สวัสดีปีใหม่ ปีไก่ 2560 สัปดาห์นี้ คู่มือคนเมืองไทยรัฐออนไลน์ ขอพาไปเที่ยวชม ไหว้พระ ถ่ายรูปในสถานที่งดงามอลังการ ทั้งยังเป็นแหล่งความรู้ทางพระพุทธศาสนา กับแลนด์มาร์คแห่งใหม่จังหวัดกาญจนบุรี 'พุทธอุทยานพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์' ซึ่งได้เปิดให้เข้าชมกันสักระยะหนึ่งแล้ว แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักกันมากเท่าไรนัก วันนี้เราพาไปสแกนสิ่งน่าสนใจในสถานที่แห่งนี้ให้ได้ชมกัน...
เรื่องเล่า กำเนิดพระพุทธรูปปางขอฝน 'พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์'
เมื่อครั้นสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการก่อสร้าง วัดทิพย์สุคนธาราม ณ ตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ให้การอุปถัมภ์การดำเนินการสร้างวัดและเสนาสนะต่างๆ จึงทำให้เห็นสภาพแวดล้อมรอบๆ บริเวณดังกล่าวมีความแห้งแล้ง ชาวบ้านประสบปัญหาด้านการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ในการเพาะปลูก จึงไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้ กอปรกับพุทธศตวรรษที่ 26 นี้ (พ.ศ. 2501 - พ.ศ. 2600) นับเป็นปี “พุทธชยันตี” ครบรอบวันถือกำเนิดของพระพุทธศาสนา ซึ่งเจริญรุ่งเรืองมาเป็นเวลากว่า 2,600 ปี
...
อีกทั้งช่วงเวลาในขณะนั้นได้เกิดเหตุพระพุทธรูปศิลปะคันธาระอายุเก่าแก่ที่สลักขึ้นด้วยจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนาของกษัตริย์แห่งราชวงศ์คุปตะ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 10 บนหน้าผาสูง 2,500 เมตร ในหุบเขาบามิยัน อันเป็นฐานที่มั่นของพระพุทธศาสนามาเป็นเวลากว่าสองพันปีได้ถูกทำลายลง เมื่อพุทธศักราช 2544 สมเด็จพระมหาธีราจารย์ จึงเกิดแรงบันดาลใจสำคัญในการดำริสร้าง พระพุทธรูปใหญ่ เป็นสิ่งแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน ปรารถนาอันแรงกล้าสืบสานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป ประกอบกับกำหนดให้เป็นปางคันธารราฐ หรือ ปางขอฝน เนื่องด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือราษฎรบริเวณนั้น เพราะพุทธานุภาพของพระพุทธรูป จะช่วยดลบันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลได้
สวยงาม พระพุทธรูปองค์ใหญ่ สูง 32 เมตร บนเนื้อที่กว่า 320 ไร่
สมเด็จพระมหาธีราจารย์จึงมีดำริให้สร้างพระพุทธรูปปางขอฝน องค์ใหญ่ สูง 32 เมตร หมายถึงอาการแห่งกายครบบริบูรณ์ทั้ง 32 ประการของมนุษย์ สร้างอยู่บนเนื้อที่กว่า 320 ไร่ ณ วัดทิพย์สุคนธาราม ตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกความรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนาที่สืบเนื่องมาแต่อดีต พร้อมทั้งเป็นศูนย์รวมจิตใจ และบำรุงขวัญพุทธศาสนิกชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้ให้ยั่งยืนสืบไป โดยท่านได้ให้นามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์” อันเป็นนามที่มีความหมาย 3 ประการ คือ
1. เป็นพระพุทธรูปซึ่งเป็นที่พึ่งของประชาชนชาวไทยและชาวโลก
2. เป็นพระพุทธรูปซึ่งเป็นที่พึ่งของสามโลก ได้แก่ โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และยมโลก
3. เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง พระพุทธรูปแห่งบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน
...
พระพุทธเมตตาฯ ใช้เวลาก่อสร้างถึง 3 ปี
ปฐมฤกษ์แห่งการก่อสร้าง คณะกรรมการ โดยมี นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธาน (ฝ่ายฆราวาส) ได้ดำเนินการจัดพิธีบวงสรวงการก่อสร้าง ณ บริเวณอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2554 และเมื่อโครงการได้ดำเนินไประยะหนึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเททองหล่อชิ้นส่วนสำคัญของพระพุทธเมตตาประชาไทยฯ (พระหัตถ์ขวา ซึ่งเป็นกิริยาสำคัญของพระพุทธรูปปางขอฝน คือ กิริยากวักเรียกฝน) ณ วัดชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2557
จากนั้นโครงการฯ ได้ดำเนินการตามแผนอย่างเรียบร้อย โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนด้วยแรงศรัทธาจากทุกภาคส่วนที่มีความจงรักภักดีและศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาจนแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2557 รวมระยะเวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น 3 ปี ในการนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเป็นประธานในพิธีสมโภชพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ณ วัดทิพย์สุคนธาราม จังหวัดกาญจนบุรี ในวันที่ 23 ธันวาคม 2558
สถานที่น่าสนใจในพุทธอุทยาน
จุดแรก : องค์พระพุทธเมตตาฯ และลานประทักษิณ
...
เมื่อได้เห็นกับตา หลายคนต้องรู้สึกเหมือนกันว่างดงามเหลือเกิน องค์พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ประดิษฐาน ณ ลานประทักษิณ พื้นที่ดังกล่าวเป็นบริเวณเกือบกึ่งหน้าภูเขา มีรูปทรงเฉพาะเป็นสามเหลี่ยมตั้งอยู่กลางที่ราบ ทำให้องค์พระมีความโดดเด่น สง่างาม โดยมีทางเดินนำสายตามุ่งหน้าสู่องค์พระ ซึ่งบริเวณทางเดินเข้าสู่องค์พระเป็นพื้นที่ยกระดับสูงขึ้นไปทีละน้อย เปรียบเสมือนการเดินขึ้นไปนมัสการองค์พระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งอยู่บนที่สูง ซึ่งภูเขาที่เขียวชอุ่มด้านหลังองค์พระเป็นดังฉากหลังที่กันสายตา ส่งเสริมให้องค์พระเด่นชัดยิ่งขึ้น
...
นอกจากนั้นภูมิทัศน์โดยรอบไม่มีอาคารหรือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ มาบดบังมุมมองทัศนียภาพและองค์พระ บริเวณด้านหลังข้างองค์พระมียักษ์ 2 ตนเป็นผู้คอยปกป้องพิทักษ์ องค์พระพุทธรูป ยักษ์ตนที่สถิตอยู่ด้านซ้ายองค์พระ มีนามว่า “ไวยเวทย์” สีแดงฉานแสงพระอาทิตย์ อาวุธพิเศษประจำกาย คือ เมฆพัท พระอิศวรประทานให้เป็นหอก ที่มีฤทธิ์เดชเกรียงไกร สามารถพุ่งไปทำลายศัตรูให้ราบคาบในชั่วพริบตา ยักษ์ตนที่สถิตอยู่ด้านขวาองค์พระ มีนามว่า “สุบรรณคีรี” เป็นแม่ทัพยักษ์ที่มีความยิ่งใหญ่ กายเป็นสีเขียว มีรูปร่างกำยำและมีขนาดร่างกายใหญ่กว่ายักษ์ตนอื่น
จุดที่ 2 : อาคารนิทรรศการ อนุสรณ์แห่งการตื่นรู้
จุดนี้บอกเลยว่าได้รับความรู้มากมาย เป็นสถานที่เก็บรวบรวมข้อมูลในการดำเนินโครงการจัดสร้างพระพุทธเมตตาฯ ไว้ทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นสถานที่ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ก่อกำเนิด การเผยแผ่ และพัฒนาการด้านการสืบทอดพระพุทธศาสนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยความเชื่อที่ว่า หากพุทธศาสนิกชนเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาได้มากขึ้นเท่าใด การสืบทอดพระพุทธศาสนาจะก้าวหน้ายืนยาวและหยั่งรากลึกลงไปถึงแก่นได้มากขึ้นเท่านั้น โดยการจัดแสดงนิทรรศการในอาคารนั้น แบ่งเป็น 4 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 จัดแสดงประวัติความเป็นมาของโครงการฯ ตั้งแต่การดำริสร้าง ความท้าทายทางวิศวกรรม รวมทั้งความสัมพันธ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์กับพระพุทธศาสนา
ส่วนที่ 2 จัดแสดงนิทรรศการเรื่องของการเดินทางของพระพุทธศาสนาจากดินแดนชมพูทวีปสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ การหยั่งรากของพระพุทธศาสนาลงบนดินแดน สุวรรณภูมิจวบจนปัจจุบัน
ส่วนที่ 3 จัดแสดงสัญลักษณ์และเครื่องหมายแห่งการระลึกถึงพระพุทธศาสนา ตลอดจนหลักปรัชญาและคติคำสอน เพื่อการเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา
ส่วนที่ 4 จัดแสดงเรื่องราวของการสืบทอดพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนจากทั่วโลกที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
จุดที่ 3 : วัดทิพย์สุคนธาราม
วัดทิพย์สุคนธารามจัดสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2547 ด้วยจิตศรัทธาเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนาของนางฉันท์ทิพย์ กลิ่นโสภณ และครอบครัว โดยได้ถวายที่ดิน 339 ไร่ ที่ตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วยทุนทรัพย์เป็นทุนในการสร้างวัด เพื่อประโยชน์ทางศาสนาของภิกษุสงฆ์และประชาชน โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม รับอุปถัมภ์การสร้างวัดมาตั้งแต่ต้น และได้ตั้งนามวัดว่า “วัดทิพย์สุคนธาราม” และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2556
จุดที่ 4 : สวนป่าพุทธอุทยาน
สงบร่มเย็นเป็นที่สุดกับสวนป่าพุทธอุทยาน ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 170 ไร่ โดยออกแบบให้มีบรรยากาศพุทธอุทยาน ด้วยความมุ่งหมายที่จะสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น เพื่อความชุ่มชื้นของพื้นที่ มีความโดดเด่นในการใช้พรรณไม้นานาชนิดรายรอบพื้นที่ โดยการคัดเลือกพรรณไม้ที่มุ่งเน้นไม้ที่มีความหมายตามพุทธประวัติเป็นสำคัญ เป็นพรรณไม้ไทยพันธุ์หายาก พรรณไม้ในพุทธประวัติอันเกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องราวการประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน สมเป็นสวนแห่งธรรม นอกจากนี้ภายในสวนยังมีการจัดนิทรรศการกลางแจ้ง จัดแสดงเป็นสัญลักษณ์และเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ใน พุทธประวัติ ตั้งแต่ประสูติจนถึงการเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 4 เหตุการณ์สำคัญ คือ
1. กำเนิดมหาโพธิ การประสูติของพระพุทธเจ้าและการเสด็จออกผนวช
2. ค้นพบการตื่นรู้ การบำเพ็ญทุกรกิริยา และการตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
3. จากหน่อแรก เจริญงอกงามแผ่ขยายร่มเงา การแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร และการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
4. มหาโพธิสิ้นอายุขัย การเสด็จดับขันธปรินิพพาน
จุดที่ 5 : อ่างเก็บน้ำในพระบรมราชินูปถัมภ์
สถานที่สุดท้ายเราถือว่าเป็นของแถมสำหรับคนชอบถ่ายรูป เป็นสถานที่เก็บกักน้ำเพื่อเอาไปใช้สอยต่างๆ ภายในอุทยาน แต่แอบบอกอีกว่าถือเป็นจุดชมวิวชั้นดีเลยก็ว่าได้ พักผ่อนหย่อนใจชิลๆ ถ่ายรูปเก๋ๆ ก่อนขับรถกลับบ้าน
พุทธอุทยานพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และสักการะองค์พระพุทธเมตตาฯ
เปิดเข้าสักการะทุกวันฟรี ตั้งแต่เวลา 06.00 – 19.00 น.
อาคารนิทรรศการอนุสรณ์แห่งการตื่นรู้ เปิดเข้าเยี่ยมชม วันอังคาร-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 16.00 น.