ม.สยาม-สสส.-เขตภาษีเจริญ ถอดบทเรียน "การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ นำร่องเขตภาษีเจริญ" โชว์ผลงานเชิงประจักษ์ เปลี่ยนพื้นที่รกร้าง ไร้ประโยชน์กว่า 12,204 ตารางวา เป็นพื้นที่สุขภาวะมูลค่ากว่า 212 ล้านบาท ยกคุณภาพชีวิต สร้างสุขภาพกายใจชาวชุมชนเขตภาษีเจริญ พร้อมขยายสู่ 10 พื้นที่ เป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะในบริบทเมือง

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 60 ที่พื้นที่ใต้สะพานบางขี้แก้ง แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) มหาวิทยาลัยสยาม ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเขตภาษีเจริญ ชุมชน และภาคีเครือข่ายจัดนิทรรศการ "พื้นที่สุขภาวะเขตภาษีเจริญ : แค่คุณปรับ...พื้นที่ก็เปลี่ยน...เป็นพื้นที่สุขภาวะ" นำเสนอบทเรียน ผลงานเชิงประจักษ์ในการจัดการข้อจำกัดของพื้นที่เมือง ให้เปลี่ยนเป็นพื้นที่เอื้อต่อกิจกรรมสุขภาวะ ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะ (Healthy Space) ในบริบทเขตเมือง ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 4 ปี ถือเป็นพื้นที่เขตแรกของกรุงเทพมหานคร

ผศ.ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการ ศวพช. มหาวิทยาลัยสยาม และเลขาธิการมูลนิธิวิจัยเพื่อพัฒนามนุษย์และชุมชน กล่าวว่า การขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเกิดผลเชิงประจักษ์ ทั้งในมิติการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ที่เชื่อว่าพื้นที่เมืองเป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ และพื้นที่หลายๆ พื้นที่ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ อาทิ พื้นที่ใต้สะพานที่รกร้าง เน่าเหม็น การจัดการขยะชุมชนเมือง การปลูกพืชผักสวนครัวในเมือง หรือการจัดการพื้นที่เพื่อการออกกำลังกาย แต่ กว่า 4 ปี ของการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะนำร่องในเขตภาษีเจริญ ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน คนในพื้นที่และการระดมภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่ร่วมหนุนเสริม

...

"สิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ในการจัดการพื้นที่ที่เป็นข้อจำกัดของเมือง ได้รับการพิสูจน์ว่า เพียงแค่คุณปรับ พื้นที่ก็จะเปลี่ยนเป็นพื้นที่สุขภาวะ ในวันนี้ พื้นที่รกร้าง ไร้ประโยชน์ หรือพื้นที่ที่จำกัดของ 53 ชุมชน ในเขตภาษีเจริญได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สุขภาวะแล้วกว่า 12,204 ตารางวา ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับราคาที่ดินตามการประเมินแล้วจะพบว่า พื้นที่เหล่านี้มีมูลค่าถึง 212 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเป็นการปรับกระบวนทัศน์ของคนในพื้นที่ ในการร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหาของชุมชนเอง ปัจจุบันยังขยายพื้นที่ต้นแบบพื้นที่สุขภาวะกว่า 10 พื้นที่ ทั้งชุมชน สถานประกอบการ โรงเรียน แต่ละพื้นที่มีจุดเด่ดที่พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ ถ่ายทอดบทเรียนดีๆ สู่พื้นที่อื่น" ผศ.ดร.กุลธิดา กล่าว

ด้าน ดร.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.กล่าวว่า สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ 8 ประเภท รวม 741 แห่ง ทั่วประเทศ ได้แก่ 1.พื้นที่สุขภาวะย่านเมือง 2.พื้นที่สุขภาวะชุมชน 3.พื้นที่สุขภาวะเส้นทางสัญจร 4.พื้นที่สุขภาวะย่านริมน้ำ 5.พื้นที่สุขภาวะสวนสาธารณะ 6.พื้นที่สุขภาวะศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 7.พื้นที่สุขภาวะองค์กร และ 8.ชุมชนเมืองจักรยาน พร้อมกับขยายเพิ่มพื้นที่ใหม่ๆ ขึ้นทุกปี รวมถึงเขตภาษีเจริญที่สสส.ให้การสนับสนุนพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อยกเป็นต้นแบบพื้นที่สุขภาวะชุมชนในเขตกทม. ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพเพิ่มกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกาย ด้านอาหารและสิ่งแวดล้อม ปรับภูมิทัศน์ โดยมีสถาบันการศึกษา ศวพช. ม.สยาม เป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือจากผู้คนในพื้นที่ชุมชน หน่วยงานทุกภาคส่วน ช่วยตอบโจทย์ ที่นำไปสู่การจัดการข้อจำกัดเชิงพื้นที่ ได้อย่างชัดเจน ทั้งช่วยให้คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น โดยสามารถเปลี่ยนพื้นที่รกร้างอันตรายเป็นแปลงผัก พื้นที่ออกกำลังกายของคนในชุมชน และยังสามารถยกระดับเป็นนโยบายของเขตภาษีเจริญในการพัฒนาพื้นที่ซึ่งสสส.คาดหวังว่าจะขยายผลไปสู่พื้นที่เขตอื่นๆ ของ กทม. ซึ่งหากได้รับการหนุนเสริมจากภาคนโยบายของ กทม. ชุมชนและทุกฝ่ายอย่างบูรณาการ จะนำมาซึ่งพลังในการเปลี่ยนแปลงสร้างสุขภาวะที่ดีของคนเมืองกรุงต่อไป

ขณะที่ ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า นับจากมหาวิทยาลัยสยาม ได้รับโอกาสในการเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดย ศวพช.และการสนับสนุนจาก สสส. มหาวิทยาลัยได้จัดให้เป็นนโยบายที่นักศึกษาจะต้องร่วมเรียนรู้การเข้าถึง และรับใช้สังคมและชุมชนด้วย โดยใช้พื้นที่ชุมชนเขตภาษีเจริญ เป็นห้องเรียนทางสังคม ด้วยมุ่งหวังในการสร้างนักศึกษาที่มิใช่เรียนรู้วิชาในห้องเรียน แต่ต้องเรียนรู้ศาสตร์จากสังคม จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตในปัจจุบันได้ด้วยความรู้สึก จิตสำนึกที่ต้องเกื้อกูลสังคม และคาดว่าจะขยายต่อไปในพื้นที่อื่นๆ ของ กทม.

ด้าน นายสมชีพ ไชยเขตต์ ผู้อำนวยการเขตภาษีเจริญ กล่าวว่า นับตั้งแต่ ศวพช. ม.สยาม สสส. ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเขตภาษีเจริญให้เป็นพื้นที่สุขภาวะนำร่องเขตแรกของ กทม. เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายทั้งเชิงโครงสร้าง กระบวนการทำงานที่ชุมชน ภาคีเข้ามามีส่วนร่วม ขณะนี้การดำเนินงานดังกล่าวได้เคลื่อนเป็นนโยบายของเขตภาษีเจริญแล้ว เกิดการจัดตั้งคณะกรรมการ และคณะทำงานพัฒนาพื้นที่สุขภาวะขึ้น 7 คณะ ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ เอกชน ชุมชน และนักวิชาการ ขับเคลื่อนงานขยายวงกว้างขึ้น และภาษีเจริญพร้อมเป็นพื้นที่ที่จะร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานกับพี่น้องเขตอื่นๆ ของกรุงเทพมหานครต่อไป เนื่องด้วย ขณะนี้ มีนโยบายของกรุงเทพฯ ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ชุมชนมีสุขภาวะดีด้วย