(ภาพจาก ธุรกิจทัวร์ดำน้ำเกาะช้าง)
ต่างชาติแห่ดำน้ำว่ายคู่ ‘ฉลามวาฬ’ จุดจมเรือหลวงช้าง ทะเล จ.ตราด แสดงถึงความสมบูรณ์ของทะเล แถมสร้างรายได้งามให้คนในพื้นที่
เมื่อเวลา 16.40 น. วันที่ 24 ม.ค. 60 นายสัคศิษฏ์ มุ่งการ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.ตราด เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีโครงการ “เรือหลวงช้างรักษ์ทะเลตราด” หรือปะการังเทียมโดยทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. สนับสนุน ที่จมอยู่ใต้ทะเลหลังเกาะคุ้ม แนวหินราบ-หินลูกบาด ปัจจุบันกลายเป็นจุดสนใจของนักดำน้ำจากทั่วทุกสารทิศ เมื่อได้เห็นภาพฉลามวาฬ ใกล้จุดจมเรือหลวงช้าง 712 ทางสื่อและโซเชียล ซึ่งตามปกติแล้ว ในอดีตนักดำน้ำจะไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนัก แต่ในช่วงกลางเดือน ม.ค. เป็นต้นมา พบว่าฉลามวาฬว่ายเข้ามาให้เห็นใกล้ๆ ให้บันทึกภาพได้อย่างชัดเจนเกือบทุกวัน บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลตราด
ด้าน น.ท.สมบัติ บุญเกิดพานิช ที่ปรึกษานายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.ตราด กล่าวว่า หลังโลกโซเชียลโพสต์ภาพพบฉลามวาฬถี่ขึ้น ปัจจุบันจุดที่จมเรือหลวงช้างเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมาก ประกอบกับในช่วงนี้เป็นช่วงของฤดูกาลท่องเที่ยว ชาวต่างชาติที่มาพักผ่อนบนเกาะช้าง พากันไปซื้อแพ็กเกจดำน้ำลึก (SCUBA DIVING) และส่วนใหญ่จะผ่านการฝึกมาแล้วมีความสามารถในการดำน้ำลึก จุดประสงค์หลักเพื่อต้องการถ่ายภาพคู่และว่ายน้ำกับฉลามวาฬแบบใกล้ชิด สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจทัวร์บริการดำน้ำลึกในย่านชุมชนบางเบ้า ไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 บาท/วัน/ราย สำหรับช่วงที่มีการจมเรือหลวงช้าง มีระดับความลึกของน้ำทะเลอยู่ที่ 33-35 เมตร
...
น.ท.สมบัติ กล่าวอีกว่า สำหรับฉลามวาฬ ชาวต่างชาติจะให้ความสนใจมากเป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็นสัตว์ที่มีวงจรชีวิตลึกลับ กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร มีอายุยืนถึง 100 ปี เป็นสัตว์เลือดเย็นที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และหางของฉลามวาฬอยู่ในแนวตั้งฉาก โบกไปมาในแนวซ้าย-ขวา จะต่างจากสัตว์เลือดอุ่นในทะเลที่หางอยู่ในแนวขนาน ซึ่งการพบฉลามวาฬในท้องทะเลตราด นอกจากจะเป็นประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวแล้ว ยังมีความสำคัญในด้านการศึกษาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของฉลามวาฬอีกด้วย จึงถือได้ว่าจุดจมเรือหลวงช้าง เป็นแหล่งดำน้ำลึกที่สำคัญของท้องทะเลตราด และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้อีกแห่งหนึ่ง.