บอกให้รู้กันไปแล้ว เรื่องการใช้ปุ๋ยให้ถูกกาลเทศะ จะใส่ปุ๋ยทั้งทีต้องรู้จักดินและต้นไม้ของตัวเองให้ดีซะก่อน ปุ๋ยถึงจะให้ประโยชน์เต็มที่คุ้มค่าเงิน และจะให้ดีถึงที่สุดปุ๋ยเคมีและอินทรีย์ต้องใช้ร่วมกัน

วันนี้มาว่ากันต่อถึงความเข้าใจผิดๆ ในเรื่องปุ๋ยเคมี...โดยเฉพาะ ปุ๋ยตัวหน้า ปุ๋ยตัว N ปุ๋ยไนโตรเจน หรือปุ๋ยยูเรีย

ปุ๋ยยอดนิยมที่เกษตรกรใช้กันมากที่สุด เพราะใส่เป็นแล้ว ใบจะเขียวสดงดงาม จนเผลอคิดไปว่า เขียวๆอย่างนี้แหละจะทำให้ผลผลิตออกมาดี ขายได้ราคา เลยใส่กันตะพึดตะพือตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนเก็บผลผลิต

ศ.เกียรติคุณ ดร.อำนาจ สุวรรณฤทธิ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ให้ความรู้...ปุ๋ยไนโตรเจนดีและเหมาะกับการปลูกพืชผักกินใบเป็นหลัก

แต่กับพืชหวังขายดอก–ผล–หัว คงไม่เหมาะสักเท่าไร

เพราะปุ๋ยไนโตรเจนมีสรรพคุณเลี้ยงบำรุงใบและลำต้นเป็นหลัก แต่เมื่อต้นไม้เติบใหญ่ความต้องการใช้ปุ๋ยตัวนี้จะน้อยลง

แต่ถ้าให้มากไปเพราะหลงผิดคิดว่าใบยิ่งเขียวพืชจะยิ่งงาม...พืชขายหัว มันสำปะหลังได้ไนโตรเจนเยอะ หัวมันจะมีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ ส่วนอ้อยได้ไนโตรเจนเยอะจะหวานน้อย ถ้าเป็นส้มรสชาติจะเปรี้ยวและมีกากเยอะ

ไม้ผลอื่นๆก็เช่นกัน ได้ไนโตรเจนเยอะ...จะให้ลูกผลน้อย เพราะไนโตรเจนเป็นปุ๋ยให้เราดูใบ ไม่ใช่ดอกผล

ที่สำคัญให้ปุ๋ยไนโตรเจนมากไปต้นไม้อวบอ้วน อวบน้ำ โรคแมลงจะวิ่งเข้าใส่ได้ง่าย ต้นไม้นุ่มๆ ดูดกัดกินได้ง่ายไม่เจ็บปาก...เหมือนกับคนเรานั่นแหละ กินจนอ้วน โรคร้ายมักจะถามหา

จะให้ต้นไม้แข็งแรงไม่อ่อนแอต่อโรค ดร.อำนาจ แนะให้ใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนต่ำกว่าฟอสฟอรัสและโปแตสเซียม หรือปุ๋ยเลขตัวหน้าต่ำกว่าเลขสองหลัง

แต่ถ้าใช้กันตะพึดตะพือแบบไม่รู้จริง พรุ่งนี้มาว่ากันต่อใช้ปุ๋ยมีฟอสฟอรัส โปแตสเซียมเยอะไป พืชจะเป็นยังไง.

...

สะ–เล–เต