อนาคตปีระกา 2560 สินค้าเกษตร พืชไร่ ยากจะมีอนาคต หากเกษตรกรไม่รู้จักปรับตัว พืชสวน ยังพอไปได้ถ้ารู้จักทำสินค้าให้ออกมาขายนอกฤดู...วันนี้มาดูทิศทาง ปศุสัตว์และประมง ปีนี้จะตีปีกได้ขนาดไหน

ไก่เนื้อ...เอ้กอีเอ้ก

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย วิเคราะห์ อุตสาหกรรมไก่เนื้อปีนี้มีแนวโน้มสดใส ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ ได้แรงสนับสนุนฐานลูกค้าเดิมกว่า 20 ประเทศ ที่มีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง ประกอบกับเกาหลีใต้เริ่มอ้าแขนรับไก่ไทย ทำให้การส่งออกไก่สดขยายตัวมากขึ้น

ภาพรวมปี 2560 คาดว่าน่าจะส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ได้ถึง 750,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 96,000 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2559 ที่ส่งออกไปได้ 720,000 ตัน มูลค่า 92,000 ล้านบาท

ไก่งวง...มาแรง

นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ มองว่า ไก่งวง ที่มีการส่งเสริมให้เกษตรกรในภาคอีสานเลี้ยงเป็นอาชีพหลัก-อาชีพเสริม วันนี้ตลาดทั้งไทยและเพื่อนบ้านมีแนวโน้มนิยมบริโภคมากขึ้น ไม่ใช่แค่บริโภคช่วงเทศกาล แต่มีการซื้อขายตลอดทั้งปี ทั้งห้างโมเดิร์นเทรดในบ้านเรา และแถบชายแดนฝั่ง สปป.ลาว ถือเป็นตลาดที่ใหญ่สุด ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านเรายังไม่นิยมเลี้ยง ฉะนั้นไก่งวงจึงเป็นสัตว์ปีกที่อนาคตน่าจับตา

ไก่ไข่...ไร้แรงตีปีก

...

นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ วิเคราะห์สถานการณ์ การเลี้ยงไก่ไข่มีปัญหามาตั้งแต่ต้นปี 2559 ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนเดี๋ยวหนาว เข้าร้อน และแล้ง มีผลทำให้ไก่ออกไข่น้อย ราคาดี เกษตรกรจึงขยายการเลี้ยงมากขึ้น และผู้เลี้ยงบางส่วนได้ยืดอายุไก่ไข่ยืนกรง เพื่อหวังขายไข่เพิ่ม แต่พฤติกรรมการบริโภคกลับลดลง ทำให้ไข่ไก่เหลือสะสมมาก ราคาคงจะร่วงมาถึงปีนี้

หมู...แย่กว่าเก่า

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ วิเคราะห์ ปีที่ผ่านมานับเป็นขาลงของวงการคนเลี้ยงหมู เพราะผลผลิตโดยรวมประสบปัญหาล้นตลาด มีหมูขุนออกสู่ตลาดวันละ 4.6 หมื่นตัว ขณะที่การบริโภคอยู่ที่ 3.8-4 หมื่นตัว ซ้ำร้ายคนบริโภคเนื้อหมู ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ได้รับผลกระทบจากราคาพืชผลตกต่ำ เลยส่งผลให้ลดปริมาณการบริโภคเนื้อหมูลง...ปีนี้สถานการณ์หมูคงไม่ต่างจากปีที่แล้ว ดีไม่ดีราคาจะต่ำลงไปอีก

โคนม...รอรัฐช่วยดัน

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) วิเคราะห์ ขณะนี้ความต้องการบริโภคน้ำนมทั้งประเทศอยู่ที่ 1,572,000 ตันต่อปี แต่กำลังการผลิตทำได้เพียง 1,022,000 ตัน ผลิตได้แค่ 35% ไม่เพียงพอกับความ ต้องการ จึงต้องนำเข้านมผงขาดมันเนยมาทดแทน

ภาวะเช่นนี้ดูเหมือนอาชีพเลี้ยงโคนมน่าจะสดใส แต่จะดีขึ้นแค่ไหนขึ้นอยู่กับรัฐจะบริหารจัดการน้ำนมดิบในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการฟาร์ม ลดต้นทุนการผลิตได้ขนาดไหน เพราะวันนี้ราคาต้นทุนน้ำนมดิบอยู่ที่ กก.ละ 16 บาท ราคารับซื้อหน้าโรงงาน กก.ละ 17-18 บาท ในขณะที่ราคานมผงนำเข้าจากต่างประเทศต้นทุนเพียง 13 บาท

กุ้ง...ดี๊ด๊า

ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย วิเคราะห์ สถานการณ์กุ้งไทยปีนี้เริ่มกลับมามีลู่ทางสดใสอีกครั้ง หลังผ่านพ้นวิกฤติโรคอีเอ็มเอสมาได้ ผลผลิตปีที่แล้ว 3 แสนตัน ในปี 2560 คาดจะเพิ่มขึ้นมาเป็นระดับ 3.5 แสนตัน ส่วนเรื่องตลาดไม่ต้องกังวล ปีนี้จะมุ่งไปยังตลาดจีน ทดแทนตลาดอียู

เพราะคนจีนชอบบริโภคกุ้งมาก เห็นได้จากปีที่ผ่านมาจีนนำเข้ากุ้งเพิ่มขึ้นถึง 73% เพราะไม่สามารถขยายพื้นที่เพาะเลี้ยงได้ เนื่องจากระบบนิเวศไม่เอื้ออำนวย...แต่การส่งออกจะสดใสได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะสามารถเจรจาให้จีนปลดล็อกการเก็บภาษี 13% ในขณะที่เวียดนามไม่ต้องจ่าย

...

ปลาน้ำจืด...มีลุ้นไม่เท่าไร

นายวรานนท์ คงปฏิมากร ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด ตลาดไท วิเคราะห์สถานการณ์ ราคาสินค้าสัตว์น้ำจืด ภาพโดยรวมปีนี้

คงไม่แตกต่างจากปี 2559 ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ผลผลิตออกมาน้อย ดันให้ราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะปลาหลักๆ เช่น ปลาช่อน ปลากด ปลากดคัง ปลาสวาย และปลาเนื้ออ่อน ราคาตลาดสูงขึ้นถึง 50-100% ส่วนปลานิล ปลาทับทิม ราคาสูงขึ้นอีก 5-10%

แต่ปี 2560 ราคาไม่น่าจะปรับขึ้นได้มากนัก เพราะถ้าแพงขึ้น ผู้บริโภคจะหันไปซื้อ หมู ไก่ มาบริโภคแทน

ส่วนปลาทูน่าลงทุนเลี้ยง...ปลาตะเพียน เนื่องจากปีที่แล้วปริมาณของปลาตะเพียนไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพราะภัยแล้ง และการเลี้ยงปลาตะเพียนต้องอาศัยแหล่งน้ำสะอาด กอปรกับภาคเหนือ ภาคอีสาน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านมีความต้องการบริโภคปลาตะเพียนสูง

ปลาช่อน แนวโน้มดีมาตั้งแต่ปี 2558 ด้วยคุณสมบัติให้เนื้อดี แน่น และรสชาติถูกปากผู้บริโภค สามารถนำมาต่อยอดแปรรูปได้หลากหลายเมนู มีตลาดรองรับ แต่ปัจจุบันคนเลี้ยงน้อยจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการ.

...


ทีมข่าวเกษตร