่นโดยสันดาน มองว่าแค่นำซาลาเปาที่กำลังจะนำไปทิ้งไปให้น้องชายได้กินเพื่อคลายหิวเท่านั้น!
กรณีนี้...นับเป็นคดีในตำนาน เนื่องจากหนุ่ม 16 ปีรายนี้ได้รับการช่วยเหลือจากสภาทนายความ และพนักงานอัยการระดับผู้ใหญ่ ที่ยังปรานีเขาอยู่
นายสุชาติ ไตรประสิทธิ์ อัยการสูงสุด (ขณะนั้น) เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า แม้เด็กคนนี้จะมีเจตนาเอาทรัพย์ผู้อื่นไปโดยทุจริต แต่เมื่อมองถึงเจตนาแล้วเห็นว่า ทำไปเพื่อเอาไปให้น้องชายได้รับประทานให้คลายจากความหิวโหย แม้เด็กจะมีการกระทำครบองค์ประกอบความผิดทางอาญา แต่ต้องดูถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งเอาผิดกับผู้มีเจตนาจริงๆ การฟ้องเด็กชายผู้นี้ฐานลักทรัพย์ หากเขาต้องติดคุกสังคมไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะเขาไม่ใช่คนร้ายโดยสันดาน แม้ศาลจะรอลงอาญา แต่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่ควรทำให้คนเช่นนี้ต้องมาแปดเปื้อนมีคดีติดตัว
“ถ้าศาลลงโทษก็ต้องส่งไปบ้านกรุณา ก็อย่างที่เห็น ผมไม่ขอวิจารณ์ เราต้องตัดสินใจไม่ส่งเขาเข้ากระบวนการพิจารณาต่อไป ให้มันจบในชั้นอัยการ อย่ามองว่าเด็กคนนี้เป็นอาชญากร เราไม่ควรเอาเขาไปติดคุก อัยการทำงานเพื่อสังคม ไม่ได้มองแค่ตัวบทกฎหมาย” อัยการสูงสุดผู้นี้กล่าวไว้
จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมาแล้ว 18 ปี...
คนที่เคยช่วยเหลือเด็กชายคนนี้บางท่านเหลือแต่ชื่อและความดีที่ยังคงอยู่ คือ นายสุชาติ ไตรประสิทธิ์ ซึ่งท่านเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ขณะที่คนที่อยู่ก็ยังมี เขาคนนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือ “ทนายวันชัย สอนศิริ” ซึ่งเขาจำเรื่องนี้ได้..แม้จะลืมเลือนรายละเอียดไปบ้างก็ตาม
เมื่อ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ โทรไปถามเรื่องนี้ นายวันชัย พยายามนึกอยู่ครู่หนึ่งก็ตอบเสียงใสทันควันทันที
“พอจะจำได้ๆ”
นายวันชัย เล่าว่า เรื่องนี้มันนานมาก (ลากเสียง) ผ่านมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ตอนนั้น ตนเป็นเลขาธิการสภาทนายความ เมื่อมีคดีนี้เกิดขึ้น จึงส่งคนไปดูข้อมูล สภาทนายฯ เห็นว่า เด็กชายรายนี้กระทำความผิดไปโดยที่ไม่มีจิตใจชั่วร้าย ไม่ควรปล่อยให้เขาสู้คดีไปโดยลำพัง จึงได้รับหน้าที่ประสานความช่วยเหลือไปยังตำรวจ อัยการ นี่คือสิ่งที่ตนจำได้
...
อ.วันชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า ตามหลักกฎหมายแล้ว ข้อหาลักทรัพย์นั้นมีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 พันบาท ไม่ว่าเขาจะขโมยสิ่งใด เล็กน้อยแค่ไหน ก็มีอัตราโทษนี้ แต่...กรณีที่เป็นการ “ลักทรัพย์นายจ้าง” จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท ซึ่งเป็นคดีที่ยอมความไม่ได้
แต่กรณีของเด็กชายผู้นี้ เขาเป็นเยาวชน อาจจะรับโทษไม่เกินกึ่งหนึ่ง เช่น ติดคุก 3 ปี อาจจะลดเหลือ 1 ปีครึ่ง ทั้งนี้การที่จะลงโทษมากน้อยเพียงไรนั้นขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจของศาล
...
“ประเด็นสำคัญของคดีนี้...อำนาจอยู่ที่พนักงานอัยการด้วย โดยท่านจะพิจารณาที่ “เถยจิต” ด้วย ซึ่งภาษากฎหมายแปลว่ามีจิตชั่วร้ายมีเจตนาเป็นโจรหรือไม่ ส่งฟ้องไปแล้วจะเกิดประโยชน์อย่างไรกับสังคมหรือไม่ ใช่ว่าทุกคดีที่ส่งมาจะต้องฟ้องเสมอไป เขาจะพิจารณาว่า การลงโทษกับคนคนนี้เป็นประโยชน์หรือไม่ ดัดสันดานหรือเปล่า ลงโทษไปแล้วทำให้คนอื่นเข็ดหลาบไปด้วยไหม เจ้าตัวเอง สำนึกต่อการกระทำความผิดด้วยหรือไม่...!”
นอกจากนี้ ทนายวันชัย ยังกล่าวเสริมด้วยว่า ใช่ว่า...การทำผิดและได้ครบองค์ประกอบความผิด จำเป็นต้องฟ้องเสมอไป..มีหลายคดีที่เกิดขึ้น ที่อัยการดำเนินคดีไปแล้ว รู้สึกว่าไม่แน่ใจว่าจะเกิดประโยชน์ อัยการถอนฟ้องก็มี
มองย้อน...คดี ข้าราชการลักทรัพย์ในต่างแดน ลงโทษอาญาไม่ได้ ลงโทษวินัยได้
จากกรณีที่เกิดขึ้นกับเหตุอื้อฉาว คดีข้าราชการระดับสูงลักทรัพย์ในต่างแดนนั้น ทนายวันชัย ระบุว่า คดีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ อย่างเช่น คดีลักทรัพย์ที่เป็นข่าวดังนั้น ไม่สามารถมาดำเนินคดีในประเทศไทยได้ เพราะไม่ใช่มูลคดีที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร
กฎหมายไทยก็ไม่มีสิทธิที่จะไปดำเนินคดีอะไรกับเขาได้ เพราะอำนาจในการพิจารณาคดีไม่สามารถไปถึงได้ สิ่งที่ทำได้คือเรื่องทาง “วินัยทางราชการ” แต่ไม่สามารถดำเนินคดีอาญาได้ สิ่งที่เกิดขึ้นแตกต่างจากคดีของอดีต ผบช.น. กรณีพกปืน เพราะความผิดเกิดขึ้นทั้งในและนอกราชอาณาจักร
ไล่ออก ลาออก ปลดออก มีความแตกต่างกัน...
ทีมข่าวฯ ยังได้ขอความรู้ อ.วันชัย กรณี การลาออก ไล่ออก หรือ ปลดออก จากทางราชการนั้นแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งกูรูด้านกฎหมาย และ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นจากหลักการแล้ว เป็นการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง การกระทำผิดทางวินัย มีผลตั้งแต่ “ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง” นั้นมีผลหลายแบบ คือ ไล่ออก ปลดออก ภาคทัณฑ์
...
การไล่ออก ถือว่า จะไม่ได้บำเหน็จ บำนาญ
ปลดออก แปลว่า โทษเบาลงกว่านั้น คือ ยังได้บำเหน็จบำนาญ
การลาออก นั้น เป็นการแสดงความรับผิดชอบส่วนตัว ต่อสังคม หรือ ต่อประเทศ นับเป็นการรับผิด สำนึกผิด เป็นการแสดงออกที่น่านับถือ แต่ยังไม่พ้นเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่สามารถละเว้นจากการตรวจสอบจากทางราชการได้ เพราะว่า “วินัย” ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำผิด “ก่อนที่คุณจะลาออก”
ฉะนั้น เรื่องนี้ยังอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการทางวินัยที่นำเรื่องนี้มาพิจารณา และต้องมีมติว่าเรื่องนี้ เป็นการกระทำความผิดร้ายแรง มากน้อยเพียงไร จะถึงขั้น ไล่ออก ปลดออก หรือภาคทัณฑ์
ส่วนการที่ญี่ปุ่นไม่ส่งฟ้องนั้น ถือว่าเป็นไปตามกฎหมายของญี่ปุ่น ซึ่งเพราะอะไรนั้น ตนไม่ทราบ อาจจะเป็นเพราะมีกฎหมายเกี่ยวกับการยอมชดใช้ค่าเสียหายแล้วไม่ดำเนินคดีก็ได้หรือไม่นั้นตนไม่แน่ใจ เพราะถือว่าเป็นเรื่องของเขา
“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนับเป็นผลดีกับตัวเขา เพราะไม่ถูกศาลญี่ปุ่นพิพากษา เนื่องจากไม่ถูกส่งฟ้อง อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะไม่ถูกดำเนินคดีอาญาในญี่ปุ่น แต่สำหรับบ้านเราก็ยังนับว่ามีความผิดทางวินัย ตราบใดที่คุณเป็นข้าราชการ ไม่ว่าจะทำผิดที่ไหน ในประเทศหรือต่างแดน ก็ถือเป็นการทำผิดทั้งสิ้น คดีอาญาเอาผิดไม่ได้แต่ยังเอาผิดทางวินัยได้” นายวันชัย กล่าวทิ้งท้าย
นี่คือตัวอย่างของเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และข่าวอื้อฉาวในปัจจุบัน แล้วคุณล่ะ..คิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้!?