แนวปะการังสีน้ำเงินเกาะราชา ภูเก็ต พังเสียหายหลังครูสอนดำน้ำพานักท่องเที่ยวย่ำจนราบเป็นหน้ากลอง แถมให้อาหารปลาใต้น้ำ ระบุเป็นการดำน้ำแบบคอร์สรวบรัดราคาถูก ไม่มีจิตสำนึก ส่งผลสถานการณ์ปะการังหลายแห่งวิกฤติ...

จากกรณีเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.ที่ผ่านมา และล่าสุดวันที่ 2 ม.ค.60 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ไพทูล แพนชัยภูมิ ได้โพสต์ข้อความพร้อมวิดีโอจำนวน 2 คลิป เป็นภาพการสอนดำน้ำของครูสอนดำน้ำ 1 คน และผู้เรียนดำน้ำอีก 2 คนกำลังดำน้ำอยู่ในแนวปะการังและใกล้แท่งปะการังเทียม โดยระบุว่า

"เรามาถึงจุดนี้แล้วประเทศไทย การประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำลึก (SCUBA) ที่ในอดีตได้ชื่อว่าเป็นการท่องเที่ยวที่อนุรักษ์ธรรมชาติมากที่สุด วันนี้ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เมื่อผู้ประกอบการร้านดำน้ำ ครูสอนดำน้ำ ไดฟ์มาสเตอร์ ทั้งไทยและชาวต่างชาติ บางคนที่ขาดจิตสำนึก ไร้ความรับผิดชอบ ขายทัวร์แบบนี้ try-dive นี้คือความหายนะของแนวปะการังที่ไม่ต่างกับพวกดำน้ำตื้น ที่ไม่มีกฎ กติกา กฎหมายควบคุม ใครอยากเปิดร้าน อยากทำจดทะเบียนแล้วก็ทำได้ นี้คือ ภาพหลักฐานที่ชัดเจนเจอด้วยตัวเอง ใครที่ชอบต่อต้านในที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับการออกกฎของกรม ทช.และว่าตัวเองไม่ทำลาย เห็นภาพนี้ท่านคิดยังไงครับ มาช่วยกันครับท่านที่เชียร์แขกขายทัวร์และพานักท่องเที่ยวทำแบบนี้เลิกซะ และมาช่วยกันครับ ให้เวลาท่านมานานแล้วท่านได้อะไรจากธรรมชาติมากพอแล้ว" และอีก 1 โพสต์ ระบุในทำนองเดียวกัน

ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้สอบถามจากผู้โพสต์ ระบุว่า คลิปดังกล่าวถ่ายไว้เมื่อวันที่ 25-26 ธ.ค.ที่ผ่านมาขณะลงดำน้ำสำรวจและปลูกปะการังในแนวปะการังที่อ่าวพลับพลา เกาะราชาใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งตนเองได้พบครูสอนดำน้ำน่าจะเป็นชาวจีนหรือญี่ปุ่น กำลังพาผู้เรียนสองคนลงไปในแนวปะการัง ซึ่งเป็นพื้นที่วางทุ่นปะการังเทียม สังเกตเห็นว่าบางครั้งได้เดินย่ำไปบนปะการังตามธรรมชาติจนเสียหาย ตนจึงพยายามว่ายน้ำตามถ่ายเพื่อให้เห็นภาพ เมื่อขึ้นไปบนผิวน้ำพบว่า เรือที่พากลุ่มดำน้ำ รีบมารับตัวไปอย่างรวดเร็ว

...

นายไพทูล กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงครั้งแรกแต่เกิดขึ้นตลอดทุกวัน ในหลายพื้นที่ เช่น เกาะราชา เกาะไม้ท่อน เกาะไข่ เกาะพีพี เนื่องจากไม่มีกฎหมายที่ควบคุมธุรกิจดำน้ำ หรือผู้คอยกำกับดูแลตรวจตราเมื่อกลุ่มดำน้ำไปใช้พื้นที่ใต้ทะเล และปัจจุบันมีครูสอนดำน้ำซึ่งไม่ได้เป็นระดับไดฟ์มาสเตอร์จากหลายชาติเกิดขึ้นจำนวนมาก รวมถึงครูสอนดำน้ำชาวไทย ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีสามัญสำนึก เมื่อมาสอนก็จะคิดแต่ประโยชน์ของตัวเอง ไม่ค่อยสนใจการอนุรักษ์ทรัพยากรทำให้เกิดความเสียหาย โดยเห็นได้จากซากปะการังที่หักเสียหาย ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์ได้ช่วยกันเก็บและนำมาเพาะใหม่บนปะการังเทียมนั้นมีเพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้จะมีกฎหมายบังคับใช้ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองฯปะการัง แต่บังคับใช้ได้หลังเกิดความเสียหาย เมื่อถูกดำเนินคดี ผู้กระทำผิดมักจะอ้างไม่มีเจตนา ทำให้เป็นช่องว่าง จึงควรมีมาตรการเกี่ยวกับการดำน้ำบังคับใช้ เพื่อคุ้มครองป้องกันปะการังและทรัพยากรอันเกิดความเสียหายจากการดำน้ำ

ล่าสุด วันที่ 2 ม.ค.60 นายไพทูลได้เปิดเผยคลิปภาพและภาพนิ่งอีก 1 ชุด ซึ่งเป็นภาพของครูสอนดำน้ำและผู้เรียนกลุ่มเดิมขณะกำลังดำน้ำอยู่ที่อ่าวพลับพลา เกาะราชาใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งนายไพทูลกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปะการังที่เสียหายจากการถูกตีนกบ พบว่าเฉลี่ย 1 รอยที่ถูกตีนกบของนักดำน้ำ หากเป็นปะการังสีน้ำเงินจะแตกเสียหายนับร้อยชิ้น โดยที่เกาะราชาพบหลายจุด โดยเฉพาะใกล้แนวทุ่นปะการังเทียม ที่ผ่านมากลุ่มอนุรักษ์จะต้องช่วยกันนำไปติดบนปะการังเทียม เพื่อให้งอกและเจริญเติบโตใหม่ ไม่เช่นนั้นจะหล่นตายกับพื้นทราย โดยในการเพาะพันธุ์เศษซากปะการังที่เสียหายนั้น บางชนิดต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนถึงจะงอกและเคลือบติดบนผิวปะการังเทียม บางชนิดต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน หลังจากนั้นจะเจริญเติบโตเคลือบหุ้มบนแท่งปะการังเทียม โดยเฉลี่ยต้องใช้เวลา 3-5 ปีเป็นอย่างน้อย

"การดำน้ำแบบไร้จิตสำนึกทำลายปะการังเกิดขึ้นทุกวัน ไม่รวมถึงปรากฏการณ์ฟอกขาว ทำให้ปะการังสวยงามในทะเลมีแนวโน้มที่จะเสียหายแน่นอนในอนาคต โดยจุดที่พบปะการังเสียหายเยอะที่สุดขณะนี้พบที่เกาะราชา จ.ภูเก็ต และเกาะไข่นอก เกาะไข่ใน จ.พังงา มีความเสียหายมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่า จุดที่มีปะการังน้ำตื้นบางแห่งยังคงมีไกด์นำเที่ยวพานักท่องเที่ยวไปดำน้ำแบบขาดจิตสำนึก ในช่วงที่ไม่มีเจ้าหน้าที่กวดขัน มีการเดินเหยียบปะการัง เช่น ที่เกาะเฮ จ.ภูเก็ต เมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ปล่อยให้นักท่องเที่ยวเดินเหยียบบนปะการังจนได้รับความเสียหาย โดยมีผู้พบเห็นได้ส่งภาพมาให้ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่น่าเกิดขึ้นอย่างยิ่ง

นายไพทูล ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการสังเกตพบว่า ผู้เป็นครูสอนใช้วิธีการการดำน้ำแบบ Try Dive คือ การพานักท่องเที่ยว ซึ่งไม่เคยดำน้ำมาก่อนไม่มีการเรียนรู้ตามหลักสูตร มาสวมใส่ชุดและอุปกรณ์ดำน้ำ และพาลงชมแนวปะการัง โดยครูผู้สอนจะพยุงลอยตัวตามทั้งขึ้นและลง ซึ่งครูเหล่านี้อาจมีทั้งไดฟ์มาสเตอร์ที่มีบัตร หรือผู้ช่วยครูฝึก หรือคนที่มีประสบการณ์ดำน้ำเป็นประจำ แต่เคยจบหลักสูตร หรือไม่มีบัตรก็เป็นไปได้ ทำให้ไม่มีจิตสำนึกและวิธีการที่ถูกต้อง ทำตามใจตนเองและผู้เรียนจนทำให้ปะการังเกิดความเสียหาย ซึ่งการดำแบบ Try Dive มีแตกต่างจากการดำน้ำแบบ Discover Dive คือ การดำน้ำแบบ Discover Dive จะต้องทำการเรียนตามหลักสูตร มีการอบรมความปลอดภัยและการรักษาสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลให้กับนักท่องเที่ยว มีการสอนทักษะการดำน้ำจนผ่านขั้นตอนตามหลักสูตร โดยในการดำนั้นผู้ควบคุมระดับครูฝึก 1 คน จะสามารถพาผู้เรียนไม่เกิน 2 คนลงดำน้ำชมปะการัง แต่การดำน้ำแบบ Discover Dive ผู้ประกอบการจะต้องใช้ต้นทุนสูงและเวลามากขึ้น ทำให้หันมาใช้วิธีแบบ Try Dive มากขึ้น ซึ่งดำน้ำแบบ Try Dive นี้ หากครูผู้สอนไม่ใช่ไดฟ์มาสเตอร์มืออาชีพ จะมีความเสี่ยงอย่างมากเพราะมีการพาผู้เรียนลงครั้งละ 2 คน หากเกิดเหตุต่างๆ ขึ้นใต้น้ำ ครูเพียง 1 คนจะไม่สามารถช่วยเหลือได้ทันเพราะนักท่องเที่ยวไม่เคยมีประสบการณ์ หรือแม้แต่วิธีการพยุงตัวหรือช่วยเหลือตัวเองได้เลย ขณะนี้มีเครือข่ายอาสาสมัครนักดำน้ำชาวไทยและต่างชาติในหลายพื้นที่ได้ช่วยกันเก็บหลักฐานภาพถ่ายและวิดีโอคลิปจำนวนมากส่งมาให้ เนื่องจากทนเห็นพฤติกรรมของกลุ่มคนไร้สำนึกเหล่านี้ไม่ไหว ตนเองจะทยอยนำออกมาเผยแพร่

...

อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องช่วยเข้มงวดกวดขัน จับกุมผู้กระทำผิดตามกำลังความสามารถ เพราะถือเป็นเรื่องยากในการเฝ้าตรวจตราใต้ทะเล แต่ถือว่ามีความจำเป็น ที่สำคัญต้องช่วยกันผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการควบคุมและจัดการกับกลุ่มธุรกิจดำน้ำทั้งน้ำตื้นและน้ำลึกที่แสวงหาประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ช่วยกันป้องกันและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใต้ทะเลฯมากขึ้น ก่อนที่จะถูกทำลายไปทั้งหมด.

(ภาพจากไพทูล แพนชัยภูมิ)