"บิ๊กป้อม" เผย ครม.ให้ "ก.คมนาคม" รับผิดชอบ ปมอุบัติเหตุรถตู้ชนกระบะ ที่ บ้านบึง ชลบุรี จนมีผู้เสียชีวิต 25 ราย ขณะที่ ครม.ไฟเขียว พ.ร.บ.จราจรทางบก ลั่นต้องเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม

เมื่อวันที่ 4 ม.ค.60 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีอุบัติเหตุรถตู้โดยสารพุ่งชนเสยกับรถปิกอัพจนเกิดไฟลุกไหม้ ที่ จ.ชลบุรี จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 25 ราย ว่า ทำไงได้ เพราะผู้ขับรถตู้เป็นเจ้าของรถเอง ขับมาหลายครั้งและอาจจะอ่อนเพลีย ซึ่งจังหวะมันพอดีกัน ทั้งที่วิ่งมาคนละทางจนทำให้เกิดเหตุ แต่รถทั้ง 2 คัน บรรทุกโดยสารมาเยอะ ก็ต้องเข้มงวดต่อไป เพราะรถมีกี่ที่นั่ง ก็ต้องนั่งตามนั้น ขณะที่รถปิกอัพก็เช่นเดียวกัน กระบะท้ายนั่งไม่ได้เลยเพราะใช้สำหรับบรรทุกสิ่งของ ไม่ใช่นำคนไปนั่ง หากเกิดอุบัติเหตุ โอกาสที่จะรอดมันน้อย ต่อไปคงต้องเข้มงวดมากขึ้น แต่จริงๆ แล้วเราเข้มงวดเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองที่ทำงานร่วมกัน

"ในที่ประชุม ครม.มีการหารือร่วมกัน ที่จะหารถที่ทำให้เกิดความปลอดภัยในระยะสั้น ถ้าจะเป็นรถมินิบัสที่วิ่งในระยะทางสั้นๆ ได้หรือไม่ เช่น กรุงเทพฯ-จันทบุรี หรือกรุงเทพฯ–ลพบุรี ก็มอบให้กระทรวงคมนาคมไปคิดและดำเนินการ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และเกิดการบริการที่ดีต่อประชาชน สำหรับระยะทางสั้นๆ ส่วนใหญ่ประชาชนต้องการความรวดเร็ว ไปถึงทีเดียว ถ้าเป็นรถ บขส.ก็ต้องแวะไปจอดตามทาง" พล.อ.ประวิตร กล่าว

ขณะที่ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาและอนุมัติกฎหมาย 3 ฉบับ ฉบับแรก คือ ร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก ซึ่งนายกฯ ให้ความสำคัญมาก โดยนายกฯ ระบุว่า บางส่วนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยโดยเฉพาะขับรถขณะเมาสุราและการคาดเข็มขัดนิรภัย และการบรรทุกน้ำหนักเกินที่นั่งหรือเกินกว่าที่กฎหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เข้มงวดการให้ใบขับขี่รถ นอกจากนี้ ยังพิจารณาถึงการไม่ชำระค่าปรับใบสั่งแล้วไปต่อทะเบียนป้ายวงกลมได้นั้น เป็นการขัดต่อกฎหมาย เพราะการต่อทะเบียนป้ายวงกลมนี้เป็นการเสียภาษี ดังนั้นก็จะเข้มงวดมากขึ้น จะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังมากขึ้น ในที่ประชุมได้มีการหยิบยกอุบัติเหตุรถตู้ชนกับรถกระบะ ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 25 ราย นายกฯ เป็นห่วงมาก และกำชับให้เอาจริงเอาจัง เพราะที่ผ่านมาเราออกกฎหมายอะไรไป ถ้าไม่ได้บังคับใช้อย่างจริงจังก็จะมีปัญหา ดังนั้นต้องมีการปรับทั้งระบบส่วนกฎหมายฉบับที่ 2 คือ กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งจะมีการปรับปรุงกฎหมายหลายๆ เรื่อง มีการแยกกลุ่มคนพิการ หรือนักศึกษาให้ชัดเจน และฉบับที่ 3 คือ ร่าง พ.ร.บ.สมุนไพร ซึ่งจะมีการส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรให้มากขึ้น

...