สวัสดีผู้อ่านทุกท่านนะครับ หลายท่านคงเคยได้ยินสุภาษิตว่า "อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา" กันบ้างนะครับ สาเหตุเพราะว่าคนทั้งสองประเภทนี้ไม่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์เหมือนคนปกติ คนโบราณจึงมีสุภาษิตดังกล่าว เพื่อเตือนสติไม่ให้เข้าไปพูดคุยหรือยุ่งเกี่ยวกับบุคคลทั้งสองประเภท เพราะพูดคุยเท่าไหร่คงจะไม่รู้เรื่อง และอาจจะใช้วาจาไม่สุภาพหรือยั่วโมโหจนมีเหตุทะเลาะวิวาทกันได้
บางท่านไม่เคยแม้แต่จะคิดที่จะไปยุ่งกับ คนเมา คนบ้า แต่ถ้าคนเมา คนบ้า มายุ่งกับเรา จะทำอย่างไร เหตุการณ์แบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกท่านนะครับ บุคคลทั้งสองประเภทถือว่ามีสติสัมปชัญญะในขณะนั้นไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ กฎหมายจึงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดของคนบ้า หรือคนที่มีจิตบกพร่องโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน หรือคนเมาไว้เป็นการเฉพาะ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 และมาตรา 66
การกระทำความผิดของคนบ้า หรือคนที่มีจิตบกพร่องโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน หรือคนเมา กฎหมายถือว่า เป็นความผิดนะครับ แต่ได้รับยกเว้นโทษ คือ ไม่ต้องรับโทษทางอาญา โดยภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงจะตกแก่ฝ่ายของคนบ้าหรือคนเมานะครับ
โดยฝ่ายผู้กระทำความผิด จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า กระทำความผิดในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตัวเองได้ โดยจะต้องนำผลการรักษาโรคจิต หรือนำความเห็นของแพทย์มาแสดงต่อศาล แต่หากกระทำความผิดโดยสามารถรู้ผิดชอบได้บ้าง ศาลอาจจะลงโทษน้อยลงครับ
ส่วนคนเมานั้น จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เสพของมึนเมาโดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมาหรือโดนบังคับให้เสพ และกระทำความผิดในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้แต่หากกระทำความผิดโดยสามารถรู้ผิดชอบได้บ้าง ศาลอาจจะลงโทษน้อยลงครับ
ในกรณีที่คนบ้า หรือคนเมาไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริง ให้ศาลเชื่อได้ว่าเป็นคนบ้าหรือจิตฟั่นเฟือนหรือเสพโดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นทำให้มึนเมา ตามที่กฎหมายบัญญัติได้นั้น ผู้กระทำความผิดย่อมต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามความผิดที่ได้ก่อขึ้นครับ
...
กรณีคนบ้ากระทำความผิดนั้น สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจาก ผู้กระทำความผิดและบิดามารดาหรือผู้อนุบาล (ถ้ามี) เนื่องจากกฎหมายต้องการให้บิดามารดาหรือผู้อนุบาลดูแลเอาใจใส่คนวิกลจริตไม่ให้ออกไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดให้บิดามารดาหรือผู้อนุบาลร่วมรับผิดชอบกับผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์ หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวัง ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น
กรณีคนเมากระทำความผิดนั้น สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำผิดได้โดยตรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
นอกจากนี้ ไม่ว่าความเสียหายนั้น จะเกิดจากคนบ้าหรือคนเมา เบื้องต้นผู้เสียหายสามารถร้องขอค่าเสียหาย ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้นะครับ ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาครับ
สำหรับท่านที่มีคำถาม ข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย และต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมล์มาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook: ทนายเจมส์ LK